www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

รัฐล้มข้าวถุงธงฟ้า เซฟตี้สต็อก 2 ล.ตัน


      นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยวานนี้ (5 เม.ย.) ภายหลังการประชุมเรื่องยุทธศาสตร์การตลาดข้าวไทย ร่วมกับสมาคมเกี่ยวกับการค้าและผลิตข้าว 13 องค์กร เช่น สมาคมชาวนาไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ สมาคมข้าวถุง ว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกัน ที่จะให้รัฐบาลเก็บสต็อกข้าวที่มีอยู่ 2.1 ล้านตันไว้ ทำให้รัฐต้องยกเลิกโครงการข้าวถุง ที่เดิมกำหนดจะผลิตเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะข้าวราคาแพง

     ทั้งนี้จะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่จะมีการประชุมเร็วๆ นี้ ให้รับทราบ ทั้งนี้สาเหตุที่รัฐไม่ทำข้าวถุงเพราะต้องการเก็บสต็อกข้าวรัฐไว้เพื่อความมั่นคง (เซฟตี้สต็อก) และรอดูสถานการณ์ราคาและปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง ที่จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนเม.ย.- มิ.ย.นี้ นอกจากนี้จากการคำนวณค่าใช้จ่ายของประชาชน กรณีที่ข้าวขาวที่คนไทยบริโภคส่วนใหญ่ราคาสูงสุด 30,000 บาทต่อตัน ก็จะทำให้คนไทยต้องใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 2.10 -2.90 บาทต่อคนต่อหนึ่งอิ่ม หรือหนึ่งมื้อเท่านั้น

     นายมิ่งขวัญ กล่าวยืนยันว่า ข้าวจะไม่ขาดแคลนสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออกอย่างแน่นอน เนื่องจากจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งปี โดยข้าวเปลือกต่อปี 31 ล้านตัน เมื่อสีแปรเป็นข้าวสารจะมีปริมาณ 20-20.5 ล้านตัน เมื่อรวมแล้วคนไทยบริโภคข้าวทั้งปี 11 ล้านตัน แบ่งเป็นการบริโภคข้าวโดยตรง 6.5 ล้านตัน เฉลี่ย 104 กิโลกรัม (กก.) ต่อคนต่อปี เก็บไว้เป็นพันธุ์ข้าว 1 ล้านตัน สต็อกไว้ 2 ล้านตัน และที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่งออกประมาณ 9 ล้านตัน

     จากข้อมูลกรมการข้าว ระบุว่า ข้าวเปลือกนาปรังจะมีปริมาณ 6.5 ล้านตัน คิดเป็นข้าวสาร 4.29 ล้านตัน ข้าวเปลือกนาปี 57-58 ล้านตัน คิดเป็นข้าวสาร 22-23 ล้านตัน ปริมาณรวมทั้งปี 30.5-31 ล้านตัน

     ”อยากให้ข้าวนาปรังออกมาก่อน ตอนนี้ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไป ตอนนี้ขอประเมิน ดิน ฟ้า อากาศ ผู้ส่งออกรายอื่นๆ และปริมาณผลผลิตของเราก่อน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันให้เก็บสต็อกรัฐไว้ เรื่องข้าวถุงก็ยังไม่ทำ จะยังไม่ออกมาตรการใดๆ ทั้งสิ้น“ นายมิ่งขวัญ กล่าว

บีบห้างลดค่าวางสินค้าช่วยข้าวถุง

     นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์กำหนดจะหารือกับผู้ประกอบการ เพื่อเจรจาลดค่าธรรมเนียมการวางสินค้า โดยเฉพาะในส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดขายเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ ก็พร้อมจะหาช่องทางจำหน่ายให้ผู้ประกอบการข้าวถุงด้านอื่นๆ ต่อไป เพราะหากลดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการข้าวถุงในส่วนนี้ได้ก็สามารถทำให้ราคาจำหน่ายลดลง

