นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า วานนี้ (2 เม.ย.) สมาคมได้ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ราคาข้าวประจำสัปดาห์ โดยคาดการณ์กันว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นอีก หลังจากที่อินเดียได้ประกาศหยุดส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมที่ใช้มาตรการกำหนดเพดานส่งออกข้าวในอัตราตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ส่งออกไม่มีข้าวที่จะส่งออกแล้ว เพราะล่าสุดมีสต็อกรวมกันเพียง 1 ล้านตัน ส่วนข้าวนาปรังที่จะออกมา 6 ล้านตัน ในเดือนมี.ค.-มิ.ย.นี้ ถูกพ่อค้าคนกลาง โรงสี และนายทุนท้องถิ่น กว้านซื้อไปเก็งกำไรหมดแล้ว
รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวออกต่างประเทศ แจ้งว่า ในที่ประชุมได้มีการรายงานราคาข้าวส่งออกล่าสุดประจำวันที่ 2 เม.ย. โดยราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนในวันที่ 26 มี.ค.ประมาณ 150-170 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือคิดในรูปเงินบาทประมาณ 4,650-5,270 บาทต่อตัน ในรอบ 1 สัปดาห์ โดยข้าวหอมมะลิจากราคาปี 2550/2551 เกรดเอ ราคาเพิ่มจาก 920 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 1,009 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนข้าวขาว 100% ชั้น 1 ราคาเพิ่มจาก 672 ดอลาร์สหรัฐต่อตันเป็น 827 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาเพิ่มจาก 624 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 795 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวสาร 5% ราคาเพิ่มจาก 611 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 779 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวสาร 25% ราคาเพิ่มจาก 596 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 740 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
บรรยินเบรกมิ่งขวัญชี้ลดต้นทุนข้าวถุงได้อีก
พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เขาได้ท้วงติงใน ครม.ในการนำข้าวในสต็อกรัฐบาล มาทำข้าวถุงราคาถูกจำหน่ายให้กับประชาชน เพราะเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์น่าลดต้นทุนในการบรรจุข้าวถุงลงได้อีก โดยตัวเลขที่เสนอเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรจุถุงสูงถึง 10.15 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัมนั้น แพงเกินไป ซึ่งหากลดลงมาได้ ก็จะทำให้ข้าวถุงที่นำมาจำหน่ายให้กับประชาชนมีราคาถูกลงอีก
“ผมไม่ได้ออกมาคัดค้านอะไร ผมเห็นด้วยกับการทำข้าวถุงราคาถูกออกมาขายให้กับประชาชน เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าครองชีพ เพียงแต่อยากให้มันถูกลงกว่านี้ อยากให้ไปดูว่ารายละเอียดของกระบวนการทำจนเป็นข้าวถุง มันลดตรงไหนได้อีก เพราะราคาค่าโน่นค่านี่จนเป็นข้าวถุง 5 กิโลกรัม สูงถึงถุงละ 10.15 บาท แพงมาก ในจำนวนนี้เป็นค่าปรับปรุง 4.60 บาท เป็นค่าถุง 2.80 บาท ค่าขนย้าย 2.25 บาท เป็นไปได้ยังไง ผมว่าลดได้อีก ถ้าตรงนี้ลดได้ ราคาข้าวก็ลดได้” พ.ต.ท.บรรยิน กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เสนอ ครม. ว่าจะนำข้าวสาร 5% ในสต็อกรัฐบาลจำนวน 6.5 แสนตัน มาบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ขายราคาถูกให้กับประชาชนถุงละ 72-86 บาท ซึ่งแล้วแต่ว่าเป็นข้าวที่รับจำนำมาในปีไหน เป็นข้าวนาปีหรือนาปรัง ทำออกมาจำหน่ายเดือนละ 1 แสนตัน โดยราคาราคาข้าวถุงในตลาดขณะนี้อยู่ที่ 76-88 บาท
