สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิ เมื่อวันที่ 23 มกราคม ราคาได้ปรับขึ้นไปถึง 710 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากเดือนธันวาคม 2550- กลางเดือนมกราคม 2551 ราคาอยู่ที่ตันละ 660-680 เหรียญสหรัฐ ส่วนข้าวขาว 100% อยู่ที่ 396 เหรียญสหรัฐ/ตัน และคาดว่าราคาข้าวหอมมะลิจะปรับตัวขึ้นไปสูงกว่า 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ส่วนราคาข้าวภายในประเทศก็ปรับสูงขึ้นไม่แพ้กัน โดยข้าวสารหอมมะลิตันละ 21,000-21,900 บาท ข้าวขาว 100% ตันละ 13,500-13,600 บาท ส่วนข้าวขาว 5% ตันละ 12,600-12,650 บาท นอกเหนือจากข้าวแล้ว ปรากฏว่าทั้งรำข้าวกับปลายข้าว ต่างปรับราคาสูงขึ้นตามกัน
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้นอกจากราคาข้าวในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากแล้ว ในส่วนของรำข้าว กับกับปลายข้าว ได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ "ปลายข้าวหอมมะลิ" ราคาส่งออกปรับขึ้นเป็น 423 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนราคาในประเทศอยู่ที่ 13,000-13,200 บาท/ตัน ส่วนราคาปลายข้าวขาว ส่งออกปรับขึ้นเป็น 378 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาในประเทศอยู่ที่ 11,500 บาท/ตัน
"ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากแบบไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งที่โดยปกติแล้วราคาปลายข้าวจะต่างจากราคาข้าวประมาณ 2,000 บาทต่อตัน แต่ตอนนี้เหลือเพียง 200-300 บาทต่อตัน"
ดังนั้นแนวทางที่รัฐบาลใหม่ควรจะต้องดำเนินการต่อจากนี้ไปก็คือ การเร่งระบายสต๊อกข้าวขาว 25% ออกมาสำหรับใช้ภายในประเทศก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เพราะข้าว 25% จะมีสัดส่วนปลายข้าวถึง 55% หากรัฐบาลระบายออกมาประมาณ 100,000 ตัน จากสต๊อกข้าว 25% ที่มีอยู่ประมาณ 300,000 ตัน ก็จะช่วยได้มากและต้องกำหนดระยะเวลาการระบายไม่เกิน 1 เดือนด้วย
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ส่งออกปลายข้าว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2-3 ราย ก็คือ ราคาขายปลายข้าวจะต้องสูงขึ้น อาจจะทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถยอมรับราคาได้ โดยการส่งออกปลายข้าวในปี 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.87 มูลค่า 439.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่มีการนำเข้าปลายข้าวขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาทิ เซเนกัล เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.49, กินี ร้อยละ 49,103.23, เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 578.31, ออสเตรเลีย ร้อยละ 344.79 และกานา เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.70
ดังนั้นการส่งออกปลายข้าวในปีนี้ผู้ส่งออกต้องแข่งกันซื้อในราคาที่สูงขึ้น นอกจากนี้ปลายข้าวยังถูกนำไปใช้ในการอุตสาหกรรมการผลิตเส้นบะหมี่-เส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างชนิดที่เรียกว่า "ร้อนแรง" ทั้งข้าว ปลายข้าว และรำข้าว ซึ่งปรับราคาสูงขึ้นจาก 3 บาท เป็น 9 บาท ส่งผลให้ผู้ส่งออกยังไม่สามารถกำหนดราคาส่งออกได้ แม้ว่าจะมีความต้องการและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ
โดยล่าสุดกรณีที่ฟิลิปปินส์พิจารณาซื้อข้าวขาวจากเวียดนามไปในราคาประมาณ 345 เหรียญสหรัฐต่อตัน "ต่ำกว่า" ราคาที่ผู้ส่งออกไทยเสนอ จึงทำให้เวียดนามชนะการประมูลไป 430,000 ตัน แต่ขณะนี้เวียดนามยังไม่ได้ส่งออก เพราะขาดทุนประมาณ 5-10 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากความผันผวนของราคาข้าวและต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น
"ผู้ส่งออกข้าวจึงต้องระมัดระวังการส่งออก เพราะราคาข้าวภายในประเทศไต่ระดับทุกวัน ออร์เดอร์เต็มก็จริง แต่ราคาพุ่งสูง หากซื้อของไม่ได้ หรือซื้อได้ราคาแพงก็เสี่ยง เพราะยังมีปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างไม่มีเสถียรภาพ จึงมีปัญหาในการโค้ดราคา โดยราคาข้าวขาวกำลังขยับขึ้นสูงกว่า 400 เหรียญสหรัฐต่อตันแล้ว" นางสาว กอบสุขกล่าว
แหล่งข่าวจากวงการข้าว เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ควรเข้ามาดูแลเสถียรภาพราคาข้าวและวางแผนแนวทางการสร้างบรรทัดฐานข้าวไทย โดยจะต้องเน้นให้สอดคล้องกับกลไกตลาดเหมือนกับการดำเนินนโยบายของ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดราคารับจำนำข้าวอิงกลไกตลาด ซึ่งส่งผลดีกับระบบข้าวในระยะยาว เพราะราคาข้าวเจ้า 7,000 บาทต่อตัน ชาวนาเห็นว่าเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ในขณะที่ผู้ส่งออกข้าวก็อยู่ได้
ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคม การค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า นอกจากวัตถุดิบทั้งน้ำมันปาล์ม แป้งสาลี แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน รวมทั้งน้ำตาล จะมีการปรับขึ้นราคาไปหลายรอบ โดยเฉลี่ยขณะนี้ต่อกิโลกรัมราคาปรับขึ้นไปแล้วเกือบ 1 บาท ที่เหลือก็เป็นน้ำมันพืชที่มีการปรับราคาขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว
ดังนั้นสินค้าที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบเหล่านี้เป็นหลักจะได้รับผลกระทบสูง อาทิ กลุ่มขนมหวาน กับขนมขบเคี้ยว
"เรื่องแป้งข้าวเจ้า เป็นผลมาจากปี 2549 ที่ราคาข้าวเหนียวปรับสูงขึ้น ทำให้ปีที่แล้วเกษตรกรจำนวนมากหันไปปลูกข้าวเหนียว ซึ่งส่งผลให้แป้งข้าวเจ้าขาดตลาดในขณะนี้ ขณะที่ปีนี้ราคาของข้าวเหนียวปีนี้คงตัว"
สำหรับกรณีของปลายข้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำเส้นก๋วยเตี๋ยว กับโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปจะปรับตัวสูงขึ้นไปมาก
"ผมเชื่อว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นผู้ประกอบการโจ๊กสำเร็จรูปจะปรับขึ้นราคา เพราะหากดูจากปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ยังไม่มากนัก น่าจะยังสามารถบริหารต้นทุนได้ และราคาที่ปรับขึ้นยังไม่เหมือนกับแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม ที่ปรับสูงขึ้นเป็นเท่าตัว" นายสมชายกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|