www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

"มิ่งขวัญ"ดันส่งออก กดราคาข้าวในปท.


      นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งเช็คสต็อกข้าวของรัฐในโกดังทั่วประเทศ ปรากฏว่ามีข้าวในโกดังกลางของรัฐ 1.964 ล้านตัน ครบตามจำนวน ส่วนข้าวรัฐที่ฝากเก็บไว้กับโรงสีหายไป 1.3 หมื่นตัน จากปริมาณเต็ม 1.45 แสนตัน หรือหายไปเกือบ 10% ของปริมาณข้าวที่ฝากเก็บในโรงสี แต่หากรวมข้าวทั้งระบบของรัฐหายไป 0.62% ทำให้รัฐมีข้าวในสต็อกทั้งหมดขณะนี้ 2.096 ล้านตัน ซึ่งจังหวัดที่พบข้าวหาย ได้แก่ พิจิตร พะเยา ชัยนาท และเชียงราย

     นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ตนได้กำหนดแนวทางบริหารข้าวในสต็อกของรัฐ โดยจะนำมาใส่ถุงขาย (CONSUMER) และเก็บเป็นสต็อกของรัฐบาล (SAFETY STOCK) โดยการจำหน่ายจะบรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม ขายให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ โดยกำหนดราคาเท่ากับต้นทุน คือ ราคาข้าวที่รับซื้อในขณะนั้น โดยรัฐไม่เอากำไร

     ทั้งนี้องค์การคลังสินค้า (อคส.) พาณิชย์จังหวัด และค้าภายในจังหวัด จะเป็นผู้กระจายข้าวถุงของรัฐบาลออกไป โดยวางแผนออกจำหน่ายภายในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยข้าวที่จะนำออกขายเพียง 10% ของความต้องการบริโภคในประเทศ ทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าจะมีข้าวเพียงพอกับความต้องการของประชาชนอย่างแน่นอน ส่วนเงื่อนไขการซื้อยังไม่ได้กำหนด

     รายงานข่าวแจ้งว่า ในแต่ละปี คนไทยบริโภคข้าวประมาณ 9-10 ล้านตัน การทำข้าวถุงในปริมาณ 10% ของความต้องการภายในประเทศ รัฐต้องนำข้าวในสต็อกออกจำหน่าย 9 แสน-1 ล้านตัน โดยราคาที่รัฐรับซื้อข้าวก่อนหน้านี้ในปีที่ผ่านมา เฉลี่ยตันละ 6,700-7,000 บาท ซึ่งรัฐมั่นใจว่าจะเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคให้ซื้อข้าวในราคาไม่สูงตามกลไกตลาด

ดันราคาให้ชาวนาเกวียนละ 1.2 หมื่นบาท

     นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ในส่วนข้าวที่จะออกในช่วงนาปรังปีนี้ ปริมาณ 6 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 4.2 ล้านตันข้าวสารนั้น ชาวนาสามารถจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ยเกวียนละ 1.2 หมื่นบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าราคาข้าวจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ชาวนาไม่จำเป็นต้องรีบขายข้าวให้พ่อค้า เพราะกระทรวงพาณิชย์พร้อมจะหาช่องทางให้ชาวนาส่งออก เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจริงตามกลไกตลาด โดยช่องทางการจำหน่ายจะมีทั้งผ่านผู้ส่งออกข้าวตามปกติ และช่องทางการส่งออกใหม่ที่รัฐจะสร้างขึ้น

     ”เราขอบอกชาวนาว่าอย่าเพิ่งรีบขายข้าว ปีนี้ราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นอีก เป็นโอกาสทองของชาวนา ให้ไปส่งออกเถอะจะได้ราคาดี ให้ส่งออกทั้งหมดโดยชาวนา ซึ่งในส่วนผู้ส่งออกเราก็ส่งเสริมให้ส่งออกอย่างสุดมือ ขณะที่ชาวนาเราก็อยากให้ได้ขายข้าวในราคาส่งออก และผู้บริโภคก็ไม่ต้องเดือดร้อนข้าวยากหมากแพง เพราะเราจะทำข้าวถุงมาขายทั่วประเทศ" นายมิ่งขวัญกล่าว

เล็งกำหนดราคาส่งออกเอง

     ในส่วนการดูแลราคาข้าวในตลาดโลก ขณะนี้ไทยเป็นผู้เล่น (PLAYER) รายใหญ่ กลไกราคาจะเป็นเชิงบวก ข้าวไทยเป็นสินค้าดี มีคุณภาพ ถ้าเป็นไปได้ ไทยต้องเป็นผู้กำหนดราคาเอง และต้องการเห็นราคาที่ดีที่สุด ส่วนความร่วมมือค้าข้าวกับผู้ส่งออกอื่นๆ ก็จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป

     ”ทุกปีราคาข้าวตัดกันไปมา ไทยเป็นผู้เล่นรายใหญ่ สามารถกำหนดราคาได้ เพราะบางประเทศเผชิญภาวะอากาศไม่ดี ข้าวไม่พอกิน แย่งซื้อข้าวจากไทย ก็อยากส่งเสริมส่งออกให้หมด" นายมิ่งขวัญกล่าว

     นายมิ่งขวัญกล่าวว่า รัฐบาลจะใช้วิธีการบริหารสต็อกข้าว โดยยืนยันไม่มีการระบายข้าวให้กับผู้ส่งออกในช่วงนี้ เพราะเกรงว่าหากรัฐบริหารสต็อกไม่ดี ระบายออกมาส่งผลให้ข้าวราคาตก

     "กระทรวงพาณิชย์ไม่มีแผนจะระบายข้าวในสต็อก ถ้าบริหารไม่ดีจะทำให้ข้าวราคาตก ชาวนาเดือดร้อน ซึ่งไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อน ส่วนผู้ที่จำหน่ายข้าวถุงก็ทำธุรกิจซื้อข้าวมาจำหน่ายตามปกติ แต่รัฐก็มีทางเลือกให้ผู้บริโภคผ่านโครงการข้าวถุงของรัฐ" นายมิ่งขวัญกล่าว

แจ้งความดำเนินคดีข้าวหาย

     นายมิ่งขวัญกล่าวว่า กรณีการพบข้าวหายจากสต็อก 1.3 หมื่นตัน มูลค่า 13-18 ล้านบาท และที่หายเดิมที่ จ.เชียงราย 1.2 หมื่นตัน รวมเป็น 2.5 หมื่นตัน สายตรวจพิเศษเฉพาะกิจ ที่นำโดยผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และมีพาณิชย์จังหวัด การค้าภายในจังหวัด เจ้าหน้าที่ อคส. นักวิชาการพาณิชย์ประจำสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ที่ออกตรวจสต็อกตั้งแต่ 11-16 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับโรงสีทั้งทางแพ่งและอาญาแล้ว และให้ขึ้นบัญชีดำห้ามร่วมโครงการกับรัฐบาลอีกต่อไป โดยโรงสีที่ถูกดำเนินคดีได้แก่ ลิ่มเจริญพืชผล จ.ชัยนาท โรงสีอิสริยผล จ.พะเยา โรงสีหลิวเจริญทรัพย์ จ.พิจิตร

     นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัย และดำเนินคดีอาญากับพนักงานและข้าราชการอย่างเคร่งครัด รวมถึงกำหนดให้มีการออกตรวจสอบปริมาณข้าวที่มีอยู่ในสต็อกอย่างต่อเนื่อง

     นายมิ่งขวัญกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแผนลดต้นทุนให้ชาวนา โดยมีมาตรการให้แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ ติดตาม ตรวจสอบปริมาณและสถานที่เก็บอีกครั้ง และให้อนุกรรมการกำหนดราคาที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา

วิรุฬชี้โอกาสทองข้าวไทยผลผลิตคู่แข่งเสียหาย

     นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ข้าวในปี 2551 ตลาดยังเป็นของผู้ขาย ทั้งนี้เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญหลายประเทศ เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ผลผลิตลดลง ประเทศผู้ส่งออกซึ่งเป็นคู่แข่งกับไทยหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย มีการกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกอย่างเข้มงวด ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวทั่วโลก ต้องหันมาสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาข้าวส่งออก (FOB) ขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีถึงสัปดาห์นี้ ตันละ 500-600 บาทต่อตัน

     "ปริมาณการส่งออกสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนต.ค.2550- ก.พ.2551 สามารถส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันทุกเดือน ปริมาณความต้องการข้าวในตลาดโลก ยังคงมีปริมาณสูง ช่วงเดือนนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยชนะประมูลข้าวฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นในปริมาณเกือบสามแสนตัน คู่แข่งยังไม่ยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออก เชื่อว่าแนวโน้มตลาดข้าวไทยยังแจ่มใสไปจนถึงสิ้นปี" นายวิรุฬระบุ

พร้อมแทรกแซงตลาดสร้างความสมดุล

     เขากล่าวว่า สถานการณ์ตลาดเป็นของผู้ขายเกิดขึ้นไม่บ่อย ดังนั้นทุกฝ่ายตั้งแต่เกษตรกรชาวนา พ่อค้าคนกลาง โรงสี และผู้ส่งออก จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ให้เกิดประโยชน์สมดุลทุกฝ่าย โดยไม่ควรกักตุนเก็งกำไร จนทำให้ระบบการค้าการส่งออกสะดุด เกิดความเสี่ยงสูงต่อการรับคำสั่งซื้อใหม่ๆ จนทำให้ไม่มีตลาดรองรับผลผลิตข้าวนาปรังฤดูใหม่ ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.นี้ ซึ่งจะมีผลทำให้ยอดปริมาณการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ลดลง และราคาข้าวทั้งภายในและต่างประเทศอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

     ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับความร้อนแรงของตลาดข้าว ที่เป็นอยู่ในช่วงนี้ว่า อาจจะทำให้เกิดปัญหาการเก็งกำไรและมุ่งแต่ส่งออกข้าวอย่างเดียว จนนำไปสู่การขาดแคลนข้าวบริโภคภายใน ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ผู้บริโภคเดือดร้อนนั้น ขอยืนยันว่าได้กำชับและสั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และกำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความสมดุล ระหว่างปริมาณการส่งออกและการบริโภคภายใน และให้เตรียมแนวทางป้องกันและแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหาไว้แล้ว

     "แต่ละปีคนไทยบริโภคข้าวประมาณ 9 ล้านตัน ส่งออก 8-9 ล้านตัน รัฐบาลจะดูแลให้การส่งออกและบริโภคภายในให้อยู่ในระดับปกติ หากผิดปกติจะต้องปรับให้เกิดความสมดุล ขณะนี้รัฐบาลยังมีข้าวในสต็อก 2 ล้านตัน สามารถสำรองบริโภคภายในเมื่อภาวะข้าวในตลาดตึงตัว ข้าวนาปรังผลผลิตเพิ่ม 20% จึงไม่ต้องห่วงว่าจะขาดแคลน"

ส่งออกเกือบ 3 เดือน พุ่ง 2.8 ล้านตัน

     กรมการค้าต่างประเทศรายงานภาวะการส่งออกข้าว ตั้งแต่ 1 ม.ค.-21 มี.ค.มีปริมาณทั้งสิ้น 2,818,054 ตัน เพิ่มขึ้น 71.69% จากปริมาณส่งออก 1,641,328 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 1,221 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 95.94% จากปีก่อนส่งออกมูลค่า 623 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 40,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.36% จากมูลค่า 21,817 ล้านบาท ในช่วงเดียวกัน

     ขณะที่ราคาส่งออกเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น เป็นเฉลี่ยตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.12% จากราคา 380 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้กรมตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่ 8.75 ล้านตัน ซึ่งมั่นใจว่าเป็นไปตามเป้าหมาย

     รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้มีข้าวในสต็อกของผู้ส่งออกและโรงสีประมาณ 2 ล้านตัน ทำให้มั่นใจว่าผู้ส่งออกมีข้าวที่จะส่งมอบให้ผู้ซื้อได้อย่างแน่นอน ส่วนข้าวที่ผลผลิตจะออกมาใหม่ พ่อค้าจะต้องซื้อในราคาส่งออก ไม่ว่าจะเพื่อการส่งออก หรือเพื่อการขายในประเทศ ซึ่งยอมรับว่าจะทำให้ผู้ขายข้าวในประเทศต้องขายสินค้าราคาแพงขึ้น แต่ก็เป็นทางเลือกของประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าข้าวที่รัฐจะออกจำหน่าย ยังเป็นข้าวเก่าที่อยู่ในสต็อก

สศก.วิตกผลผลิตเวียดนามเพิ่มฉุดราคาไทย

     นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า แม้ราคาข้าวในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ชิคาโก สหรัฐ จะมีอัตราสูงมาก สามารถคาดเดาได้ว่าราคาข้าวของไทยจะสูงขึ้นต่อเนื่อง

     ราคาข้าวที่สูงขึ้นในปัจจุบัน เป็นผลมาจากผลผลิตข้าวของอินเดียและเวียดนาม ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหาย ข้าวที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

     แต่เนื่องจากเวียดนามมีศักยภาพในการปลูกข้าวสูงมาก สามารถทำนาได้มากถึง 7 ครั้ง ในช่วง 2 ปี ดังนั้นโอกาสที่จะฟื้นตัวในเวลาอันรวดเร็วจึงมีสูงมาก หากไม่มีผลกระทบจากภัยธรรมชาติเกิดขึ้นซ้ำอีก ผลผลิตข้าวในปี 2551 จะมีปริมาณที่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวลดลงได้

     "เวียดนามเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่เราจะประมาทไม่ได้ ผลผลิตของเวียดนามจะมีผลต่อราคาข้าวของไทยมาก ดังนั้นเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การผลิตต้องเน้นให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เพื่อหนีตลาดข้าวของเวียดนาม คาดปีหน้าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น" นายอภิชาตกล่าว

     นายอภิชาตกล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวจะชัดเจนมากขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังของไทยและเวียดนามออกสู่ตลาด ซึ่ง สศก.จะวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อประเมินราคาข้าวปี 2551/52 อีกครั้ง แม้ว่าราคาข้าวจะปรับตัวลง แต่เชื่อว่าราคาจะไม่ต่ำกว่าตันละ 5,000-6,000 บาท เหมือนช่วงที่ผ่านมา

     อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับราคาข้าว กระทรวงเกษตรฯ จะเจรจากับเวียดนาม เพื่อสร้างสัมพันธ์การค้าข้าว จากคู่แข่งเป็นเพื่อนร่วมค้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานงาน คาดจะเริ่มเจรจาได้เร็วๆ นี้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.