สถานการณ์ราคาข้าวในขณะนี้เข้าสู่ ขาลงอย่างชัดเจน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้ส่งออก รายใหญ่ 5 รายยอมรับที่จะซื้อข้าวขาวและ ข้าวเหนียว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะช่วยดึงราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้า ให้อยู่ที่ 14,000 บาท/เกวียน และข้าวเปลือกเหนียวอยู่ที่ 8,000-9,000 บาท/เกวียน แต่ปรากฏว่าราคารับซื้อข้าวเปลือกเหนียวในตลาดอยู่ที่ 6,100 บาท/เกวียน ข้าวเปลือกเจ้าเหลือ 12,000-13,000 บาท/เกวียน หากคิดเป็นราคาข้าวสารปรับลดลงจากตันละ 27,000 บาท เป็น 24,000 บาท จนมีการเดินขบวนปิดถนนประท้วงในพื้นที่จังหวัดทาง ภาคเหนือจากขายไม่ได้ราคาตามที่รัฐบาลสัญญา
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคม ผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า แม้ว่าการส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2551 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านตัน สูงกว่าที่คาดหมายไว้ แต่ความจริงแล้วสัญญาณของการส่งออกยังไม่ดี เนื่องจากปริมาณความต้องการสั่งซื้อในช่วงหลังเดือนพฤษภาคมนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะมาเลเซียอาจจะยกเลิกนำเข้าข้าวที่เหลืออีก 3 แสนตัน เพื่อนำเข้าจากเวียดนามซึ่งจะ เริ่มกลับมาส่งออกในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ไทยส่งข้าวให้มาเลเซียลอตแรก 2 แสนตันหมด จึงน่าเป็นห่วงว่ามาเลเซียจะไปสำรวจราคาของเวียดนามและไม่นำเข้าข้าวจากไทยก็ได้
สำหรับแนวโน้มตลาดหลังเดือนพฤษภาคมนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะตลาด ข้าวเหนียวมีปริมาณจำกัด ไม่เหมือนปีก่อนที่จีนต้องการสั่งซื้อมาก ส่วนตลาดข้าวขาวยังไม่แน่นอน เช่น อิรัก เอกชนไม่สามารถส่งออกได้เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ให้การรับรอง L/C ของอิรัก ส่วนรัฐบาลยังไม่มีนโยบายด้านจีทูจีเหมือนปีที่ผ่านมา หากรัฐบาลมีออร์เดอร์ 6.5 ล้านตันจริง หากไทยรักษาการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนให้ได้อีกเดือนละ 6 แสนตัน เชื่อว่าการส่งออกปีนี้จะเกินเป้าหมาย 9 ล้านตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมตัวแทนจากสมาคมโรงสีข้าวไทย และตัวแทนจากสมาคมผู้ส่งข้าวออก ต่างประเทศ
แหล่งข่าวจากกลุ่มโรงสีทางจังหวัด ภาคเหนือกล่าวว่า ขณะนี้โรงสีมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจึงไม่สามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้ เนื่องจากผู้ ส่งออกไม่ยินดีที่จะซื้อข้าวเหนียวราคาแพง เพราะตลาดส่งออกก็ไม่มากนัก จึงกดราคาลดลงจากตันละ 6,700-6,800 มาอยู่ที่ ตันละ 6,200-6,300 บาท สำหรับข้าวสดความชื้น 30% และใช้ระบบเครดิตยาวนานสูงสุดถึง 60 วัน แต่ชาวนาจำเป็นต้องเร่งขาย เพราะตอนแรกไม่ยอมเกี่ยวรอขายในราคาของนายมิ่งขวัญ แต่ตอนนี้จำเป็นต้องเกี่ยวเพราะข้าวแก่มากแล้ว และต้องยอมขายราคาถูกเพราะไม่มีที่เก็บ
"คาดว่าภายใน 15 วัน ผลผลิตข้าวคงจะหมดแล้ว แก้ปัญหาคงไม่ทันการ ตอนนี้โรงสีในพื้นที่จำเป็นต้องชะลอการรับซื้อ และโรงสีทางภาคกลางก็ไม่สามารถข้ามเขตมาซื้อได้เช่นกัน เพราะค่าข้าวไม่คุ้มกับค่าน้ำมันซึ่งสูงถึง 900 บาทต่อตัน รัฐบาลควรดูปัญหาที่แท้จริงว่าสภาพคล่องเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ ธนาคารให้วงเงินเท่าเดิม แต่ราคาข้าวสูงขึ้น คาดการณ์ผิดว่าจะขายได้ แต่พอซื้อแล้วขายไม่ได้ ราคาปรับลดลง และระบบเครดิตยาวนานเกินไป"
ที่มา ประัชา่ชาติธุรกิจ |