นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ข้าวในปี 2551 ว่าตลาดยังเป็นของผู้ขาย ทั้งนี้เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญหลายประเทศเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ผลผลิตลดลง ประเทศผู้ส่งออกซึ่งเป็นคู่แข่งกับไทยหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย มีการกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกอย่างเข้มงวด ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวทั่วโลก ต้องหันมาสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาข้าวส่งออก (FOB) ขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีถึงสัปดาห์ละ 500- 600 บาทต่อตัน และปริมาณการส่งออกสูงขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 - กุมภาพันธ์ 2551 สามารถส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันทุกเดือน และจากการที่ปริมาณความต้องการข้าวในตลาดโลก ยังคงมีปริมาณสูง
ประกอบกับในช่วงเดือนนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยชนะการประมูลข้าวที่ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นในปริมาณเกือบสามแสนตัน อีกทั้งประเทศผู้ส่งออกคู่แข่งสำคัญของไทยยังไม่ยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออก จึงเชื่อว่าแนวโน้มตลาดข้าวไทยก็ยังแจ่มใสไปจนถึงสิ้นปี
สถานการณ์ที่เป็นตลาดข้าวของผู้ขายซึ่งมีไม่บ่อยครั้งเช่นนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกรชาวนา พ่อค้าคนกลาง โรงสี และผู้ส่งออก จะต้องร่วมมือและพึ่งพากันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในลักษณะที่มีความสมดุลทุกฝ่าย ไม่ควรกักตุนเก็งกำไร จนทำให้ระบบการค้าการส่งออกสะดุด เกิดความเสี่ยงสูงต่อการรับคำสั่งซื้อใหม่ๆ จนทำให้ไม่มีตลาดรองรับผลผลิตข้าวนาปรังฤดูใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะมีผลทำให้ยอดปริมาณการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ลดลงและราคาข้าวทั้งภายในและต่างประเทศอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย
ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับความร้อนแรงของตลาดข้าวที่เป็นอยู่ในช่วงนี้ว่า อาจจะทำให้เกิดปัญหาการเก็งกำไรและมุ่งแต่ส่งออกข้าวอย่างเดียว จนนำไปสู่การขาดแคลนข้าวบริโภคภายใน ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนนั้น ขอยืนยันว่าได้กำชับและสั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและกำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความสมดุล ระหว่างปริมาณการส่งออกและการบริโภคภายในและให้เตรียมแนวทางป้องกันและแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหาไว้แล้ว
ในแต่ละปีคนไทยบริโภคข้าวเดือนละ 7-8 แสนตัน หรือปีละประมาณ 9 ล้านตัน ส่งออกไปขายต่างประเทศเดือนละ 7-8 แสนตัน เฉลี่ยปีละ 8-9 ล้านตัน รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ก็จะดูแลให้การส่งออกและบริโภคภายใน ให้อยู่ในระดับปกติในแต่ละเดือน หากปริมาณส่งออกสูงกว่าปริมาณปกติมากก็จะมีมาตรการมาปรับให้เกิดความสมดุล เพื่อป้องกันปัญหาได้ทันที ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ยังมีข้าวในสต๊อกอีก 2 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถสำรองการบริโภคภายในประเทศเมื่อเกิดภาวะปริมาณข้าวในตลาดตึงตัว
นอกจากนั้นยังได้รับรายงานผลการสำรวจผลผลิตข้าวนาปรังปี 2551 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2551 ยืนยันว่าผลจากภาวะราคาข้าวที่สูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรชาวนาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นกว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังปีนี้สูงขึ้นร้อยละ 20 จาก 6 ล้านตันเป็น 7 ล้านตันข้าวเปลือก และได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนข้าวบริโภคภายในจึงไม่น่าเป็นห่วง
การส่งออกข้าวตั้งแต่ 1 มกราคม - 21 มีนาคม 2551 ปริมาณ 2,818,054 ตัน มูลค่า 1,221 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 40,222 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 1,641,328 ตัน มูลค่า 623 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 21,817 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.69 , 95.94 และ 84.36 ของปริมาณและมูลค่าตามลำดับ สำหรับราคาส่งออกข้าวโดยเฉลี่ยได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นตันละ 433 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ตันละ 380 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.12 ทั้งนี้คาดว่าในปี 2551 จะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย 8.75 ล้านตันอย่างแน่นอน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|