นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นหลายประเทศในปี 2551 ส่งผลให้ผลผลิตข้าวในต่างประเทศลดลง ซึ่งทำให้ราคาข้าวในและต่างประเทศมีความผันผวนมาก โดยใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวในประเทศทุกชนิดสูงขึ้นเฉลี่ยตันละ 400 บาท ส่วนราคาข้าวในตลาดโลกทุกชนิดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยตันละ 100 ดอลลาร์ ซึ่งเข้าใจได้ว่ากระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว 2 ประเด็น คือ 1. ราคาข้าวที่สูงจะกระทบค่าครองชีพของประชาชนในประเทศ 2. ผลกระทบต่อการส่งออกข้าว ซึ่งถ้าปล่อยให้ราคาผันผวนต่อไปจะทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อจนส่งผลให้การส่งออกลดลงในที่สุด โดยเฉพาะการส่งข้าวในไตรมาส 2 ปี 2551 คาดว่าจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
นายชูเกียรติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาแก้ปัญหาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะปัญหาราคาข้าวที่สูงขึ้นในประเทศส่วนหนึ่งมาจากการกักตุนข้าวไว้เพื่อหวังเก็งกำไร ส่วนแนวทางแก้ปัญหาด้วยการระบายข้าวในสต็อกของรัฐนั้น ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก เพราะตลาดในประเทศยังมีปริมาณข้าวเพียงพอกับความต้องการ
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวภายในประเทศอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง จากการติดตามภาวะราคาข้าวตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. 2551 ถึงกลางเดือน ก.พ. พบว่าราคาข้าวเปลือกและข้าวสารทุกชนิดราคาสูงทุกรายการ โดยข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้นถึงตันละ 1,300 บาท จาก 10,500-11,000 บาท มาอยู่ที่ 11,800-12,300 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เพิ่มขึ้นตันละ 800-1,200 บาท ส่วนข้าวสารหอมมะลิ (100 กก.) สูงขึ้น 260 บาท จาก 1,980-1,990 บาท เป็น 2,240-2,250 บาท ข้าวสาร 5% สูงขึ้น 195-200 บาท
ขณะที่ราคาส่งออก (เอฟ.โอ.บี.) กรุงเทพฯ หอมมะลิชั้น 2 ปัจจุบันอยู่ตันละ 732 ดอลลาร์ เพิ่มจากเดือน ม.ค. ตันละ 612 ดอลลาร์ ข้าวขาว 5% ตันละ 440 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ตันละ 418 ดอลลาร์ โดยราคาข้าวที่สูงขึ้นนี้ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบตลาดข้าวในอนาคต
นายยรรยง กล่าวอีกว่า กรมจัดทำมาตรวัดความเคลื่อนไหวของราคาข้าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคาขายส่งข้าวขาว 5% สูงขึ้นกว่าระดับปกติมากกว่า 20% โดยข้าวขาว 100 กก. อยู่ที่ราคา 1,330-1,335 บาท จากเกณฑ์ปกติควรอยู่ที่ราคา 1,077 บาท มาตรการที่นำมาใช้ คือ จะมีการติดตามภาวะราคาข้าวสารอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งติดตามตรวจสอบสต็อกข้าวข้าวเปลือกและข้าวสารคงเหลือในความครอบครองของโรงสีและผู้ส่งออกทั่วประเทศ เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกักตุนข้าวเก็งกำไร
"หากราคาข้าวสารยังคงปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับรุนแรง หรือข้าวขาว 5% (100 กก.) อยู่ในระดับเกินกว่า 1,401 บาท กรมฯจะใช้มาตรการที่เข้มงวด โดยกำหนดนโยบายส่งออกและราคาให้กับผู้ประกอบการทั้งระบบ พร้อมกับให้แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บข้าว และจะจัดหามาตรการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยต่อไป"
์ ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|