แหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว เปิดเผยว่าขณะนี้โรงสีข้าวทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ และโรงสีภาคกลางที่ตั้งใจจะขึ้นไปรับจำนำข้าวหอมมะลิภาคอีสาน ไม่สามารถรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิได้เลย โดยสาเหตุนั้นเนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่นำข้าวหอมมะลิจำนำแต่จำนำด้วยวิธีเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง เพราะได้ราคาดีคือตันละ 16,000 บาท ทั้งยังสามารถนำข้าวที่มีอยู่ในยุ้งฉางจำนำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แม้ว่าข้าวในยุ้งฉางจะมีส่วนที่ชาวนาต้องเก็บไว้ทำพันธุ์หรือเก็บไว้บริโภค
แต่ถ้าหากนำไปจำนำ ณ จุดรับจำนำ ที่โรงสีที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวรัฐบาลเปิดจุด จะสามารถจำนำได้เฉพาะข้าวที่ต้องการจำนำเท่านั้น ส่วนข้าวสำหรับเก็บทำพันธุ์หรือข้าวเพื่อบริโภคต้องแยกออก
อีกทั้งราคาที่ได้รับยังต่ำกล่าวคือราคาเพดานสูงสุดยังไม่หักความชื้นและสิ่งเจือปนหากไปจำนำ ณ จุดเปิดจะได้แค่ตันละ 15,000 บาท หากหักแล้วชาวนาจะได้ต่ำกว่า จึงทำให้ชาวนาส่วนใหญ่เลือกจำนำโดยเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง
"เวลานี้โรงสีข้าวภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหอมมะลิไม่มีข้าวเข้าโรงสีเลย แม้จะเปิดจุดจำนำแต่ไม่มีข้าวเข้ามา สาเหตุเพราะชาวนานำข้าวจำนำกับยุ้งฉาง ประกอบกับมีโรงสีข้าวภาคกลางขึ้นไปเปิดจุด ซึ่งโรงสีภาคจะได้ข้าวมากกว่า เพราะได้ประสานกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.)ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เวลานี้จึงมีโรงสีภาคกลางขึ้นไปขนข้าวหอมมะลิจากภาคอีสานแถมยังนำมาสีขายในท้องตลาดกก.ละ 23 บาท ขณะที่โรงสีภาคอีสานขายกก.ละ 24 บาท เพราะโรงสีภาคกลางสามารถนำข้าวหอมปทุมผสมได้ จึงขายได้ราคาถูกกว่า"
อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวจากโรงสีภาคกลาง กล่าวว่า จากการที่โรงสีภาคกลางได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปรับจำนำข้าวหอมมะลิภาคอีสานได้ โดยมีค่าใช้จ่าย 3,000 ตันแรกต้องจ่าย 500,000 บาท ส่วนเกินจากนี้จ่ายตันละ 180 บาท แต่ใช่ว่าโรงสีภาคกลางจะได้ข้าวตามเป้าหมาย หากคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายล่วงหน้าไปแล้ว ณ เวลานี้ส่วนใหญ่ขาดทุนกันถ้วนหน้า เพราะเจออุปสรรคหลายด้านอาทิถูกคณะกรรมการรับจำนำข้าวระดับจังหวัดหลายจังหวัดภาคอีสานห้ามเปิดจุดรับจำนำเพิ่มทำให้ไม่สามารถจำนำได้ หรือชาวนาจำนำในยุ้งฉางของตัวเอง
"โรงสีภาคกลางบางโรงขึ้นไปเปิดจุดรับจำนำข้าวหอมมะลิถึง 3 จังหวัด แต่ได้ข้าวแค่ 3,000 ตัน บางรายเปิดรับจำนำ 10 วันได้ข้าวแค่ 300 ตัน จากเป้าหมายจะได้ประมาณ 3,000-4,000 ตัน"
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่าการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของนางพรทิวา นาคาศัย ปัญหาใหญ่อีกปัญหาที่นางพรทิวา ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยเฉพาะข้าวอาจจะมีการจำนำ "ข้าวลม" เพราะถึงขณะนี้เพียงแค่เวลาเดือนเศษที่มีการเปิดจำนำข้าวเปลือกนาปี คือเริ่มจำนำอย่างจริงจังหลังวันที่ 16 พฤศจิกายนแล้ว แต่ปรากฏว่ามีข้าวเข้าโครงการแล้ว 1.85 ล้านตัน จากเป้าหมายถึง 28 กุมภาพันธ์ 2552 ปริมาณรับจำนำ 8 ล้านตัน ทั้งที่โดยปกติข้าวจะออกมากปลายเดือนธันวาคมถึงต้นมกราคม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|