www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

คลังไล่บี้ออมสิน-กรุงไทยหาแสนล.จำนำข้าว


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52 ในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ เพื่อกำหนดแนวทางการจำนำข้าวให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 21 ตุลาคม 2551 โดยสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ได้พิจารณาเห็นชอบ "ค่าใช้จ่าย" ในโครงการรับจำนำครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 97,000 ล้าน เพื่อเสนอให้คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวด้านงบประมาณและการเงินพิจารณาแหล่งที่มาของเงินทุน

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวม 5,210 ล้านบาท ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ใช้ในการออกใบประทวนและเก็บข้าว 796.684 ล้านบาท, องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) อีก 443.871 ล้านบาท, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ-ค่าชดเชยดอกเบี้ย-ค่าเช่ายุ้งฉาง-ค่าระบายข้าวเปลือก และค่าขนส่ง รวม 3,914.2 ล้านบาท, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6.8 ล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ 48 ล้านบาท ที่เหลือจากนี้เป็นค่าใช้จ่ายค่าข้าวตามเป้าหมายโครงการรับจำนำ 8 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ 1.5 ล้านตัน ราคาตันละ 15,000 บาท รวม 22,500 ล้านบาท, ข้าวเจ้า 5 ล้านตัน ตันละ 60,000 ล้านบาท และข้าวเหนียว 1.5 ล้านตัน ราคาตันละ 11,000 บาท รวม 16,500 ล้านบาท

นายไชยากล่าวยืนยันว่า วงเงิน 97,000 ล้านบาท ที่ประชุมได้ "รับทราบ" จากกระทรวงการคลังว่า มีอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเอาเงินมาจากแหล่งใด ส่วน กระทรวงพาณิชย์ก็จะได้เงิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าข้าวที่ส่งมอบให้รัฐบาลอิหร่านไปก่อนหน้านี้ด้วย ทุกฝ่ายจะต้องเตรียมพร้อมเพราะอาจจะมีข้าวที่เข้าสู่โครงการจำนำเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านตัน เพิ่ม 100% จากเป้าหมายการจำนำ 8 ล้านตัน

นายไชยากล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 27 ตุลาคมนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการระบายข้าวสาร ซึ่งมีตนเป็นประธาน จะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์การระบายข้าวสารใน สต๊อกรัฐบาล ที่ขณะนี้มีข้าวอยู่ในสต๊อกมากกว่า 4 ล้านตัน โดยเฉพาะสต๊อกข้าวเปลือกนาปรังจำนวน 3.9 ล้านตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 โดยอาจจะมีการเปิดประมูล หรือหาแนวทางเจรจาขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลให้กับประเทศผู้นำเข้าข้าวที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ แม้ว่าก่อนหน้าที่เจรจากับอิหร่าน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม

"รัฐบาลจะขายข้าวไม่อั้น ปัญหาการขาดทุนจากการระบายสต๊อกข้าวที่มีต้นทุนการรับจำนำอยู่ที่ตันละ 14,000 บาท ก็ขาดทุนไปแล้ว 2,000 ล้านบาท แต่ตอนนั้นราคาสูง รมว.พาณิชย์คนเดิมไม่ขาย แต่ผมต้องเร่งขาย เพราะอาจไม่มีโกดังเพียงพอในการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีที่จะเริ่มต้นโครงการวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการว่าจะยอมขายขาดทุนเพื่อระบายสต๊อกข้าวออกไปหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ผู้ส่งออกรายใหญ่อาจจะรวมตัวกันกดราคารับซื้อข้าวโดยอ้างว่าราคาส่งออกปรับลดลง จนทำให้ต้องซื้อข้าวสารของรัฐบาลในราคาถูกนั้น จะต้องขอความเห็นจากคณะกรรมการว่า จะทำอย่างไร เพราะเรามีสิทธิที่จะไม่ขายก็ได้" นายไชยากล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวและสินค้าปลายโปรดักต์ของข้าวมีโอกาสจะปรับตัวลดลงอีก เนื่องจากรัฐบาลเร่งสีแปร 100% จะทำให้มีสินค้าปลายข้าวและรำข้าวออกมาปริมาณมากเกินกว่าความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ในฤดูกาลนาปรัง ราคารำข้าวลดลงจาก ก.ก.ละ 10 บาท เหลือ 4 บาท และปลายข้าวจาก ก.ก.ละ 22 บาท เหลือ 8 บาท ฉะนั้นควรสีแปร 70-80% และเหลือข้าวเปลือกไว้ส่วนหนึ่งเพื่อขายสำหรับผู้ส่งออกข้าวนึ่งได้ด้วย

