กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ประเมินสถานการณ์น้ำและกำหนดพื้นที่เป้าหมายปลูกพืชฤดูแล้ง โดยได้กำหนดพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งไว้ที่ 12.83 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 10.03 ล้านไร่ พืชไร่และพืชผัก 2.80 ล้านไร่ ณ วันที่ 28 มกราคม 2551 เกษตรกรได้ปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วทั้งสิ้น 7.85 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรัง 7 ล้านไร่ พืชไร่พืชผักประมาณ 800,000 ไร่ อย่างไรก็ดีจากภาวะราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีคาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังจะใกล้เคียงหรือเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้
"ทางกรมฯมีความเป็นห่วงว่าปีนี้ชาวนาจะแห่ปลูกข้าวนาปรังกันจำนวนมาก เพราะเวลาผ่านไปยังไม่ถึง 3 เดือน โดยชาวนาเริ่มปลูกข้าวนาปรังกันราวเดือนพฤศจิกายนถึงขณะนี้มีพื้นที่ปลูกมากถึง 7 ล้านไร่แล้ว ช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าเชื่อว่าชาวนาจะปลูกข้าวนาปรังกันมากกว่านี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมานายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ช่วยติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรอย่างใกล้ชิดด้วย"
แหล่งข่าวจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จังหวัดพิจิตรได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังไว้ 660,000 ไร่ ณ สิ้นเดือนธันวาคมเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 500,000 ไร่ มีทั้งพื้นที่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน เนื่องจากปีนี้ราคาข้าวสูงมากจึงจูงใจให้เกษตรกรปลูก
ทั้งนี้กรมการค้าภายในรายงานราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้พบว่าข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% มีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ตันละ 6,700-7,300 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาจำนำที่รัฐบาลกำหนดตันละ 6,600 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 11,200-11,900 บาท ราคารับจำนำ 9,000-9,300 บาท ขณะที่ผู้ส่งออกนายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ระบุว่าราคาข้าวยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงช่วงเวลา 2 เดือนราคาข้าวสารในประเทศขึ้นถึงตันละ 3,000 บาท เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการและผู้ส่งออกแข่งขันกันซื้อ
ด้านแหล่งข่าวจากกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 28 มกราคม 2551 พบว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา เช่นเขื่อนสำคัญๆ ภาคเหนือได้แก่ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัด แม่กวง กิ่วลม มีปริมาตรน้ำรวมกัน 16,503 ลูกบาศก์เมตร ช่วงเดียวกันปี 2550 มีปริมาตรน้ำ 20,419 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขื่อนห้วยหลวง น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำปาว ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง สิรินธร ปริมาตรน้ำรวมกัน 5,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามีปริมาตร 5,792 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลางเขื่อนป่าสัก ทับเสลา กระเสียว ปริมาตรน้ำรวมกัน 972 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 1,031 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออก เขื่อนขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล ประแสร์ ปริมาตรน้ำรวมกัน 725 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามี 840 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ศกนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการเตรียมความพร้อมด้านภัยแล้งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ รองปลัดกระทรวงฯเป็นประธาน ในเบื้องต้นจากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของกรมทรัพยากรน้ำ พบว่ามีจังหวัดที่เสี่ยงเผชิญภัยแล้งแยกเป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี คือจังหวัดสระบุรี สมุทรสาคร หนองคาย จังหวัดที่มีฝนทิ้งช่วงติดต่อกัน 2 เดือนอุดรธานี เลย หนองคาย จังหวัดที่ระดับน้ำในลำน้ำต่ำได้แก่จันทบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี แพร่ น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ อ่างน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า40% อ่างน้ำแม่กวง และอ่างน้ำลำนางรอง จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 23 จังหวัด
"จากปริมาณน้ำฝนบางจังหวัดที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และปริมาณน้ำในเขื่อนโดยรวมต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ถือว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรสูง หากแต่ขณะนี้มีความหวังตรงที่กำลังเกิดปรากฎการณ์ลานิญากำลังปานกลาง (อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทางตะวันออกและตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ต่ำกว่าค่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยน้ำทะเลลึกลงไป 300 เมตร ทางตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2-5 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมมีกำลังแรง) ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้ช่วงฤดูร้อนปริมาณฝนของประเทศไทยจะสูงกว่าค่าปกติและอุณหภูมิต่ำกว่าค่าปกติ"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|