นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณายกระดับข้าวหอมที่ปลูกในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นข้าวหอมมะลิ 105 (นครสวรรค์) ตามที่เกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ร้องขอ และกำหนดราคารับจำนำให้กับข้าวหอมดังกล่าวในราคาตันละ 14,000 บาท ต่ำกว่าราคารับจำนำข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน 1,000 บาท หรือรับจำนำตันละ 15,000 บาท
“กลุ่มเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ได้มาร้องขอ เพราะเห็นว่าข้าวหอมที่ปลูกในพื้นที่นครสวรรค์ไม่ได้แตกต่างจากข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อีสานในลักษณะทางพันธุกรรม มีการใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นชนิดที่ปลูกในภาคอีสานปลูกเหมือนกัน”
นอกจากนี้ยังได้รับการการันตีจากสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าข้าวหอมมะลิ พันธุ์ 105 ที่ปลูกในจังหวัดนครสวรรค์มีพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เหมือนกับข้าวหอมมะลิ 105 ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานทุกอย่าง ยกเว้นทางกายภาพที่แตกต่างกัน คือข้าวที่ปลูกในจังหวัดนครสวรรค์ จะมีเมล็ดอวบ และกลิ่นหอมน้อยกว่าข้าวหอมมะลิในพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน อาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำมากกว่า
ส่วนลักษณะทางกายภาพที่ต่างกัน จึงกำหนดราคารับจำนำต่ำกว่าราคาข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคอีสานตันละ 1,000 บาท ซึ่งเกษตรกรก็ยอมรับ แต่จะให้ราคาสูงกว่าข้าวหอมจังหวัดทั่วไปที่กำหนดจำนำ 13,000 บาท เพราะเห็นว่าเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ปลูกข้าวหอมมะลิได้ปีละ 1 ครั้ง จึงต้องการให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลผลิต 350,000 ตันต่อไป.
ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมจังหวัด ต้องการให้รัฐบาลรับจำนำในราคาเดียวกับข้าวหอมมะลิ โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าขอให้เกษตรกรรับเงินจำนำข้าวเปลือกในราคาจำนำเดิมไปก่อน จากนั้นหากผลการพิจารณาของครม.ออกมาอย่างไร เช่น ให้เพิ่มราคารับจำนำข้าวหอมจังหวัด เกษตรกรก็จะได้รับเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นทันที
โดยก่อนหน้านี้ เกิดปัญหาในการรับจำนำข้าวในในหลายท้องที่เนื่องจากโรงสี ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ได้รับซื้อรับจำนำข้าวหอมจังหวัดที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ โดยตีราคาเป็นราคาข้าวหอมมะลิในราคาตันละ 15,000 บาท แต่ในเบื้องต้นภาครัฐเห็นว่า ข้าวหอมจังหวัด จะไปตีเป็นข้าวหอมมะลิไม่ได้
นายสุชาติ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้รับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิต 2551/2552 แล้ว จำนวน 12,000 ราย โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินค่ารับจำนำข้าวแล้ว 1,690 ล้านบาท และจะเดินหน้ารับจำนำข้าวต่อไปเรื่อย ๆ จึงขอให้เกษตรกรมาร่วมโครงการรับจำนำข้าว
สำหรับวงเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก รมว.คลัง กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาติดขัดแต่อย่างใด ธ.ก.ส.ได้กู้เงินจาก 4 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารทหารไทย วงเงินรวม 110,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4.95 และได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติแล้ว ส่งผลให้ ธ.ก.ส.สามารถจ่ายเงินกู้ให้แก่เกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาจำนำได้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ที่มา เดลินิวส์
|