พ.ต.ท.บรรยิน กล่าวว่า ปริมาณข้าวในสต็อกที่จะนำออกมาบรรจุถุง 6.5 แสนตันนั้น เห็นว่าเป็นปริมาณที่มากเกินไป ควรจะแทรกแซงตลาดในปริมาณที่ไม่มาก เพราะถ้ามากกลไกตลาดจะปั่นป่วนโดยการแทรกแซงไม่ควรจะทำนาน แค่ 1-2 เดือน ก็เพียงพอ เนื่องจากข้าวฤดูกาลใหม่จะออกมาแล้วในเร็วๆ นี้ ทำให้ปริมาณข้าวมีเพียงพอที่จะบริโภคแน่นอน
“ตอนนี้ข้าวในสต็อกรัฐบาลที่จะนำมาขาย มีต้นทุนตันละ 15,000 บาท แต่ราคาขายตอนนี้ตันละ 19,000 บาท รัฐต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรบ้าง ถ้าเอาไปขายก็กำไรตันละ 4,000 บาท มันก็เหมือนเล่นหุ้น ตอนนี้หุ้นขึ้น ถ้าขายก็กำไร ก็ควรจะขาย มันพีคสุดๆ แล้วเดี๋ยวข้าวใหม่ก็ออกมา ไม่รู้ว่าราคาจะเป็นยังไง แต่ถ้าเราเอาไปขายบ้าง ได้กำไรมา ก็เอาเงินคืนรัฐบาล ผมพูดผมห่วงประโยชน์ประชาชน ผมห่วงประโยชน์ประเทศชาติ ไม่ได้จ้องโจมตีใคร” พ.ต.ท.บรรยิน กล่าว
ผู้ผลิตข้าวถุงชี้ข้าวธงฟ้าราคาต่ำเกินเหตุ
นายบุรินทร์ ธนถาวรลาภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าวแสนดี จำกัด ผู้จำหน่ายข้าวตราแสนดี กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลส่งข้าวถุงธงฟ้าออกมาจำหน่ายในราคาต่ำประมาณ 78 บาทต่อ 5 กิโลกรัมนั้น ตนเองมองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแย่งชิงข้าวจากประชาชนทั่วไป รวมถึงกลุ่มคนที่คิดจะซื้อไปเก็งกำไร ทำให้ข้าวธงฟ้าที่ออกมา ไม่ถึงมือผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้
รัฐบาลจึงควรกำหนดราคาอยู่ประมาณ 90-100 บาท ต่อข้าวขาว 5 กิโลกรัม ถูกกว่าราคาขายในตลาดที่ปัจจุบันจำหน่ายอยู่ที่ 130 บาทต่อข้าวขาว 5 กิโลกรัม ประมาณ 30 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม
"ผมเชื่อว่าระดับราคาข้าวที่ห่างกันถุงละ 30 บาทนั้น ผู้บริโภคสามารถยอมรับได้ และไม่ส่งผลทำให้เกิดช่องว่างราคาข้าวที่สูงจนทำให้เกิดปัญหาการแย่งกันซื้อตุนเพื่อบริโภค หรือบางรายอาจต้องการนำไปเก็งกำไร เพราะช่องว่างราคามันไม่มากจนเกินไป รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวัง"
ผู้ผลิตข้าวถุงโอดต้นทุนค่าวางสินค้าพุ่ง
นายบุรินทร์กล่าวว่า ต้นทุนสินค้าข้าวถุงประกอบด้วยต้นทุนจากข้าว ซึ่งราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด ต้นทุนค่าปรับปรุง ทำความสะอาดขัดสี ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีข้าวสูญเสียประมาณ 3% ของข้าวทั้งหมด ต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ค่าแรงงาน ค่าดอกเบี้ย เงินเดือนพนักงานและค่าบริหารจัดการภายใน ทำให้ต้นทุนรวมอยู่ที่ 12 บาทต่อข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัม แต่ถ้ารวมต้นทุนการวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ก็จะเป็น 17 บาทต่อถุง
ทั้งนี้ส่วนต่างต้นทุนระหว่างต้นทุนไม่รวมค่าวางจำหน่ายในห้าง กับต้นทุนที่รวมค่าวางจำหน่ายในห้าง มีส่วนต่างกันถึง 8-9% ซึ่งถือว่าสูงมาก หากรัฐต้องการจะช่วยเหลือประชาชนในภาพรวม ก็อยากให้รัฐช่วยดูแลต้นทุนจากส่วนต่างนี้ เพื่อให้การจำหน่ายสามารถลดราคาข้าวถุงลงมาได้ระดับหนึ่ง