และหากรัฐบาลเร่งระบายสต๊อกข้าวเปลือกนาปรังเท่ากับราคาจำนำนาปี คือ ตันละ 12,000 บาท เพื่อเร่งนำเงินมาใช้สำหรับรับจำนำ ก็จะทำให้รัฐบาลขาดทุนจากราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังที่ 14,000 บาท หรือขาดทุนตันละ 2,000 บาท หากขายทั้งหมด 4 ล้านตัน ก็จะขาดทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ก็มีแนวโน้มที่ผู้ส่งออกจะกดราคารับซื้อข้าวให้เหลือเท่าราคาตลาดปัจจุบัน 10,500-11,000 บาท/ตัน โดยอ้างว่าราคาส่งออก FOB ของไทยลดลง ภายหลังจากเวียดนามขายข้าวตัดราคา ซึ่งผู้ส่งออกจะซื้อข้าวได้เพียงราคาอีกตันละ 1,000-1,500 บาท รวมแล้วรัฐบาลอาจต้องขาดทุนกว่า 12,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการระบายข้าวสารเตรียมจะกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการโครงการรับจำนำ โดยเห็นชอบให้ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ออกใบประทวนและสั่งสีแปรสภาพข้าว และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำหน้าที่รับจำนำใบประทวน รับจำนำยุ้งฉาง โดยกำหนดเงื่อนไขเกษตรว่า จะรับจำนำได้ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท และต้องมีหนังสือรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ โดยให้จำนำในพื้นที่จังหวัดของตนเอง ยกเว้นอำเภอที่ติดกัน ส่วนโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการจะรับจำนำได้ไม่เกิน 50 เท่าของกำลังการผลิตและต้องรับซื้อข้าวเปลือกไม่น้อยกว่า 50% ของปริมาณการรับซื้อข้าวและค้ำประกัน 20% หรือค้ำประกัน 70% อย่างเดียว ต้องติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่และห้ามหมุนเวียน ห้ามเปาเกาข้าว

ด้านนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ตนได้หารือร่วมกับคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านงบประมาณและการเงิน กับคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาดที่กระทรวงการคลัง ซึ่งผลการประชุมได้ข้อสรุปว่า กระทรวงการคลังจะต้องไปเตรียมจัดหาเงินทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 8 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยในวันจันทร์ที่ 27 ตุลาคมจะได้เรียก ผู้บริหารของธนาคารออมสิน กับธนาคารกรุงไทย มาสอบถามว่าจะให้รัฐบาลกู้ยืมเงินได้เป็นวงเงินเท่าไร และคิดอัตราดอกเบี้ยอย่างไร

"ประเด็นที่จะหารือกับออมสินและกรุงไทยนั้น ผมคงจะต้องสอบถามทั้ง 2 ธนาคารว่า ตามระเบียบของธนาคารนั้นรัฐบาลจะกู้เงินได้เท่าไร ดอกเบี้ยคิดอย่างไร เพราะออมสินเป็นธนาคารของรัฐ กรุงไทยก็เป็นบริษัทมหาชน แต่คิดว่าคงจะไม่พอ เพราะงานนี้ต้องใช้เงินถึง 100,000 ล้านบาท บางคนเสนอให้รัฐบาลออกบอนด์มาผสมด้วย แต่ที่สำคัญตอนนี้จะต้องหาเงินมาให้ได้ก้อนหนึ่ง เพราะใช้เป็นทุนหมุนเวียน ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยระบายขายข้าวออกไปด้วยเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุน ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มีเงินจากการขายข้าวสต๊อกเก่าอยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท"

นายประดิษฐ์กล่าวว่า ส่วนแนวทางการแทรกแซงราคาข้าวครั้งนี้ ที่เตรียมไว้จะมี 3 แนวทาง คือ ช่องทางที่ 1 เกษตรกรขายข้าวในช่องทางปกติ อาจจะขายให้ผู้ส่งออก โรงสีข้าว พ่อค้า ช่องทางที่ 2 เกษตรกรนำข้าวมาจำนำกับ ธ.ก.ส. และช่องทางที่ 3 ธ.ก.ส.จัดทำโครงการนำร่อง โดยเปิดให้เกษตรกรมาขายสิทธิในข้าวเปลือกให้กับ ธ.ก.ส.ล่วงหน้า โดยกำหนดราคาขั้นต่ำ หากราคาข้าวในตลาดเพิ่มสูงกว่าที่กำหนดไว้ เกษตรกรจะได้กำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น แต่ถ้าราคาข้าวในตลาดลดต่ำลง เกษตรกรจะได้รับเงินตามราคาที่กำหนด โดย ธ.ก.ส.อาจนำสิทธิที่เกษตรกรมาขายล่วงหน้าไปเทรดในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) อีกทอดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต้องเริ่มทำ มิฉะนั้นจะต้องรับจำนำข้าวต่อไปเรื่อยๆ

ด้านนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารออมสินยังไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาล ถึงแม้ออมสินจะมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ประมาณ 66,000 ล้านบาท แต่ธนาคารต้องกันเงินไว้ใช้เป็นทุนหมุนเวียนของธนาคารเหมือนกัน พอที่จะให้รัฐบาลกู้ได้แค่ 20,000 ล้านบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะต้องเป็นไปตามราคาตลาด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.