นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยกรณีการปลอมปนข้าวโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2551 ว่า ธ.ก.ส.ได้ตรวจสอบพบเรื่องนี้จริง เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน หลังจากรับแจ้งจากสมาคมโรงสีว่า มีการเตรียมการที่จะนำข้าวเปลือกเหนียวมาปลอมปนกับข้าวเปลือกเจ้า
เนื่องจากราคาข้าวเหนียวในตลาดอยู่ที่ประมาณ 7 พันบาทต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาวอยู่ที่ 1.1-1.2 หมื่นบาทต่อตัน หากนำมาผสมเพื่อเข้าโครงการรับจำนำที่ตันละ 1.4 หมื่นบาท จะมีส่วนต่างทันทีประมาณ 7,000 บาทต่อตัน จึงสั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเข้มงวด ก่อนสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 ก.ย.นี้
คณะกรรมการรับจำนำข้าว และคณะกรรมการสีแปรสภาพข้าว ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเช็คคุณภาพข้าวทันที พบว่า มีข้าวสารเหนียวปลอมปนในข้าวขาว 5% ใน 2 จังหวัด คือ ชัยนาท และ สุพรรณบุรี โดยเฉพาะที่จังหวัดสุพรรณบุรีพบว่ามีโรงสี 3-4 แห่ง มีข้าวสารเหนียวปลอมปน เกินกว่าระเบียบส่งออกข้าวที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.5% ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ตีกลับข้าวคืนให้โรงสีทั้งหมด พร้อมกำชับผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) หากพบว่าร่วมมือกับโรงสีปลอมปนข้าว จะถูกขึ้นบัญชีดำ (แบล็คลิสต์) ทั้งโรงสีและเซอร์เวเยอร์ทันที
ส่วนที่จังหวัดชัยนาทนั้น ตรวจพบที่โรงสีมโนรมย์ โดยมีอัตราปลอมปนระหว่างข้าวสารเหนียวกับข้าวขาวเพียง 1.4% ต่ำกว่าระเบียบส่งออกข้าว ซึ่งเซอร์เวเยอร์อธิบาย ว่า ปกติการแปรสภาพข้าวจะมีข้าวชนิดอื่นปนได้ไม่เกิน 1.5% ของปริมาณข้าวสารที่สีออกมาทั้งหมด จึงไม่ถือเป็นความผิด
อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ได้เข้าไปตรวจกองข้าวเปลือก ที่เกษตรกรนำมาจำนำกับโรงสี ก็พบว่ามีข้าวชนิดอื่นปะปนมาด้วย แต่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 1% ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกร อาจเกิดจากขั้นตอนรถเกี่ยวข้าว จึงได้เตือนโรงสี ว่าต้องตรวจสอบข้าว ก่อนบรรจุข้าวสารลงกระสอบ โดยใช้เครื่องช่วยตรวจ (Soucer) คัดแยกชนิดข้าวก่อนส่งเข้าโกดังกลาง
"ธ.ก.ส.ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบเพียงลำพัง แต่เราทำงานร่วมกัน ทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพราะต้องตรวจสอบร่วมกัน หากปล่อยให้มีการปลอมปนข้าว ธ.ก.ส.จะไม่รับใบประทวนสินค้าทันที "
นายเอ็นนู กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.รับจำนำข้าวเปลือกนาปรังไปทั้งสิ้น 3.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 2.5 ล้านตัน ใช้งบประมาณไปเกือบ 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นสุดโครงการจะรับจำนำข้าวทั้งสิ้น 4.2 ล้านตัน จากเป้าหมายใหม่ที่เพิ่มเป็น 4.5 ล้านตัน โดยข้าวที่แปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วมีจำนวน 3-4 ล้านกระสอบหรือประมาณ 4 แสนตัน ยังไม่สามารถระบายออกไปได้ ซึ่งสต็อกในปริมาณมาก เมื่อรวมกับสต็อกเดิมและปริมาณข้าวนาปี ในช่วงปลายปีจะมีผลให้ราคาข้าวในตลาดตกต่ำลงได้
แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่สามารถเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้กับประเทศใดได้ เนื่องจากอำนาจยังอยู่ที่คณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แม้นายสมัคร สุนทรเวช จะสิ้นสภาพนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังไม่มีการยุบคำสั่งแต่งตั้งกรรมการดังกล่าว โดยครม.ยังไม่มีมติออกมา หากดำเนินการไปเกรงว่าจะขัดกับกฎหมายและมติครม. ส่งผลให้รัฐต้องแบกสต็อกเพิ่มขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |