www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ผู้ส่งออกกำเงินสดแย่งซื้อข้าวทั่วปท. ราคาตลาดโลกทะลุพันเหรียญ/ตัน


     ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิฤดูกาลผลิตปี 2550/2551 ในวันที่ 26 มีนาคม 2551 ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 920 เหรียญสหรัฐ/ตัน , ข้าวหอมมะลิฤดูกาลผลิตปี 2549/ 2550 อยู่ที่ 904 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ข้าวหอมปทุมธานีอยู่ที่ 775 เหรียญสหรัฐ/ตัน, ข้าวขาว 100% 624 เหรียญสหรัฐ/ตัน และข้าวขาว 25% 596 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งถือว่าราคาข้าวได้พุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิที่มีโอกาสที่จะพุ่งขึ้นไปถึง 1,000 เหรียญสหรัฐแน่นอน

     ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวสำคัญของโลกทั้งอินเดีย-เวียดนาม ได้ประกาศงดส่งออกข้าว ท่ามกลางกระแส "ขาดแคลนอาหาร" ที่ถูกจุดประกายขึ้น ทำให้ฟิลิปปินส์ยอมซื้อข้าวราคาแพงลิบลิ่วจากทั้งไทยและเวียดนามขอให้มีข้าวส่งออก

     ปรากฏการณ์ข้างต้นยิ่งดันให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ขณะที่ประเทศไทยผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดยังคงส่งออกข้าวอยู่ แม้จะได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ต่างก็หวั่นเกรงกันว่าถึงที่สุดแล้ว ไทย "อาจจะ" เกิดปัญหาข้าวไม่พอส่งออก รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องรับภาระราคาข้าวภายในที่ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

     ขณะที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศนโยบายนำ "สต๊อกข้าว" รัฐบาลที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านตันออกมาผลิต "ข้าวถุง" พร้อมทั้งแนะนำให้เกษตรกรเก็บสต๊อกข้าวเพื่อดึงให้ราคาสูงเทียบเท่ากับการส่งออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับชาวนาเอง

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หากสถานการณ์ราคาข้าวยังอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นนี้ต่อไป รัฐบาลควรศึกษามาตรการเพื่อชะลอการส่งออกข้าวได้แล้ว โดยอาจจะนำแนวทางของอินเดียหรือเวียดนามมาใช้ หรือกำหนด "โควตา" ส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง

     เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวในตลาดได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก หลังจากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมาสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องชะลอการขายข้าว ส่งผลให้ผู้ส่งออกไม่สามารถหาซื้อข้าวในตลาดได้ คาดว่าการรับออร์เดอร์ส่งออกข้าวในไตรมาสที่ 2/2551 จะหายไป 30%

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ประกาศเพิ่มราคาเพดานข้าวจาก 650 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน สำหรับข้าวทุกชนิด "ยกเว้น" ข้าวบาสมาติ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า "อินเดียไม่ต้องการส่งออกข้าวแล้ว" ส่งผลด้านจิตวิทยาต่อราคาข้าวส่งออกมาก ขณะที่เวียดนามได้ประกาศเก็บภาษีส่งออกข้าวไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อชะลอการส่งออก พร้อมทั้งลดเป้าหมายการส่งออกข้าว 10 เดือนแรกของปีนี้ให้เหลือไม่เกิน 3.5 ล้านตัน เพราะเกรงว่าจะไม่มีข้าวสำหรับส่งมอบรัฐบาลฟิลิปปินส์

     แต่รัฐบาลไทยกลับดำเนินการ "สวนทาง" กับต่างประเทศ ด้วยการให้ความสำคัญกับการส่งออก จนน่าเป็นห่วงสถานการณ์ข้าวสำหรับการบริโภคในประเทศ เพราะแนวโน้มความต้องการข้าวในต่างประเทศยังมีเพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังจะเปิดประมูลข้าวในวันที่ 17 เมษายนนี้ ปริมาณ 500,000 ตัน เป็นข้าวขาว 25% 400,000 ตัน, ข้าว 15% ปริมาณ 50,000 ตัน และข้าว 5% ปริมาณ 50,000 ตัน และจะซื้อข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G) จากรัฐบาลเวียดนามอีก และยังมีอินโดนีเซีย กับอิหร่าน ที่ยังไม่ได้เริ่มนำเข้าข้าวในปีนี้ด้วย

