วงการค้าข้าวคึกคักตามราคาข้าวที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการเงินหมุนเวียน เพื่อจัดซื้อข้าวเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ธนาคารพาณิชย์ยังเป็นแหล่งเงินสำคัญที่สนับสนุนกลไกให้เดินต่อไป ในแต่ละปีสินเชื่อเพื่อการซื้อข้าว-ขายข้าว จะมีมูลค่าสูงถึง 80,000-100,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย เป็นแหล่งเงินรายใหญ่
ในมุมมองนายแบงก์ ยุคที่ราคาข้าวแพง ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดหนีไม่พ้นผู้ส่งออก เพราะส่วนใหญ่จะกำหนดราคาส่งมอบล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งราคาที่กำหนดจะต่ำกว่าราคาข้าวในประเทศปัจจุบัน ทำให้ผู้ส่งออกประสบปัญหาขาดทุน และมีการทิ้งออเดอร์กันจำนวนมาก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนเงิน ก็เริ่มชะลอการปล่อยกู้ เพราะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ เริ่มเห็นสัญญาณการขอสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากโรงสีที่ระบุว่า ต้องการขอสินเชื่อเพิ่มเพื่อไปกักตุนสินค้า ซึ่งธนาคารมองแนวโน้มสินเชื่อประเภทนี้ เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาสินค้าที่ผันผวน ส่งผลให้ธนาคารเริ่มปฏิเสธคำขอบ้างแล้ว
"หากเป็นการขอกู้เพื่อกักตุน ส่วนใหญ่เราไม่ให้ แม้ในระยะสั้นราคาจะปรับขึ้นก็จริง แต่หากเข้าสู่ภาวะขาลง ลูกค้าที่มีสต็อกสินค้าไว้จำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้ขาดทุนได้ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่หากกรณีที่จะให้สินเชื่อ ก็จำเป็นจะเลือกโรงสีที่มีประสบการณ์ และมีเงินสำรองของตัวเองพอที่จะรับภาระหากราคาข้าวมีการเปลี่ยนแปลง" แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว
แบงก์กรุงเทพเชื่อมีการปั่นราคา
ด้านนายปิยะ ซอโสตถิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นขณะนี้มีความผิดปกติ เพราะส่วนหนึ่งมาจากการเก็งกำไร ตามแนวโน้มราคาที่เพิ่มขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มราคาข้าวจะปรับเพิ่มขึ้นอีก โดยราคาที่เพิ่มขึ้นมาจากความต้องการของตลาด 80% อีก 20% เป็นการกักตุนเพื่อเก็งกำไร
ส่วนแนวโน้มราคาตอนนี้เชื่อว่าใกล้เข้าสู่ภาวะทรงตัว หรือหากปรับขึ้นก็จะไม่มาก 1,000-2,000 บาทต่อเกวียน โดยราคาที่ปรับขึ้นมาจากการเก็งกำไรและความต้องการของตลาด ซึ่งตราบใดที่เก็งกำไรยังมีสัดส่วนไม่เกิน 50% ยังเป็นระดับที่สามารถจัดการได้ แต่ในขณะนี้ 20% ก็ถือว่าสูงแล้ว
นายปิยะ กล่าวว่า ตามปกติสินเชื่อข้าวจะเป็นสินเชื่อหมุนเวียนมีการชำระคืนตามฤดูกาล โดยจะกู้เงินในเดือนพ.ย. และในช่วงเดือนมี.ค.จะเป็นช่วงที่มีการชำระคืนทำให้ยอดสินเชื่อลดลง แต่ในปี 2550 กลับไม่ลดลง และมีการใช้วงเงินเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเพื่อให้มีสินค้าหมุนเวียนในโกดัง
ชี้โรงสีคืนเงินกู้ช้าลง
"ขณะนี้เราเริ่มเข้มงวดมากขึ้น แบงก์ต้องดูว่าวงเงินที่ให้ไปลูกค้ามีการสต็อกข้าวไว้อยู่หรือไม่ หากมีแล้วทำไมไม่ขายไป เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่ควรเก็งกำไร ปกติภาคอีสานและกลางจะมีการใช้วงเงินในเดือนพ.ย. และในเดือน 3 ก็จะชำระคืน 50-60% แล้ว แต่ขณะนี้ชำระเพียง 20% เท่านั้นก็มีการกักวงเงินไว้บ้าง ซึ่งธนาคารได้แนะนำให้ระบายเข้าระบบ หากราคาตกจะได้ไม่ขาดทุน แต่ปีนี้คงยังไม่เห็นการขาดทุน ความเสี่ยงก็มีระดับหนึ่งแต่คงไม่ตกฮวบฮาบในเร็วนี้ โรงสีที่มีความระมัดระวังก็ปล่อยข้าวเข้าระบบบ้างแล้ว"
นายปิยะ กล่าวว่า การให้สินเชื่อของธนาคารจะเป็นสินเชื่อเพื่อการหมุนเวียน แต่ในขณะนี้เริ่มมีการขอตั๋วพีเอ็นมากขึ้นด้วย ซึ่งหากเป็นการขอเพิ่มวงเงินเพื่อกักตุนสินค้าธนาคารจะระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะหากวงเงินเก่ายังไม่ชำระเข้ามาก็จะไม่ให้
กสิกรไทยดูสต็อกก่อนปล่อยกู้
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ยอมรับว่า แนวโน้มการขอสินเชื่อผู้ประกอบการข้าวมากขึ้น เพื่อเก็บสต็อกสินค้า หลังจากที่เห็นว่าราคาเพิ่มขึ้นซึ่งลูกค้า บางส่วนมีการกักตุนสินค้าไว้รอราคาที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ธนาคารเป็นห่วงคือเรื่องความผันผวนของราคา แต่สินเชื่อข้าวที่ธนาคารปล่อยจะเป็นสินเชื่อหมุนเวียนที่ปล่อยตามวัฏจักรหรือมีระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน โดยลูกค้าที่ขอวงเงินเพิ่มธนาคารจะต้องพิจารณาจากความสามารถชำระหนี้ จำนวนสต็อกข้าวที่มีอยู่ หากมีจำนวนมากอยู่แล้วก็จะไม่เข้าไปสนับสนุน เพราะธนาคารไม่สนับสนุนให้เกิดการเก็งกำไรค้าข้าว
"การสต็อกสินค้าไม่น่าจะมากเกินความเป็นจริง วันดีคืนดีราคาลดลงก็เป็นความเสี่ยง น่าจะขายด้วย ที่สต็อกไว้ก็เพื่อป้องกันความผันผวนด้านราคา หากแนวโน้มยังเป็นขาขึ้นการมีสต็อกที่ไม่มากเกินก็เสี่ยงไม่มาก ถ้าราคากลับทิศลงเร็วสิ่งที่สต็อกไว้ก็ต้องดูว่าต้นทุนสต็อกที่ราคาเท่าไร"
ราคาแพง-มาร์จินลด
นายวศิน กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านราคาที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ ทำให้ลูกค้าเริ่มมีมาร์จินที่ลดลง คือมีมาร์จินกำไรเท่าเดิม แต่ต้องใช้ส่วนทุนมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะประสบปัญหาเรื่องทุนในที่สุด และความเสี่ยงด้านการกู้เงินก็จะมาขึ้นตามไปด้วย ซึ่งธนาคารต้องปรับกลยุทธ์และเพิ่มความระวังมากขึ้นในการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน
"หากปล่อยเป็นแบบนี้นานขึ้น ความเสี่ยงการกู้เงินก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แบงก์ก็ไม่กล้าปล่อย เพราะภาระหนี้ถึงจุดนั้น ก็ต้องระวังหากไม่สามารถเพิ่มทุนได้ แบงก์ไม่ควรรับความเสี่ยงด้านราคากับลูกค้า เพราะไม่ได้มีส่วนได้เสียในกำไรที่เพิ่มขึ้นแต่ให้เงินทุนหมุนเวียนธุรกิจไปได้ดี"
กรุงไทยระบุยังไม่ได้รับผลกระทบ
นายปรีชา ภูขำ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ต่างชะลอการให้สินเชื่อกับกลุ่มโรงสีข้าว เพราะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นสินเชื่อที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และมีปัญหาในเรื่องสต็อกข้าว แม้ราคาข้าวช่วงนี้จะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม ซึ่งในเบื้องต้นลูกค้าของธนาคาร ยังไม่ได้รับผลกระทบ จากกรณีที่มีการขโมยสต็อกข้าวที่เป็นปัญหาขณะนี้ โดยเอ็นพีแอลจากกลุ่มโรงสีขณะนี้มีน้อยมาก
ส่วนธนาคารกรุงไทย มีการปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้บ้าง แม้จะไม่มากนัก โดยจะคัดเลือกโรงสีที่มีศักยภาพ และมีประสบการณ์มานาน รวมทั้งต้องติดตามการใช้เม็ดเงินให้ตรงตามวัตถุประสงค์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารถือเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อโรงสีมากที่สุด
"ธุรกิจนี้มีความสำคัญต่อรากหญ้า ถ้ามีปัญหาขึ้นมา แต่ธนาคารต้องคัดเลือกโรงสีที่ทำธุรกิจมานานและเชี่ยวชาญจริงๆ และไม่มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|