แหล่งข่าวจากวงการข้าวถุง กล่าวว่า การที่ข้าวถุงขาดตลาด เป็นเพราะตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าราคาข้าวจะสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีโอกาสถึงตันละ 30,000 บาท หรือกระสอบละ 3,000 บาท ทำให้มีการรีบกักตุนข้าว เพราะกลัวว่าจะต้องบริโภคข้าวในราคาที่แพงขึ้น
นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลคงต้องหาวิธีการกระจายสินค้าไปให้ถึงมือกลุ่มผู้บริโภคที่เดือดร้อนให้มากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่า ตามหลักการ หากช่องว่างราคาสินค้าต่ำกว่าราคาขายในตลาดมาก อาจมีผลทำให้แห่กันมาแย่งซื้อ แต่ในส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะเป็นเรื่องที่สังคมจับตาดูอยู่ว่าคนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนจะได้รับการช่วยเหลือจริงหรือไม่
ข้าวถุงจับมือต้านโมเดิร์นเทรด
นายสมฤกษ์กล่าวถึงปัญหาช่องทางการจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการข้าวถุงได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะต้องใช้เงินสดซื้อวัตถุดิบมาผลิตข้าวถุงขาย ขณะที่โมเดิร์นเทรด กำหนดเครดิตนานถึง 80 วัน ทั้งๆ ที่ความต้องการข้าวถุงสูงมาก ซึ่งเครดิตควรจะอยู่ที่ 15 วัน รวมทั้งทางโมเดิร์นเทรดควรที่จะลดส่วนลดต่างๆ ลง เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการข้าวถุงอยู่ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดสมาคมได้หารือร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีแนวคิดที่จะรวมตัวกันเพื่อนำข้าวถุงทุกยี่ห้อ ออกขายตามช่องค้าปลีกแบบดั้งเดิม เช่น ตลาดสด และร้านค้าปลีกต่างๆ แทนที่จะขายผ่านโมเดิร์นเทรด ซึ่งมีต้นทุนการตลาดสูงถึง 20% คาดว่าจะเห็นภาพความชัดเจนในเร็วๆ นี้ เพราะปัจจุบันทุกยี่ห้อต่างได้รับผลกระทบกันอย่างรุนแรง
มิ่งขวัญสั่งคิดต้นทุนข้าวธงฟ้าใหม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายมิ่งขวัญสั่งการให้องค์การคลังสินค้า ( อคส.) เร่งจัดทำแนวทางการกระจายข้าวสาร พร้อมคำนวณต้นทุนราคาขายข้าวถุงใหม่ โดยต้นทุนที่ อคส.ระบุไว้ว่า จะสามารถจำหน่ายข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัม ประเภทต่างๆ ในราคาระหว่าง 72.10-86.50 บาท เป็นการคำนวณจากต้นทุนแท้จริงทางการผลิตเพียงอย่างเดียว โดยยังไม่ได้นับรวมถึงต้นทุนจากดอกเบี้ยและต้นทุนการขนส่งสินค้าจากส่วนกลาง ไปจำหน่ายยังจังหวัดต่างๆ ทำให้ราคาที่กำหนด ยังไม่ใช่ราคาขายที่แท้จริง
“นายมิ่งขวัญต้องการให้ข้าวบรรจุถุงที่ขายให้ประชาชน มีราคาเดียวกันทั้งประเทศ จึงมอบหมายให้อคส.นำค่าขนส่งและต้นทุนทั้งหมดมาเฉลี่ยไว้ในราคาข้าวถุงที่จะจำหน่ายให้กับประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนในต่างจังหวัดซื้อข้าวแพงกว่าคนในเมือง” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า จะทำให้ราคาข้าวถุงเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือให้คนต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงมีค่าแรงขั้นต่ำน้อยกว่าคนในเมือง มีข้าวสารที่มีคุณภาพบริโภคในราคาเหมาะสม โดยราคาข้าวที่จำหน่ายจะถูกกว่าของเอกชน 10-15 บาทต่อถุง
