www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

แย่งซื้อข้าวไทย ผลิตเพิ่มล้านตัน ยังไม่พอป้อนโลก


      จากสถานการณ์ข้าวของโลกตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2550 ที่ผ่านมา หลังจากสองประเทศผู้ส่งออกข้าว ได้แก่เวียดนามและอินเดีย ได้ประกาศหยุดส่งออก ทำให้กลุ่มผู้ซื้อหันมาสั่งซื้อจากประเทศไทย จนดันราคาข้าวภายในประเทศของไทยขยับสูงขึ้นจนผู้ส่งออกตั้งรับไม่ทัน เพราะเมื่อเสนอราคาขายไปแล้วกลับมาซื้อข้าวในประเทศ ราคาขยับขึ้นเร็วกว่าทั้งยังหาซื้อข้าวไม่ได้ ถึงวันนี้สถานการณ์ข้าวโลกและข้าวไทยยังอยู่ในภาวะตึงตัว เมื่อผู้ซื้อยังมีความต้องการสูง ขณะที่ประเทศผู้ผลิตมีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยกับ “ ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์การผลิตและการค้าข้าว ว่าขณะนี้ในด้านการผลิต สำหรับประเทศไทยจากการที่สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ได้เดินทางไปสำรวจผลผลิตข้าวนาปรังปี 2551 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง พบว่าผลผลิตข้าวนาปรังโดยรวมจะมีประมาณ 6 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มี 5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านตัน เหตุที่ผลผลิตนาปรังเพิ่มขึ้นเนื่องจากข้าวราคาดีประกอบกับข้าวนาปีได้รับความเสียหายจากอากาศแปรปรวนผลผลิตลดลง จึงทำให้มีการปลูกนาปรังกันมากขึ้น โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากราวเดือนมีนาคม-เมษายนนี้

     ส่วนประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองรองจากไทย ทราบว่าได้เกิดภาวะอากาศหนาวเย็นถึงขั้นหิมะตก แถบภาคเหนือของเวียดนาม จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีผลต่อปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามด้วย แม้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อการส่งออกของเวียดนามจะอยู่เขตภาคใต้ แต่ถ้าหากภาคเหนือได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศอาจต้องนำข้าวจากภาคใต้ขึ้นไปเพื่อบริโภค อาจทำให้เวียดนามไม่สามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 5 ล้านตันข้าวสาร

     เช่นเดียวกันกับประเทศอินเดีย ที่เป็นผู้ส่งออกอันดับสาม ปีนี้ได้ตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ 3.5 ล้านตัน แต่จนถึงขณะนี้อินเดียยังไม่มีการส่งออกเลย หลังจากที่มีความเข้มงวดส่งออกมาตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากเกรงว่าผลผลิตในประเทศจะไม่เพียงพอบริโภคและราคาแพง ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

     นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลผลิตข้าวของไทยจะเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ล้านตัน แต่ผู้ส่งออกยังมีความระมัดระวังที่จะรับคำสั่งซื้อ เนื่องจากขณะนี้ผู้ส่งออกหลายรายประสบปัญหาขาดทุนจากที่ไปรับออร์เดอร์ไว้ราคาต่ำแต่ต้องมาซื้อข้าวในประเทศราคาสูง ซึ่งการรับออร์เดอร์ไว้แค่ 10,000 ตัน เมื่อเดือนธันวาคม แล้วมาส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมจะขาดทุน 40 ล้านบาท ยิ่งใครขายมากจะยิ่งขาดทุนมาก

     อีกทั้งการสั่งซื้อข้าวจากโรงสียังไม่ได้รับมอบข้าวจากโรงสี เพราะโรงสีเองก็ประสบปัญหาเพราะขายข้าวให้ผู้ส่งออกไว้ราคาต่ำแต่ต้องไปซื้อจากชาวนาราคาสูงจึงชะลอส่งมอบให้กับผู้ส่งออก ประกอบกับมีการเก็งกำไรของคนบางกลุ่มจากราคาข้าวที่สูงขึ้น จึงทำให้ข้าวออกสู่ตลาดน้อย ผู้ส่งออกจึงต้องมีความระมัดระวังในการรับออร์เดอร์เพื่อไม่ให้เจ็บตัวมากกว่านี้

     นายชูเกียรติ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ความต้องการนำเข้าข้าวว่า มีหลายประเทศที่มีความต้องการ โดยในส่วนข้าวรัฐบาลวันที่ 11 มีนาคม ศกนี้ ประเทศฟิลิปปินส์จะมีการเปิดประมูลซื้อข้าวอีกเป็นจำนวนถึง 550,000 ตัน เป็นข้าวขาว 25% จำนวน 450,000 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 50,000 ตัน และข้าวขาว 5% จำนวน 50,000 ตัน กำหนดส่งมอบตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จากก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีฟิลิปปินส์ประมูลซื้อไปแล้ว 450,000 ตัน เวียดนามชนะประมูลไป 300,000 ตัน และไทยประมาณ 150,000 ตัน

     นอกจากนี้มีบังกลาเทศ เปิดประมูลซื้อ 50,000 ตัน กำหนดยื่นซองตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ถึง 2 มีนาคม 2551 เมื่อเดือนมกราคมบังกลาเทศได้เปิดประมูลซื้อไปแล้ว 100,000 ตันเช่นเดียวกัน และอิรักจะเปิดประมูลซื้ออีก 30,000 ตัน ยื่นซองภายในวันที่ 1 มีนาคม ศกนี้

     “ผลผลิตข้าวที่คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นมา 1 ล้านตัน เมื่อเทียบกับความต้องการของต่างประเทศ คิดว่าราคาข้าวอาจมีการอ่อนตัวลงเล็กน้อยในช่วงที่ผลผลิตออกพร้อมกันมากๆ เท่านั้น แต่จะไม่ตกต่ำยาวนานอย่างแน่นอน” นายชูเกียรติกล่าวและว่า

     ส่วนตัวแปรที่จะมีผลต่อราคาข้าวทั้งของไทยและของโลกอีกประการคือการส่งออกของอินเดีย เพราะโดยปกติอินเดียจะมีการส่งออกข้าวนึ่งเดือนละประมาณ 200,000 ตัน เวลานี้อินเดียหยุดส่งออกจึงทำให้ออร์เดอร์ข้าวนึ่งมาลงที่ประเทศไทย ปริมาณส่งออกที่เพิ่มและราคาข้าวไทยที่แพงขึ้นทุกวันนี้เป็นผลมาจากการส่งออกข้าวนึ่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดีย

     นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวตอนท้ายว่าวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศของไทยจะมีการหารือกับผู้แทนสมาคมอาหารของเวียดนาม เพื่อประมวลสถานการณ์ข้าวของทั้งสองประเทศอีกครั้ง เนื่องจากไทยและเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ประกอบกับที่ผ่านมาสถานการณ์ข้าวโลกมีความผันผวนมาก หากทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันในเรื่องค้าข้าวจะทำให้มีการวางแผนการค้าที่ถูกต้องได้

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.