     นายมิ่งขวัญ กล่าวอีกว่า การหารือกับรัฐมนตรีการค้าอินเดียที่จะเดินทางเยือนไทย 27 เม.ย.นี้ จะหารือความร่วมมือค้าข้าว หากประสบความสำเร็จพร้อมจะเดินทางหารือประเด็นเดียวกันนี้กับเวียดนาม ซึ่งเมื่อรวม 3 ประเทศ จะเป็นผู้ส่งออกข้าวในโลกมากถึง 60% สามารถกำหนดทิศทางราคาข้าวได้

     นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาข้าวที่สูงขึ้นปัจจุบันนอกจากทำให้ตลาดเป็นของผู้ขายแล้ว ยังทำให้ พฤติกรรมพ่อค้าเปลี่ยนไป โดยการซื้อขายจะเน้นรับคำสั่งซื้อต่อเมื่อมีข้าวอยู่ในมือเท่านั้น จากเดิมที่จะตกลงราคาซื้อขายล่วงหน้าก่อนแม้ว่าจะไม่มีข้าวในมือหรือมีเพียง 20-30% เท่านั้น ซึ่งพฤติกรรมเดิมทำให้ผู้ส่งออกและโรงสีขาดทุน เพราะราคาต้นทุนข้าวสูงกว่าราคาขายไปแล้วก่อนหน้านี้ มั่นใจว่าการส่งออกขณะนี้รัฐสามารถดูแลได้

พฤติกรรมค้าข้าวเปลี่ยนส่งออกลด

     นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬธรรม นายกสมาคมข้าวถุง กล่าวว่า ตลาดข้าวถุงมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ ภายหลังรัฐระงับโครงการข้าวถุงไปแล้ว จะไม่ทำให้เกิดการปรับขึ้นราคาสินค้าเกินความจำเป็น ส่วนปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่ตลาด มั่นใจว่าจะมีข้าวอยู่ในตลาดตามคำสั่งซื้ออย่างแน่นอน เพราะเจ้าของแบรนด์ข้าวถุงทุกรายต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้หากปล่อยให้ข้าวขาดตลาดจะทำให้เสียส่วนแบ่งการตลาดออกไป ส่วนราคาข้าวก็ต้องปรับขึ้นลงตามกลไกตลาด

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า จากพฤติกรรมการขายข้าวที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ขายระมัดระวังการรับคำสั่งซื้อมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกไตรมาสที่ 2 ปีนี้ลดลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ด้านราคายังสูงต่อเนื่อง เพราะปีนี้ปริมาณการส่งออกข้าวจากประเทศอื่น นอกจากไทยหายไป 5-6 ล้านตัน จากความต้องการบริโภคทั่วโลก 30 ล้านตัน และมองว่าการส่งออกข้าวไทยทั้งปีอยู่ที่ 8.7-9 ล้านตัน

     นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พบปัญหาการลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย ผ่านตามชายแดนเข้ามาจำหน่ายในไทย เพื่อเก็งกำไร เพราะขณะนี้ข้าวในไทยสูงกว่ามาเลเซียถึง 350 ดอลลาร์ต่อตัน โดยไทยอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์ ขณะที่มาเลเซียที่มีนโยบายกำหนดการส่งออกขั้นต่ำอยู่ที่ 450 ดอลลาร์

     ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนาต้องการเรียกร้องให้รัฐดูแลเรื่องการลดต้นทุนการผลิต เพราะหากราคาข้าวไม่เป็นไปเช่นเดียวกับปัจจุบันแต่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็จะทำให้ชาวนาได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งชาวนามีความพอใจให้ข้าวอยู่ในระดับราคาไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อตัน (ข้าว 5% ความชื้นไม่เกิน 15%)

สมาคมค้าปุ๋ยโอดต้นทุนนำเข้าพุ่ง

     นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า การค้าปุ๋ยเป็นการค้าระหว่างประเทศที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่ จึงไม่มีการเปิดข้อมูลกันเหมือนที่นายมิ่งขวัญทำอยู่ เพราะปัจจุบันผู้ค้าปุ๋ยจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว โดยกระทรวงพาณิชย์ดูแลด้านราคา ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้ามาควบคุมด้านปริมาณการใช้และคุณภาพ

     ปัจจุบันราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และความต้องการใช้ตามพื้นที่การเกษตรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านเอเคอร์ เป็น 90 ล้านเอเคอร์ เพื่อนำพืชเกษตรมาเป็นพลังงานทดแทน ทำให้ผู้ค้าปุ๋ยไทยต้องเข้าไปแย่งซื้อวัตถุดิบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งราคาการนำเข้าและต้นทุนทุกอย่างจะต้องแจ้งภาครัฐ ขณะที่สต็อกปุ๋ยที่มีอยู่เดิมได้หมดไปตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว

     ส่วนระยะเวลาตั้งแต่การนำเข้า จนถึงการออกจำหน่ายจะใช้เวลารวม 3 เดือน ตั้งแต่ต้นปีนี้จะถึงปัจจุบัน ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นต่อเนื่องทุกสัปดาห์โดยเฉลี่ยทั้งปี 2550 ราคาปุ๋ยอยู่ที่ 200-300 ดอลลาร์ต่อตัน ปัจจุบันอยู่ที่ 600-700 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ราคาขายในประเทศต้องปรับตัวตามไปด้วย

     นอกจากนี้ ราคาขายในประเทศนอกจากต้นทุนการนำเข้า ยังมีเรื่องของค่าขนส่งที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงถึง 20% ขณะที่กำไรที่ภาครัฐอนุญาตให้คิดอยู่ที่ 2-3% เท่านั้น หากภาครัฐจะเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยก็สามารถทำได้ สมาคมไม่ขัดข้องแต่ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้จะได้รับผลกระทบ และหากไม่สามารถจำหน่ายปุ๋ยได้ตามต้นทุนจริง ก็จะต้องชะลอการนำเข้าในที่สุด จนอาจกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ช่วงต้นฤดูคือเดือนเม.ย.-มิ.ย. ยังมีเพียงพอ แต่ปริมาณความต้องการใช้ทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 4-4.5 ล้านตัน

ยันลดราคาเฉลี่ยตันละ 500 บาท

     นายเปล่งศักดิ์ กล่าวว่า การลดราคาปุ๋ยตามที่รัฐบาลร้องขอนั้น สมาคมฯมีมติลดราคาปริมาณ 1.4 แสนตัน ไม่รวมปริมาณที่บริษัทสหรัฐแห่งหนึ่งยอมลดราคาให้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นกฎหมายภายในสหรัฐ โดยราคาที่ลดลงอยู่ที่ 200-1,000 บาทต่อตัน ขึ้นกับชนิดและยี่ห้อปุ๋ย หรือเฉลี่ยลดลง 500 บาทต่อตัน

     ”เราไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่ถ้ามีกำไรก็ต้องจ่ายภาษี ตรงนี้ก็ช่วยภาครัฐอยู่แล้ว แต่ก็ให้ความร่วมมือ ซึ่งความร่วมมือทำแล้วต้องอยู่ได้ รัฐบาลที่ผ่านๆ มาจะส่งเสริมผู้ผลิตปุ๋ยในประเทศ เพราะเป็นเหมือนคนที่คอยสำรองปริมาณปุ๋ย ให้เพียงพอกับความต้องการ แต่ถ้ารัฐจะนำเข้ามาเองก็ได้ แต่เราจะได้รับผลกระทบแน่ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการโค้ดราคาปลอมกันได้ เพราะทั้งกระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์ก็คุมเราอยู่แล้ว แต่ถ้าต้นทุนสูงราคาก็ปรับขึ้นไม่ได้ ก็คงต้องลดการนำเข้าในที่สุด” นายเปล่งศักดิ์ กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.