www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

มิ่งขวัญโยน"ออเดอร์จีทูจี"ล่อโรงสีซื้อข้าว

     นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการหารือร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทย ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะให้โรงสีเป็นผู้ส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ โดยรัฐบาลจะจัดสรรออเดอร์ ที่รัฐบาลมีอยู่ให้และให้โรงสีส่งออกข้าวแทนรัฐบาลในลักษณะจีทูจี พร้อมทั้งได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมประชุมกับโรงสีในสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดรายละเอียดการจัดสรรออเดอร์ข้าวต่อไป

     "โรงสีอาสาเป็นเครื่องมือ ที่จะส่งออกข้าวไปต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวที่รัฐบาลมีออเดอร์อยู่ และจะมีการส่งออกแบบจีทูจี โดยราคาข้าวที่ขายแบบจีทูจี จะมี 2 ราคา คือ ราคาที่ขายในตลาดปกติ และราคาที่เป็นราคาที่ช่วยเหลือกัน ซึ่งทางโรงสียินดีขายข้าวทั้ง 2 ราคา แต่ขณะนี้ ยังบอกไม่ได้ว่า จะจัดสรรออเดอร์ข้าวให้กับโรงสีจำนวนเท่าใด และได้ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปร่วมประชุมกับโรงสีในเรื่องนี้โดยด่วน" นายมิ่งขวัญกล่าว

     นายมิ่งขวัญ ยืนยันว่า การให้โรงสีส่งออกข้าวไปต่างประเทศแทนรัฐบาล ไม่ได้เป็นการทำลายกลไกการส่งออกข้าว เพราะผู้ส่งออกรายเดิมต่างก็มีออเดอร์ข้าวในมืออยู่แล้ว และการจัดสรรออเดอร์ข้าวให้โรงสีครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้าวนาปรังที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวในขณะนี้ มีจำนวนมากถึง 4 ล้านตัน หากเก็บเอาไว้ก็ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร ในขณะที่รัฐบาลเองก็มีออเดอร์ข้าวอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก

4 แบงก์ปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องโรงสี

     ส่วนกรณีที่โรงสีขาดสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนนั้น นายมิ่งขวัญ ระบุว่า ธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รับปากที่จะปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับโรงสีในการเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา แต่มีข้อแม้ว่าจะไม่ปล่อยกู้เพิ่มให้โรงสีที่ถูกขึ้นบัญชีดำ หรือมีปัญหาชำระคืนหนี้ธนาคาร

     "ธนาคารทั้ง 4 แห่ง โดยเฉพาะธ.ก.ส.พร้อมที่จะปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้โรงสีที่ต้องการเงินทุนรับซื้อข้าวที่มีราคาสูงกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว ทำให้ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่าเช่นกัน ขณะที่ทางโรงสีต้องการให้ธนาคารเร่งปล่อยกู้ให้โรงสีโดยเร็ว เพราะช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังมากที่สุด เพื่อที่โรงสีจะได้มีเงินไปรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาได้" นายมิ่งขวัญระบุ

     ทั้งนี้ สมาคมมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ประเด็น ได้แก่ 1. โรงสีไม่ต้องการกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา 2. โรงสีมีปัญหาขาดสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน เพราะต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาที่สูงกว่าเดิม 3 เท่าตัว 3. บริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 4-5 รายไม่รับซื้อข้าวจากโรงสี และพยายามกดราคารับซื้อข้าวจากโรงสี และ 4. โรงสีอาสาเป็นผู้ส่งออกข้าวไปต่างประเทศตามออเดอร์ที่รัฐบาลได้มาแบบจีทูจี

โรงสียันไม่ทำลายกลไกตลาด

     นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ จะทำให้ชาวนาได้ขายข้าวเปลือกเจ้า ในราคาที่รัฐบาลกำหนด คือ 1.4 หมื่นบาทต่อตัน และเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวนาได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ในภาวะที่ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น และการให้โรงสีส่งออกข้าวแทนรัฐแบบจีทูจีนั้น ไม่ได้เป็นการทำลายกลไกตลาดข้าว แต่เป็นการส่งเสริมกลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพ และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในประเทศ

     "ตั้งแต่เดือนต้นพ.ค.ที่ผ่านมา กลไกราคาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนักบุญอีกต่อไปแล้ว เราจึงเสนอให้รัฐบาลต้องมีการดำเนินการในเรื่องการส่งออกข้าวใหม่ และจะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น" นายปราโมทย์กล่าว

     นายปราโมทย์ ระบุว่า ตนคาดการณ์ว่าปัจจุบันโรงสีทั่วประเทศ มีข้าวเก็บอยู่ในสต็อกประมาณ 1 ล้านตัน และต้องการให้รัฐบาลจัดสรรออเดอร์ข้าวส่งออกให้ 50% หรือ 5 แสนตัน ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนข้าวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนราคาขายข้าวขาว 5% ไปต่างประเทศแบบจีทูจีนั้น ตนมองว่า ราคาที่เหมาะสมน่าจะมีราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 920 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ณ วันนี้อยู่ที่ 1,050 ดอลลาร์ต่อตัน

     แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสีข้าว กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวได้กดราคารับซื้อข้าวจากโรงสีลงมามาก ทำให้โรงสีต้องกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาอีกทอดหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้น โรงสีก็อยู่ไม่ได้ แม้แต่ราคาที่ผู้ส่งออกเสนอซื้อข้าวจากโรงสีในขณะนี้เอง ก็เป็นราคาที่ทำให้โรงสีต้องขาดทุนแล้ว เนื่องจากโรงสีเอง ก็มีต้นทุนประกอบการที่สูงมากเช่นกัน ทั้งต้นทุนค่าแปรสภาพข้าว ค่าเก็บข้าว และต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงถึงเดือนละ 10 ล้านบาท

ผู้ส่งออกปัดกดราคายันเดินตามกลไกตลาด

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ตลาดข้าวเป็นการค้าเสรีราคา จึงขึ้นกับดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา โรงสีขายข้าวให้ผู้ส่งออกในราคาสูง แต่เมื่อคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงในช่วงนี้ ทำให้ราคาซื้อขายข้าวกับโรงสีลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ โรงสีมีข้าวในสต็อกจำนวนมาก และต้องการปล่อยข้าวออกมา ยิ่งทำให้ราคาซื้อขายข้าวลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของกลไกตลาด

     "ผมไม่อยากตอบโต้ เพราะการค้าข้าวเป็นตลาดเสรี ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด จะไปกดราคากันได้อย่างไร ถ้าดีมานด์มาก ซัพพลายน้อย ราคาก็แพงและในทางกลับกันราคาก็ต้องลดลงมาเป็นธรรมดา" นายชูเกียรติกล่าว

     ในส่วนกรณีที่รัฐจะแบ่งโควตาส่งออก ภายใต้คำสั่งซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้น เข้าใจว่า ขณะนี้ โรงสีมีข้าวในมือมาก ต้องการหาที่ระบายออก ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ที่จะพิจารณาจัดสรรให้เหมาะสม เพราะจะมีโรงสีบางแห่งเท่านั้น ที่มีความสามารถในการส่งออก และโรงสีส่วนใหญ่จะขาดประสบการณ์

เตือนโรงสีขาดประสบการณ์ส่งออก

     "โรงสีมีความสามารถ เรื่องการสีแปรไม่ใช่การส่งออก ทำให้เมื่อมาทำหน้าที่นี้ อาจเกิดปัญหาจนต้องให้ผู้ส่งออกเข้ามารับผิดชอบแทนในที่สุด ซึ่งในอดีตเคยมีกรณีโรงสีรับคำสั่งซื้อภาครัฐ แล้วไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไข ทำให้ผู้ส่งออกต้องเข้ามาทำหน้าที่แทน"

     นอกจากนี้ กรณีที่โรงสีบางแห่งออกมาทำหน้าที่เป็นผู้ส่งออก ล่าสุดเกิดปัญหาไม่ส่งข้าวตามคำสั่งซื้อให้ผู้ซื้อในจีนและฮ่องกง ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ มีหนังสือมาถึงสมาคมเพื่อให้ดูแลปัญหา แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ใช่ผู้ส่งออกในสมาคม แต่เป็นโรงสีที่ทำการส่งออก แต่ไม่มีประสบการณ์ เมื่อเผชิญราคาผันผวน ทำให้ต้องทิ้งคำสั่งซื้อดังกล่าว

ม็อบข้าวเหนียวปิดถนนเชียงใหม

     ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เช้าวานนี้ (23 พ.ค.) มีชาวนาจากหลายอำเภอของ จ.เชียงใหม่ ประมาณ 300 คน นำโดยนายจำรัส ลุงมา แกนนำกลุ่มพัฒนาเกษตรบ้านหนองแสะ ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เดินทางมารวมตัวกันที่ริมถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ช่วงกิโลเมตรที่ 14-15 พร้อมนำรถติดเครื่องขยายเสียง และเต็นท์กางเปิดถนนปราศรัย โดยชาวนาได้ประกาศจุดยืนว่า จะปิดถนนไม่ให้รถผ่าน หากรัฐบาลไม่อนุมัติเงินให้โรงสีมารับซื้อข้าวเปลือกเหนียวนาปรังจากชาวนา ตามที่ได้รับปากไว้ก่อนหน้านี้ ในราคากิโลกรัมละ 7 บาท

     นายจำรัส กล่าวว่า ชาวนาจาก อ.สันทรายอีกไม่ต่ำกว่า 1 พันคนจะทยอยเดินทางเข้ามาสมทบกับผู้ชุมนุมเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมการค้าภายในและรองผู้ว่าราชการเชียงใหม่ ได้รับปากว่า จะใช้เงินจาก ธ.ก.ส.กว่า 5 พันล้านบาท มาปล่อยกู้ให้กับโรงสี เพื่อนำเงินมารับซื้อข้าวเปลือกเหนียวจากชาวนาที่มีความชื้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไปในราคากิโลกรัมละ 7 บาท เพื่อแลกกับให้สลายการชุมนุมที่ศาลากลาง และนัดหมายกับโรงสีเพื่อที่จะกำหนดจุดการรับซื้อในวันนี้ แต่กลับไม่มีโรงสีมารับซื้อ

     นายสมาน ทัดเที่ยง ประธานสมาพันธ์ ประธานเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรลุ่มน้ำกวง หนึ่งในแกนนำชาวนาที่มาประท้วง กล่าวว่า หากรัฐบาลยังไม่มีคำตอบว่า จะหาเงินมาให้ทางโรงสีกู้ เพื่อนำมาซื้อข้าวชาวนาในราคาที่ตกลงกันไว้แล้ว ชาวนาเชียงใหม่จะปักหลักประท้วงอยู่บนถนนแห่งนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ

"สมัคร"รับปากขายข้าวให้ฟิลิปปินส์

     นายอาร์เธอร์ ยัพ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันระหว่างหารือกับประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงมะนิลา ว่า ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังประสบภาวะผลผลิตข้าวในประเทศตกต่ำ ด้วยการจัดส่งข้าวให้ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า ภูมิภาคเอเชียไม่มีปัญหาขาดแคลนข้าวแน่นอน

     อย่างไรก็ตาม ผู้นำทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จะซื้อขายข้าวระหว่างกันในปริมาณเท่าใด โดยฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ปีนี้ได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายข้าวไปแล้ว 1,700,000 ตัน เพื่อชดเชยในส่วนที่เกษตรกรในประเทศผลิตได้น้อยไป 10% และจะซื้อเพิ่มอีก 675,000 ตัน เพื่อเก็บเป็นข้าวสำรองสำหรับช่วงปลายปี

เอฟเอโอชี้ราคาข้าวเริ่มลดลง

     นายอับดุลเรซา อับบาสเซียน จากองค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ระบุว่า ตลาดข้าวโลกเริ่มคลี่คลาย อันเป็นผลมาจากนาข้าวในที่ต่างๆ ทั่วโลก กำลังเริ่มเก็บเกี่ยวจนถึงเดือนต.ค.หรือพ.ย.นี้ เมื่อข้าวมาถึงตลาด ราคาก็จะเริ่มลดลง แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับสูง และว่าเหตุแผ่นดินไหวในจีน กับพายุไซโคลนนาร์กิสถล่มพม่า ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวในปีนี้

     ขณะเดียวกัน สภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดประชุมหารือร่างมติของคิวบาที่แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์อาหารโลกที่เข้าขั้นวิกฤติ โดยเรียกร้องให้ทุกชาติร่วมกันให้หลักประกัน ว่า จะช่วยกันทำให้โลกไม่ขาดอาหาร โดยการร่วมกันประกาศว่าจะทำทุกอย่าง เพื่อให้ประชาชนของตนมีอาหารที่จำเป็นบริโภคอย่างเพียงพอ โดยประชาคมโลกจะต้องช่วยเหลือประเทศที่ยากจนอย่างเต็มที่

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.