นางอภิรดี กล่าวว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ไม่มีการกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออก จึงคาดว่าในปีนี้ไทยจะสามารถส่งข้าวได้ประมาณ 9.5 – 10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,795-6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ ไนจีเรีย เบนิน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหภาพยุโรป อิรัก ไอเวอรีโคสต์ ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 18 กันยายนที่ผ่านมา ไทยส่งข้าวออกไปแล้ว 8.08 ล้านตัน มูลค่า 4,908 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 158,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีปริมาณ 5.79 ล้านตัน มูลค่า 2,177 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 75,578 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.48 ,125.42 และ 110.19 ของปริมาณและมูลค่าตามลำดับ โดยราคาส่งออกเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเป็นตันละ 607 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ตันละ 376 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.61
สำหรับปี 2552 คาดว่าสถานการณ์ข้าวโลกจะไม่มีความผันผวนมากเหมือนในปี 2551 โดยปริมาณข้าวโลกจะลดความตึงตัวลง เนื่องจากผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการข้าวในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นผลจากปริมาณการบริโภคข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น คาดว่าปริมาณการค้าข้าวโลก ในปี 2552 จะอยู่ที่ 28.25 ล้านตัน โดยประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญยังคงเป็นไทย เวียดนาม สหรัฐ ปากีสถาน และอินเดีย ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญคือ ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย สหภาพยุโรป ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิรัก และมาเลเซีย โดยไทยจะยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยจะส่งออกข้าวประมาณ 9-9.5 ล้านตัน มูลค่า 4,950-5,225 ดอลลาร์สหรัฐ
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ในปี 2552 กรมการค้าต่างประเทศ ได้กำหนดแผนการขยายตลาดเชิงรุกโดยจะมุ่งรักษาตลาดเดิม ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานสินค้าและป้องกันการปลอมปนสินค้าข้าวหอมมะลิไทย โดยเฉพาะในตลาดจีน การขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แอฟริกา สหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศกลุ่ม CIS รวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการเจรจาในระดับนโยบายและพบปะหารือกับผู้นำเข้า รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์สินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวไทย โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ทางโภชนาการและการปลอดการตัดแต่งพันธุกรรมผ่านสื่อวงกว้างอย่างต่อเนื่องให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และการขยายตลาดจำเพาะ สำหรับข้าวเพื่อสุขภาพ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้องอนามัย ข้าว GI โดยการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ข้าวดังกล่าวเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยพัฒนาบรรจุภัณฑ์และส่งออกข้าวในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ แทนการส่งออกในลักษณะ Bulk เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวอันจะส่งผลให้ผู้ส่งออกสามารถกำหนดราคาข้าวได้สูงขึ้น
ที่มา สำนักข่าวไทย |