www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ตลาดโลกดันราคาข้าวพุ่งต่อ 2-3 ปี


      วิกฤติอาหารโลกขณะนี้ กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ประกอบกับหลายประเทศต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ "วิกฤติอาหารโลก:โอกาสประเทศไทยจริงหรือ ?" วันที่ 25 เม.ย. โดยมีวิทยากรจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมระดมความเห็น

     นายนิพนธ์ วงศ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นปัจจุบันเป็นผลด้านจิตวิทยา การตลาดที่เกิดจากสต็อกข้าวโลกลดลงเหลือแค่ 70 ล้านตันจากเดิมที่เคยมีสต็อกข้าว 100-140 ล้านตัน ทำให้สต็อกข้าวที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับการบริโภคข้าวของประชากรโลกที่มีถึงวันละ 1 ล้านตัน และต้องมีสต็อกข้าวรองรับอย่างน้อย 100 ล้านตัน

     ประกอบกับประเทศผู้ผลิตข้าวหลักของโลก เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม เกิดภัยธรรมชาติ ส่งผลให้มีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดลด ขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงขึ้น เช่น ค่าปุ๋ย ราคาน้ำมัน จึงเป็นอีกปัจจัยทำให้ข้าวราคาแพง

     "การที่ราคาข้าวสูงขึ้นจากปัจจัยจิตวิทยา ทำให้มีโอกาสที่ราคาข้าวจะลดลงเร็วเช่นกัน หากโลกหายกังวลกับราคาข้าวแพง จะทำให้ผู้ที่กักข้าวไว้ขณะนี้ต้องเร่งเทขายข้าวออกมา และทำให้ราคาข้าวลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคหายกังวลกับราคาข้าวแพง อยู่ที่ผลผลิตข้าวนาปรังของเวียดนามที่จะเก็บเกี่ยวในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ก็มีโอกาสผลผลิตข้าวของเวียดนามจะไม่ดี เพราะจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำ 1 ใน 9 สาย ของเวียดนามแห้งลง แต่ถ้าเวียดนามประกาศขายข้าวออกมา จะทำให้ความกังวลเรื่องราคาข้าวลดลง"

     นายนิพนธ์ ชี้ว่า ผลผลิตข้าวนาปรังของไทย จะออกมากในเดือนพ.ค.ประมาณ 6 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 4 ล้านตันข้าวสาร ทำให้โรงสีต้องระบายข้าวสารในสต็อกออกไปเพื่อรับซื้อข้าวใหม่ แต่ถ้าโรงสีไม่ขายข้าวจะไม่มีสภาพคล่อง เพราะราคาข้าวสูงขึ้นถ้ามีเงิน 1 ล้านบาท ในอดีตซื้อข้าวได้ 5,000 ตัน แต่ปัจจุบันซื้อข้าวได้เพียง 2,000 ตัน ถ้าโรงสีขายข้าวออกมาจะทำให้กลไกตลาดทำงานดีขึ้น

แนะรัฐการันตีราคาไม่ต่ำกว่าหมื่น

     "ผมว่าถ้ารัฐบาลไม่ประคองราคาข้าวเปลือกไว้ที่ตันละ 10,000 บาท จะเกิดม็อบชาวนา ทำให้เป็นห่วงราคาข้าวที่สูงขึ้นจากผลจิตวิทยาปัจจุบัน ดังนั้นรัฐบาลควรประกาศว่าจะรับจำนำข้าว หากราคาข้าวเปลือกต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นการประกันราคาขั้นต่ำและชี้นำราคาตลาดไม่ให้ต่ำกว่าราคารับจำนำ และจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ชาวนามากขึ้น รวมทั้งยังเป็นแนวทางป้องกันประเทศผู้นำเข้ากดราคาซื้อข้าวไทยอีกด้วย

     นายนิพนธ์ ย้ำว่าขณะที่ราคาข้าวสูงขึ้น ไทยควรฉวยโอกาสนี้ เป็นผู้นำกำหนดราคาข้าวของโลก โดยร่วมมือเป็นพันธมิตรแลกเปลี่ยนข้อมูลสต็อก และปริมาณผลผลิต กับประเทศส่งออกข้าวด้วยกันเช่น เวียดนาม อินเดีย เพื่อบริหารจัดข้าวของโลกที่เรียกว่า "โอเรค" เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารแทนฮั้วราคา ที่จะส่งผลกระทบประเทศผู้นำเข้าอาหารมากเกินไป

จี้ฉวยโอกาสใช้ราคาข้าวไทยอ้างอิงโลก

     "องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ ระบุมาตลอดว่าไทยเป็นผู้นำกำหนดราคาข้าวของโลก แต่ที่ผ่านมาไทยไม่เคยใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อกำหนดราคา วันนี้ไทยเป็นตลาดข้าวรายเดียวที่มีศักยภาพมากที่สุด จึงควรสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ราคาข้าวไทยเป็นราคาอ้างอิงของตลาดโลก" นายนิพนธ์ กล่าว

     ส่วนกระแสราคาข้าวถุงที่แพงขึ้นมากในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากคนระดับกลางที่เริ่มกักตุน เพราะกลัวว่าจะขาดแคลนจนเป็นผลให้ราคาข้าวสูงขึ้นอีกในอนาคต เรื่องนี้จะซาลงไปเองเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ แต่เพื่อช่วยลดผลกระทบกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เห็นด้วยกับกระทรวงพาณิชย์ที่จะนำเข้าในสต็อกจำนวน 2.13 ล้านตันมาบรรจุถุงจำหน่าย

ซีพีชี้ความต้องการเพิ่มดันราคาสูง

     ขณะที่นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันโลกผลิตข้าวไม่เพียงพอ กับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งสต็อกข้าวโลกลดลงจาก 100 ล้านตันเหลือเพียง 70 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่า มีการบริโภคมากกว่าการผลิต โดยปี 2550 โลกต้องการบริโภคข้าวประมาณ 416 ล้านตัน ขณะที่ปี 2551 ความต้องการบริโภคข้าวอยู่ที่ 420 ล้านตัน และคาดในปี 2552 ความต้องการบริโภคข้าวจะอยู่ที่ 424 ล้านตัน นอกจากนั้นประเทศที่มีผลผลิตต่อไร่เกิน 1,000 กิโลกรัม อย่างเช่น จีน สหรัฐ เกาหลีใต้ ได้ลดการผลิตข้าว เพราะพื้นที่ปลูกข้าวถูกนำไปใช้ด้านอื่น และประสบภัยธรรมชาติ จากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตลดลง

     นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่นาถูกนำไปปลูกพืชพลังงาน เช่น ปาล์ม เห็นชัดมากในเขตภาคใต้และภาคกลาง เช่น จังหวัด อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พบว่า มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกปาล์มน้ำมันนับ1,000 ไร่ จึงประเมินได้ว่าแนวโน้มพื้นที่การปลูกข้าว อาจจะลดลงหากราคาข้าวไม่สูงพอ

เชื่อ 2 ปีไม่ต่ำกว่า 7 พันบาท/ตัน

     นายมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้มาเลเซียประกาศให้รัฐซาราวัก เป็นพื้นที่ปลูกข้าว สำหรับป้อนคนในประเทศบริโภค แต่ในหลายประเทศไม่สามารถนำพื้นที่ที่มีต้นไม้ เพื่อนำมาปลูกข้าวได้ ประกอบกับการลงทุนระบบชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิตต้องใช้เวลา ส่งผลให้ผลผลิตข้าวของโลกเพิ่มไม่ทันตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เชื่ออีก 2-3 ปีข้างหน้า ราคาข้าวเปลือกจะไม่ลดลงไปอยู่ที่ 6,000-7,000 บาทต่อตันเหมือนในอดีต แต่จะมีโอกาสที่ราคาข้าวจะอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ราคาจะอยู่ระดับนี้ไปได้นานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการผลิตและสถานการณ์ข้าวของไทย เวียดนาม อินเดียและจีน

     นายมนตรี ย้ำว่าปัจจุบันเมื่อราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก และหลายประเทศเกิดความกังวลว่า จะเกิดวิกฤติด้านอาหาร ขณะที่ไทยยังมีศักยภาพการผลิตข้าวได้มาก และสามารถป้อนตลาดโลกได้ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพื่อก้าวสู่ผู้นำด้านอาหารของโลก

แนะเสริมระบบชลประทานคลุมพื้นที่นา

     ดังนั้นรัฐบาลต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร โดยเฉพาะระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรมากที่สุด รวมทั้งการขุดลอก คู คลอง หนอง บึง และเติมน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ให้เต็ม เพื่อให้ชาวนาปลูกข้าวและได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น

     "ผลผลิตข้าวในเขตชลประทานของไทย ยังเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นได้ จากปัจจุบันที่มีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยทั้งประเทศกว่า 400 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่พื้นที่เขตชลประทาน ผลผลิตข้าวต่อไร่สูงถึง 600-700 กิโลกรัม แต่ไทยมีพื้นที่ชลประทานเพียง 24 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 67 ล้านไร่ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่การเกษตรที่มีมากถึง 130 ล้านไร่ ขณะเดียวกันไทยก็มีศักยภาพในการวิจัยพันธุ์ข้าวอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ 800 กิโลกรัม" นายมนตรี ย้ำ

     นายมนตรี กล่าวว่า ไทยควรประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้สาเหตุของราคาข้าวที่สูงขึ้น เพราะเกิดจากราคาน้ำมันแพง ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่สูงขึ้น รวมทั้งชี้แจงถึงสินค้าเกษตรมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกษตรกรไทย ยังมีหนี้อยู่และเกษตรกรมีรายได้ไม่มากพอ ที่เหลือเป็นทุนไปเพิ่มผลผลิตต่อไร่

     ดังนั้นควรใช้โอกาสนี้เจรจาขอกู้เงินจากธนาคารโลก เพื่อลงทุนระบบชลประทาน 2-3 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยอ้างถึงการที่ไทยสามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนให้กับโลก

ชี้วิกฤติอาหารยังเกิดอีก 2-3 ปี

     ส่วนนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า เอฟเอโอได้คาดผลผลิตอาหารปีนี้จะมีประมาณ 2,160 ล้านตัน แต่คงไม่พอกับความต้องการของโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น โดยปี 2546-2547 เป็นช่วงที่ราคาอาหารตลาดโลกเริ่มขยับขึ้น แต่ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ราคาสินค้าอาหารโลกสูงขึ้น 57% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าวิกฤติอาหารจะเกิดขึ้นต่ออีกช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า โดยในการผลิตข้าวของไทยและเวียดนามคงไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้มากกว่านี้ได้ก็จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นอีก

     "การวางแผนเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากวิกฤติอาหารต้องทำในระยะยาว เพราะการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้องใช้เวลา ขณะนี้เป็นโอกาสเหมาะที่ทุกฝ่ายควรวางแผนการผลิต โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ระยะสั้นต้องวางแผนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศ ซึ่งไม่ควรกดราคาอาหารไว้ แต่ควรเพิ่มรายได้ประชาชน ส่วนระยะยาวต้องเน้นเพิ่มผลผลิต ขณะนี้ยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนว่าพืชแต่ละชนิดจะผลิตอย่างไร จำเป็นต้องมีการวางแผน พื้นที่ปลูก และลงทุนระบบชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิต ระยะยาวสินค้าเกษตรและอาหารจะเป็นจุดแข็งของไทย"

กระตุ้นเอกชนเป็นกลไกสร้างโอกาส

     นายุทธศักดิ์ ย้ำว่า ภาคเอกชนต้องเป็นกลไกหลักสร้างโอกาสของสินค้าอาหารแปรรูปจากวิกฤติอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าอาหาร โดยปัจจุบันไทยมีการส่งออกปีละ 6 แสนล้านบาท เป็นการส่งออกอาหารแปรรูป 50% หากจะเพิ่มมูลค่าส่งออกอาหารแปรรูปช่วง 5 ปี ข้างหน้า ควรพัฒนาผู้ประกอบการอาหารแปรรูปให้มีประสิทธิภาพเหมือนผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ เช่น เครือซีพี เบทาโกร

     นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยถูกกล่าวหาว่าปั่นราคาข้าวในตลาดโลก เรื่องนี้เห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่ออกมาว่า ราคาข้าวจะสูงขึ้นผลักดันให้ราคาปัจจัยการผลิตสูงตามไปด้วย ราคาน้ำมันที่สูงทำให้ต้นทุนขนส่งสูงขึ้น ทำให้ช่วง 2-3 ปี ข้างหน้าราคาสินค้าอาหารจะสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันด้วย

     นอกจากนี้ กองทุนต่างประเทศ จะเข้ามาเก็งกำไรสินค้าอาหารมากขึ้น เพราะปัญหาซับไพร์มของสหรัฐ ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้กองทุนเหล่านี้ต้องหากำไร ทำให้การเก็งกำไรมาอยู่ที่สินค้าอาหาร จึงต้องติดตามการเข้าไปเก็งกำไรของกองทุนต่างๆ ในสินค้าปศุสัตว์ ประมงและพืชด้วย

แนะไทยตั้งมาตรฐานสินค้าอาหารเอง

     "ปัจจุบันประเทศตะวันตกลดพื้นที่ปลูกอาหารแล้วนำบุคลากรไปพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง แต่ต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนาผลิตอาหารให้ รวมทั้งญี่ปุ่น ที่ส่งนักวิชาการมาถ่ายทอดข้อมูลความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ เพราะต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัยด้านอาหารในอาเซียน เพื่อให้อาเซียนเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนญี่ปุ่น "

     ทั้งนี้ ผลผลิตอาหารของโลกผลิตจากเอเชียถึง 60% แต่เราไม่เคยเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสินค้าอาหาร รวมถึงไทยไม่เคยกำหนดมาตรฐานข้าว แม้จะส่งออกข้าวมากที่สุด ดังนั้นไทยควรใช้ข้าวเป็นตัวนำกำหนดมาตรฐานสินค้าอาหาร และใช้พลังของอาเซียนผลักดันมาตรฐานสินค้าอาหาร เพราะในอีก 7 ปีอาเซียนจะรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

     นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์รองรับวิกฤติอาหารโลกและพลังงาน ที่ครม.อนุมัติไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย.นั้น ยังไม่ครอบคลุมสินค้าอาหารชนิดอื่นๆ ซึ่งรัฐต้องเข้ามาดูด้วยว่าจะมีแนวทางพัฒนาอย่างไร ในยุทธศาสตร์ควรมีเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะประเทศตะวันตกนำประเด็นดังกล่าวมาเป็นข้อกีดกันการค้ามากขึ้น โดยใช้ภาคเอกชนเป็นหัวหอก

เกษตรฯเชื่อมั่นเดินหน้าวาระแห่งชาติ

     นางสาวจริยา สุทธิไชยา ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการแปรรูปสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ เห็นความสำคัญการสร้างระบบชลประทานเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตร ที่ผ่านมามีโครงการปรับโครงสร้างภาคเกษตร ( ASPL) โดยได้รับเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) วงเงิน 600 ล้านดอลลาร์ แต่ใช้งบประมาณไปได้เพียง 300 ล้านดอลลาร์ ก็ต้องยุติลงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล งบประมาณด้านนี้ถูกตัดออกให้ไปใช้งบปกติ ทำให้การดำเนินด้านชลประทานเดินหน้าได้ช้ามาก

     "รัฐบาลปัจจุบันเห็นชอบให้กำหนดเรื่องวิกฤติอาหารโลกเป็นวาระแห่งชาติ จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสของไทยในการผลิตป้อนอาหารสู่ตลาดโลก จึงกำหนดให้มียุทธศาสตร์วางแผนการสินค้าเกษตรและพืชพลังงาน การขยายระบบชลประทานได้รวมอยู่ในยุทธศาสตร์นี้ด้วย"

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.