     "การทำข้าวถุงพาณิชย์ จะช่วยผู้บริโภคในประเทศได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะสต๊อกข้าว 2 ล้านตัน หากบริโภคในประเทศได้อย่างมากไม่เกิน 3 เดือน ชนิดของข้าวก็เป็นข้าวเก่า และชนิดไม่ตรงความต้องการ อีกทั้งปีนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายจำนำข้าวก็เท่ากับว่าไม่มีสต๊อกข้าวสำรองอีก หากถึงเวลานั้นจะทำอย่างไร ผมเองมองว่า การมีมาตรการดูแลการส่งออกข้าวลดลงเหลือเดือนละ 700,000-800,000 ตัน อาจจะทำให้ยอดการส่งออกข้าวในไตรมาสหลังลดลง แต่ไม่กระทบต่อเป้าหมายการส่งออก 8.75 ล้านตัน เพราะ 3 เดือนแรกไทยส่งออกข้าวไปถึง 3 ล้านตันแล้ว" นายชูเกียรติกล่าว

     ในอีกด้านหนึ่งผู้ส่งออกกับโรงสีก็เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นมาก หลังจากโรงสีบางส่วนไม่ส่งมอบข้าวให้กับผู้ส่งออกตามกำหนด ทำให้เกิดหนี้ระหว่างกันประมาณ 1 ล้านกระสอบ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 1.6 พันล้านบาท จนถึงขณะนี้โรงสีบางโรงนำข้าวที่ได้รับออร์เดอร์กับรายหนึ่งไปขายให้กับรายหนึ่ง เนื่องจากผู้ส่งออกรายแรกไม่ชำระเงินที่ติดหนี้เก่า ทำให้โรงสีมีปัญหาสภาพคล่อง ผู้ส่งออกขาดสินค้า จนกลายเป็นปัญหางูกินหางไปแล้ว

     ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงสีเก็บสต๊อกข้าวเปลือกรวมประมาณ 7 ล้านตัน "มากกว่า" ผู้ส่งออก เงื่อนไขการจำหน่ายข้าวให้กับผู้ส่งออกเปลี่ยนไป โดยจะขายให้กับผู้ส่งออกที่สามารถชำระเป็น "เงินสด" ทันที ซึ่งขณะนี้ก็มีเพียงบริษัทพงษ์ลาภ กับบริษัทนครหลวงค้าข้าว ที่แย่งกันซื้อข้าวอยู่ แม้ว่าจะให้ราคาต่ำกว่าผู้ส่งออกที่ใช้เครดิตเล็กน้อยก็ตาม สาเหตุที่โรงสีส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเก็บสต๊อกข้าว ก็เนื่องจากมีความมั่นใจว่าราคาข้าวโดยรวมจะปรับตัวสูงขึ้นถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ/ตันแน่นอน

     ล่าสุด นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศจะเตรียมเปิดประมูลข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2547/48 และ 2548/49 ในสต๊อกรัฐบาล ประมาณ 300,000 ตัน ต้นเดือนเมษายน เพื่อทำ "ข้าวถุงธงฟ้า" โดยจะเปิดประมูลข้าวลอตแรกเพื่อให้กลุ่มโรงสีนำไปใช้ผลิตเป็นข้าวถุงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน สำหรับข้าวลอตแรก 3 แสนตัน จะนำมาทำข้าวถุงประมาณ 3 หมื่นตัน หรือประมาณ 10% เพื่อลดความร้อนแรงด้านราคาข้าวถุง ซึ่งพุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 25 บาท

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.