พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการคณะกรรมการดูแลการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวครบวงจร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานได้เรียกประชุมคณะกรรมการ เพื่อวางกรอบให้คณะกรรมการแปรสภาพและจัดเก็บข้าวไปดำเนินการ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขสีแปรข้าว ดังนี้ โรงสีต้องสีแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสารและส่งมอบเข้าโกดังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ภายใน 7 วันทำการ สัดส่วนข้าวสารที่จัดส่ง 583 กิโลกรัม (กก.) ต่อข้าวเปลือก 1,000 กก. จากเดิม 450 กก. ส่วนที่เหลือจากสีแปร ได้แก่ รำข้าว ปลายข้าว และแกลบ ให้โรงสีเหมือนเดิม และเพิ่มค่าสีแปรตันละ 400 บาท เป็น 500 บาท เพิ่มค่าขนส่งข้าวเข้าโกดังกลาง ในอัตรากิโลเมตร (กม.) ละ 15 บาท สำหรับระยะทาง 50 กม.แรก จากปีที่ผ่านมา 12 บาท/กม. และเพิ่มเป็น 18 บาท/กม. สำหรับระยะทางตั้งแต่ 100 กม. จากปีก่อน 15 กม. และโกดังกลางได้ค่าเก็บกระสอบละ 2 บาท
พ.ต.ท.บรรยินกล่าวว่า นอกจากนี้ ปรับหลักเกณฑ์การวางเงินค้ำประกันในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 จากหลักเกณฑ์เดิมต้องวางค้ำประกัน 20% ของมูลค่าข้าว และต้องมีข้าวในสต๊อค 50% ปรับเป็นเพิ่มการวางค้ำประกันวงเงิน 40% แต่ไม่ต้องมีสต๊อคข้าว ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งหน้าตนจะเสนอให้นำข้าวในสต๊อค 2.1 ล้านตัน นำออกระบายบางส่วน เพื่อรองรับข้าวโครงการรับจำนำรอบใหม่
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวตั้งข้อสังเกตว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้โรงสีได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะการนำส่งข้าวสารให้รัฐ 583 กก. ถือว่าต่ำกว่าการรับจำนำในครั้งที่ผ่านมาที่ต้องส่งมอบข้าวสาร 627 กก. ไม่ใช่ 450 กก. ตามที่ พ.ต.ท.บรรยินกล่าวอ้าง อีกทั้งโรงสียังได้กำไรจากส่วนเหลือจากสีแปรทั้งรำข้าว ปลายข้าว และแกลบ ซึ่งมีราคาสูงกว่าเท่าตัวในปีนี้ ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่รัฐเสนอให้นำมาคิดคำนวณในการหักจากค่าสีแปร เพราะเห็นว่าโรงสีได้รายได้เพิ่มจากส่วนนี้ นอกจากนั้นยังลดภาระให้โรงสีจากเดิมสีแปรภายใน 15 วัน เหลือ 7 วัน และได้เพิ่มค่าขนส่งอีก 3 บาท/กม.
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เป็นต้นมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 4,309 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 53,330 ตัน จำนวนเงิน 698.9 ล้านบาท มีโรงสีสมัครเข้าร่วมโครงการ และผ่านการอนุมัติแล้วจำนวน 296 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 27 จังหวัด แต่สามารถเปิดให้บริการได้ 110 จุด เนื่องจากส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างวางหลักประกันและตรวจสอบสต๊อคข้าวเดิม และคาดว่า ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้จะเปิดจุดรับจำนำได้ไม่ต่ำกว่า 300 จุด " ตั้งแต่มีโครงการรับจำนำดังกล่าวทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดปรับเพิ่มจาก 9,000-11,000 เป็น 12,000-13,000 บาทต่อตัน"
นายธีรพงษ์กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการสวมสิทธิ ธ.ก.ส.จะไม่ให้มีการจำนำข้าวข้ามเขต แต่จะยกเว้นสำหรับพื้นที่ติดต่อกันเท่านั้น โดยเริ่มจากตำบลที่มีเขตติดต่อกัน และถ้าไม่มีจุดรับจำนำอีกจะขยายไปยังอำเภออื่น นอกจากนี้ยังได้ตั้งรางวัลแก่ชาวนาที่แจ้งเบาะแสการสวมสิทธิ หรือมีการขโมยข้าวมาขาย จำนวน 50,000 บาท และสมาคมโรงสีข้าวจะให้อีก 50,000 บาท สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสโรงสีโกงตาชั่งหรือโกงการตรวจสอบความชื้นข้าว เมื่อมีการแจ้งดำเนินคดีถึงที่สุดแล้ว
ที่มา มติชน
|