ให้รายได้อบต.ช่วยกระจายข้าว
ส่วนแนวทางการกระจายข้าวถุง เบื้องต้นจะใช้จำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดมาเป็นตัวหลัก ในการกระจายข้าวไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้การกระจายข้าวเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ และเมื่อกระจายข้าวไปยังจังหวัดต่างๆ แล้ว จะมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะให้ส่วนแบ่งรายได้ให้กับ อบจ.และ อบต.เล็กน้อย เพื่อป้องกันปัญหาการจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการขาดแคลนข้าว รัฐบาลจะมีการกันข้าวส่วนหนึ่งไว้เป็นเซฟตี้สต็อก และส่วนที่เหลือจึงจะจำหน่ายให้กับประชาชน โดยคาดว่ารัฐจะสามารถจำหน่ายข้าวถุงราคาประหยัดได้อย่างช้าที่สุดประมาณต้นเดือนพ.ค. 2551 เพราะต้องพยายามวางระบบการจัดการให้ข้าวไปถึงมือรากหญ้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากที่สุด
ส่วนการซื้อข้าวบรรถุงนั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางที่ชัดเจนว่า จะกำหนดโควตาการซื้อของประชาชนอย่างไร เพื่อให้ข้าวกระจายลงไปถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง และไม่ทำให้เกิดการซื้อเพื่อกักตุน
สศก.เผยต้นทุนปลูกข้าว 5.2 พันบาท/ไร่
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จากการสำรวจการเช่าพื้นที่นาปี 2549-2551 ชาวนาต้องเช่าที่นาปลูกข้าวถึง 40% โดยนาปีค่าเช่าประมาณ 212.20 บาทต่อไร่ นาปรัง 375.64 บาทต่อไร่ และจากการคิดค่าเฉลี่ยของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่คิดก่อนการปรับราคาน้ำมัน เมื่อเดือนพ.ย.-พ.ย.2550 มีต้นทุนอยู่ที่กว่า 4,000 บาท/ตัน จึงส่งผลให้กำไรจากการขายข้าว เมื่อต้นปีสูงขึ้นเท่าตัว
ขณะนี้ต้นทุนการปลูกข้าวปี 2551 นาปีประมาณ 5,971 บาทต่อตัน ส่วนข้าวนาปรังอยู่ที่ประมาณ 5,276 บาทต่อตัน แม้ต้นทุนการผลิตข้าวจะมีราคาสูงขึ้น แต่ก็เชื่อว่าชาวนาที่จะปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 จะได้กำไรเพิ่มขึ้น แต่ราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นเกือบ 70% น่าจะเป็นโอกาสผลักดันให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมี จะทำให้ชาวนาลดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญเกษตรกรต้องเสี่ยงกับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือจากปริมาณน้ำที่กรมชลประทานต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้มีการขาดแคลนน้ำ
ยูเอ็นคาดการผลิตข้าวเพิ่ม 1.8% ปีนี้
สำนักงานอาหารของยูเอ็น คาดว่าการผลิตข้าวในโลกจะเพิ่มขึ้น 1.8% หรือ 12 ล้านตันปีนี้ ถ้าสภาพอากาศเป็นปกติ อาจจะช่วยบรรเทาสถานการณ์การจัดหาข้าวที่ตึงตัวในประเทศผู้ผลิตรายสำคัญๆ ได้
คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นในประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ ในเอเชีย รวมถึงไทย จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ขณะที่แนวโน้มในแอฟริกาและละตินอเมริกา ก็ดีเช่นกัน แต่การค้าข้าวระหว่างประเทศอาจลดลงต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เพราะข้อจำกัดในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |