สำนักข่าวเวียดนาม (วีเอ็นเอ) อ้างคำกล่าว นายเหงียน ตานห์ เบียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ว่า รัฐบาลจะห้ามส่งออกข้าวไปจนถึงเดือนมิ.ย. 2551 แม้ว่าเริ่มมีการเพาะปลูกข้าวครั้งใหญ่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ อู่ข้าวสำคัญของประเทศ เพื่อลดปริมาณแต่เพิ่มมูลค่าและรายได้จากการส่งออก ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
นายเหงียน กล่าวว่า ปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 1 ล้านตัน มีรายได้ราว 400 ล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขของสำนักงานสถิติรัฐบาลระบุว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวเกือบ 1.6 ล้านตัน มีรายได้ 775 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิม 73% ข้าวที่เวียดนามส่งไปฟิลิปปินส์เมื่อเร็วๆ นี้ มีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ถึงตันละ 1,200 ดอลลาร์ และคาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกอาจขยับขึ้นไปแตะระดับ 1,500 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนหน้า และไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2553
นายเหงียน ตัน ดุ่ง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม มีคำสั่งก่อนหน้านี้จำกัดการส่งออกข้าวอยู่ที่ 3.5 ล้านตัน ลดลงจากเป้าหมายเดิม 4.5 ล้านตัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาปริมาณข้าวในประเทศ และลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคในเวียดนามเพิ่มขึ้น 17% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาข้าวและธัญพืชอื่นๆ เพิ่มขึ้น 25% ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และเกิดการผละงานประท้วง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ส่งออกที่ต้องการเข้าร่วมการประมูลข้าวที่ฟิลิปปินส์ล็อตสอง ได้เข้าหารือกับกรมการค้าต่างประเทศ ถึงแนวทางการประมูลข้าว เพราะรัฐบาลเวียดนามได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมประมูล จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ หรือได้รับการรับรองจากภาครัฐทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ และอาจต้องเสียตลาดดังกล่าวให้กับเวียดนามทั้งหมด
เรื่องดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะส่งหนังสือประท้วงการกำหนดเงื่อนไขการประมูลดังกล่าวหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดกว้างสำหรับผู้ส่งออกจากทุกประเทศไม่เฉพาะแต่เวียดนาม
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลเวียดนามห้ามบริษัทเอกชนเวียดนามส่งออกข้าวไปจนถึงเดือนมิ.ย.นี้ น่าจะเป็นแนวทางจัดการสต็อกภายในประเทศเวียดนาม เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีข้าวส่งออกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะแม้ผู้ส่งออกข้าว เวียดนามจะถูกห้ามส่งออก แต่ในส่วนภาครัฐยังสามารถส่งออกได้ ซึ่งเวียดนามมีรูปแบบการส่งออกปีนี้ด้วยการเน้นตลาดที่เดิมที่เป็นลูกค้าเก่า โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ คาดว่าในการประมูลข้าวของฟิลิปปินส์วันที่ 5 พ.ค.นี้ ปริมาณ 6.5 แสนตัน ทางเวียดนามจะเสนอขายครบจำนวน ส่วนราคาต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเสนอเท่าใด
"ในภาพรวมการส่งออกไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการล่าสุดที่เวียดนามออกมากประเทศ เพราะเป็นการห้ามเอกชนเท่านั้นแต่ภาครัฐยังส่งออกได้เต็มที่หลักๆ เวียดนามต้องการให้แน่ใจว่าจะมีข้าวส่งออกได้ตามคำสั่งซื้อที่รับไว้โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเก่าๆ เช่น ฟิลิปปินส์“ นายชูเกียรติ กล่าว
เขากล่าวว่า การประมูลรอบใหม่ ผู้ส่งออกไทยน่าจะเสียโอกาส เพราะรัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดเงื่อนไขผู้เข้าร่วมประมูลต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลประเทศนั้น เท่ากับว่าเวียดนามประเทศเดียวเสนอขายครั้งใหม่ เพื่อไม่ให้ไทยเสียตลาดส่งออกข้าวให้เวียดนาม ทางรัฐบาลไทยต้องออกหน้าเข้าประมูลขายผ่านระบบจีทูจี
ชาวนาถูกขโมยข้าวไม่กล้าแจ้งความ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวถึงการขโมยเกี่ยวข้าวในทุ่งนาในปีนี้ว่า เริ่มมีเป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยเฉพาะในแถบภาคกลาง แต่ชาวนาไม่กล้าแจ้งความเนื่องจากพื้นที่ที่ถูกขโมยส่วนใหญ่เป็นนาเช่า อาจเสี่ยงต่อการที่เกษตรกรจะไม่ได้เช่าที่นาอีก เป็นการสร้างความวุ่นวาย ปัจจุบันราคาข้าวที่สูงขึ้น มีชาวนาจำนวนมากที่ต้องการเช่าที่นาเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ถูกขโมยเกี่ยวข้าวจึงต้องก้มหน้ายอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้นเอาไว้เอง และเตรียมการป้องกันการขโมยข้าวในการปลูกรอบต่อไป ซึ่งมีช่วงที่ควรระวัง 2 ช่วง คือ 1. การแช่เมล็ดพันธุ์เพื่อเตรียมหว่าน และ 2. ช่วงก่อนเก็บเกี่ยวก่อน 7 วัน ระหว่างนี้เกษตรกรจะต้องจัดเวรยามเฝ้าระวังโดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่เกิดการขโมยได้ง่าย
ทั้งนี้การขโมยเกี่ยวข้าวในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า ต้องเป็นผู้ที่มีรถเกี่ยวเป็นของตนเองแน่ เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถเกี่ยวได้เร็วที่สุด จุข้าวได้ 2 ตันต่อครั้ง ใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น เมื่อเกี่ยวเสร็จแล้วสามารถเคลื่อนย้ายได้ทันที ทำให้จับตัวได้ยาก
“เกษตรกรบางรายมีบ้านที่อ่างทอง แต่เช่านาอยู่อยุธยา การเฝ้าระวังเรื่องขโมยจึงลำบาก ตอนนี้การทำนานอกจากจะมีต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วยังต้องจ้างยามเฝ้าที่นาอีก เหมือนเป็นการซ้ำเติมทำร้ายชาวนาด้วยกันเอง อยากเรียกร้องให้องค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย โดยควรเข้ามาสอดส่องดูแลให้มากขึ้นโดยเฉพาะช่วงที่ข้าวใกล้เก็บเกี่ยว“ นายประสิทธิ์ กล่าว
ขโมยทุกรูปแบบพันธุ์ข้าวในน้ำ
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่าการขโมยจะเป็นพันธุ์ข้าวที่แช่อยู่ในน้ำเตรียมนำมาหว่านมากกว่า ได้แจ้งเตือนเกษตรกรไปแล้วให้เพิ่มความระมัดระวัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพันธุ์ข้าวมีน้อยหาซื้อยากและราคาแพง โดยพันธุ์ข้าวที่โรงสีจำหน่ายมีราคาสูงถึงกิโลกรัม 26 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 17 บาท เป็นราคาสูงกว่าของกรมการข้าวที่จำหน่ายอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 13-15 บาทแล้วแต่สายพันธุ์
ปัจจุบันพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจำนวน 7 หมื่นตัน ต้องเก็บไว้เพื่อปลูกในโครงการ 1 หมื่นตัน เปิดให้เกษตรกรสั่งจองเหลือจำหน่ายขณะนี้เพียง 536 ตัน ซึ่งน้อยมากหากเกษตรกรไม่เก็บพันธุ์ข้าวไว้เอง หรือมีการขโมยพันธุ์ข้าว คาดว่ามีเป็นปัญหามากในการปลูกข้าวนาปีรอบ 2551/2552 นี้
ดังนั้นในการปลูกพันธุ์ข้าวในปี 2551/2552 นี้ กรมการข้าวได้หารือกับเกษตรกรในโครงการ 340 ราย เพื่อทำความตกลงว่าจะส่งพันธุ์ข้าวคืนให้กับโครงการทั้งหมด ซึ่งกรมการข้าวจะรับซื้อคืนในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดประมาณ 10-20%
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงบประมาณการรับซื้อในขณะนี้มีเพียง 900 ล้านบาท ไม่เพียงพอกับราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น ดังนั้นจึงเสนอขอกู้เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อนำมาสมทบเป็น 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะพิจารณาเร็วๆ นี้
ประชาชนแห่ซื้อข้าวสารงานธงฟ้า
วานนี้ (26 เม.ย.) ประชาชนจำนวนมาก เดินทางมาซื้อข้าวสารบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม ที่นำมาขายในราคาถูกกว่าห้างสรรพสินค้าในงาน ธงฟ้า เอาท์เลต เซล ที่จัดขึ้นที่กรมส่งเสริมการส่งออก ถนนรัชดาภิเษก ทำให้ข้าวบางยี่ห้อจำกัดจำนวนการซื้อไว้ 3 ถุงต่อคน ขณะที่บางยี่ห้อ อาทิเช่น โรงสีตังฮั้ว จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดขายไม่จำกัดจำนวน เพราะราคาถูกกว่าห้างสรรพสินค้า 10-20%
"ยูเอ็น"ชี้อาหารแพงวิกฤติของโลก
นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเวียนนา ออสเตรีย เมื่อวันศุกร์ (25 เม.ย.) ว่า ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นวิกฤติที่แท้จริงของโลก ยูเอ็นกังวลเรื่องนี้อย่างมาก และต้องการให้สมาชิกทั้งหมดร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภายในประชาคมระหว่างประเทศ
ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันเป็นผลจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการมากขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนา การแบ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง
นายบัน ประเมินว่า ประชากรโลกผู้ยากจนประมาณ 100 ล้านคน ที่ไม่เคยเรียกร้องความช่วยเหลือมาก่อน อาจไม่สามารถซื้อหาอาหารได้เองแล้ว ในระยะสั้นอาจเกิดวิกฤติขาดแคลนผู้ใจบุญ จะส่งผลกระทบต่อคนยากจนทั่วโลก พร้อมเผยว่าโครงการอาหารโลกเรียกร้องเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 755 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ด้านนางโจเซต ชีราน ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก กล่าวก่อนหน้านี้ว่า หน่วยงานแห่งนี้ประสบปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้น 40% และต้องการความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับราคาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นมาแล้ว 83% ภายในเวลา 3 ปี
ประชุมร่วมเอฟเอโอหารือแก้วิกฤติ
ในสัปดาห์หน้า นายบันจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับบรรดาผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก ประธานธนาคารโลก และผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหารือวิกฤติอาหารแพงที่กำลังส่งผลกระทบต่อชาวโลกอยู่ในขณะนี้
นายฌากส์ ดิอูฟ ผู้อำนวยการเอฟเอโอ เตือนว่า ภาวะขาดแคลนอาหารอาจก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองในบางประเทศ และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบอาหารระหว่างประเทศ รวมทั้งตำหนิบรรดาผู้นำระหว่างประเทศที่เพิกเฉยต่อคำเตือนของเอฟเอโอในช่วงก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน องค์การการประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังค์ถัด) ซึ่งจัดประชุมที่กรุงอักกรา เมืองหลวงของกานา ออกแถลงการณ์ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการโดยด่วน เพื่อค้ำจุนความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก และจะเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อสรุปการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา สำหรับในระยะสั้น ประเทศที่ร่วมประชุมเห็นพ้องที่จะดำเนินมาตรการเพื่อตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศกำลังพัฒนา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |