นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การประเมินภาษีของกลุ่มผู้ส่งออกข้าวของกรมสรรพากรจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่กลุ่มผู้ส่งออกข้าว ซึ่งมีภาระต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อซื้อข้าวจากโรงสีในอัตราที่กฎหมายกำหนดคือ 0.75% ของราคาซื้อขาย พยายามหลีกเลี่ยงภาษี โดยอ้างไม่ได้ซื้อข้าวจากโรงสี แต่ซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนา ซึ่งในทางกฎหมายภาษีแล้ว การซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนา ไม่ว่าจะเป็นโรงสีหรือพ่อค้าส่งออก จะไม่มีภาระภาษีตามกฎหมาย
"กรณีภาษีธุรกิจการค้าข้าว ทางกลุ่มผู้ส่งออกได้ถกเถียงกับกรมสรรพากรมาเป็นเวลานาน ซึ่งทางกฎหมายภาษี ข้าวที่โรงสีซื้อจากชาวนา จะไม่มีภาระภาษีตามกฎหมาย ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราที่กฎหมายกำหนดคือ 0.75% แต่กรณีที่พ่อค้าส่งออก ซื้อข้าวจากโรงสี ผู้จ่ายเงินได้ คือ พ่อค้าส่งออก ต้องมีภาระหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรต่อไป แต่การหลบหลีกภาษีของพ่อค้าส่งออกก็คือ ทำให้การซื้อข้าว เป็นการซื้อจากชาวนาโดยตรง ซึ่งก็ไม่มีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย" เขากล่าว
อ้างซื้อข้าวชาวนาโดยตรง
เขากล่าวด้วยว่า ส่วนใหญ่พ่อค้าส่งออกข้าวและโรงสีเป็นคนคนเดียวกัน จึงต้องการหลีกเลี่ยงภาษี โดยอ้างว่าได้รับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง ขณะที่เป็นไปได้ยากที่จะมีชาวนาขายข้าวโดยตรงให้กลุ่มพ่อค้าข้าวเป็นจำนวนมาก หากไม่รับซื้อจากโรงสี ซึ่งกรณีพ่อค้าส่งออก ซื้อข้าวจากโรงสี ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ในการอธิบายอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มผู้ส่งออกข้าว ก็คือ หากกรมสรรพากรดำเนินการเข้มงวด จะเป็นการสร้างภาระให้แก่ชาวนา เพราะภาระภาษีจะถูกผลักไปให้ชาวนาแทน ซึ่งในทางปฏิบัติของกฎหมายภาษีนั้น เราไม่เข้าไปเก็บภาษีชาวนาอยู่แล้ว
"ช่วงนี้ที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น พ่อค้าส่งออกและโรงสี มีกำไรมากขึ้น เราก็จะพิจารณาว่าควรที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ แต่ละปีไม่ถือว่ามากนัก หรืออยู่ในหลักร้อยล้านบาท แต่เราเห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี จะสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีให้มากยิ่งขึ้น" เขากล่าว
เขากล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีการหลบเลี่ยงภาษี โดยการจัดตั้งเป็นคณะบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาตัวกฎหมายอาจจะไม่มีความชัดเจน ในเรื่องความหมายของคณะบุคคลว่า ควรจะตีความหมายของคำว่า คณะบุคคลว่าอย่างไร ทำให้มีการหลบเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนมาก โดยวิธีตั้งคณะบุคคลขึ้นเป็นจำนวนมาก บางธุรกิจตั้งคณะบุคคลขึ้นเป็นร้อยๆ คณะ และไม่ตรงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทำให้เราจะต้องเรียกประเมินภาษีของคณะบุคคลในบางคณะ
การพิจารณาของกรมจะพิจารณาว่า คณะบุคคลที่ตั้งขึ้นมา เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกฎหมายต้องการสนับสนุนให้ธุรกิจที่ยังไม่พร้อมในการตั้งเป็นรูปนิติบุคคล สามารถจัดตั้งในรูปคณะบุคคล ซึ่งฐานรายได้ของคณะบุคคลไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้อื่นๆ ของบุคคลนั้นๆ ทำให้ภาระภาษีของบุคคลนั้นๆ ต่ำลง เนื่องจากอัตราภาษีบุคคลธรรมดาของไทย เป็นอัตราก้าวหน้า
"แต่บางคณะบุคคลบางกลุ่ม เราเห็นว่าอาจไม่ได้ตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายยอมให้จัดตั้ง เช่น มีคนคนหนึ่งมีชื่อเป็นคณะบุคคล เป็นร้อยๆ คณะ หรือ คณะบุคคลนั้นๆ ดำรงอยู่อย่างถาวรยาวนาน จนไม่น่าจะอยู่ในรูปของคณะบุคคล แต่ควรแปรสภาพเป็นนิติบุคคลได้แล้ว ซึ่งเราจะเรียกประเมินภาษีของคณะบุคคลบางคณะ โดยจะไม่ตีความว่าเป็นคณะบุคคล เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการประเมินภาษีคณะบุคคลประเภทนี้ ในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพากรเคยเรียกประชุมคณะบุคคลในธุรกิจต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจและขอข้อมูลจากคณะบุคคลเหล่านั้น" เขากล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงที่รัฐบาลมีแผนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคด้านต่างๆ การรับช่วงงานต่อจากบริษัทใหญ่ที่ได้รับสัมปทานหรือที่เรียกว่า sub contract ก็จะมีมากขึ้น ขณะที่ก็จะมีพฤติกรรมการแตกงานให้มีมูลค่างานหรือรายได้ไม่ถึง 2 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องมีภาระจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นกรมสรรพากรจะเข้าไปดูแลการเสียภาษีของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยปกติเมื่อหน่วยงานราชการทำสัญญาการจ้างงานกับภาคเอกชนแล้ว จะมีการแจ้งมายังกรมสรรพากร เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประเมินภาระภาษี
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |