นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ กรรมการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงนโยบายข้าวของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า หลายๆ มาตรการที่ประกาศออกมา ถือเป็นนโยบายที่ดี แต่เมื่อประกาศไปได้ระยะหนึ่ง ก็มักจะเปลี่ยนแปลงหรือทบทวนใหม่ ทำให้เกิดความสับสนต่อชาวนาและโรงสี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการติดตามข้อมูลทั้งเรื่องราคา และความต้องการของตลาด
นอกจากนั้นกรณีที่นายมิ่งขวัญระบุว่า หากผลผลิตข้าวโดยเฉพาะข้าวนาปรังที่จะออกมาในปลายเดือนนี้ให้ผลผลิตน้อย อาจจะมีมาตรการชะลอการส่งออกข้าว ประกอบกับต้องการเก็บสต็อกข้าวไว้อีก 2.1 ล้านตัน เพราะไม่แน่ใจสถานการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้านั้น นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ ตนไม่เข้าใจ ทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จึงประกาศนโยบายกลับไปกลับมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทั้งนายมิ่งขวัญและนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต่างยืนยันว่า ผลผลิตข้าวในประเทศมีเพียงพอต่อการบริโภค ดังนั้นการประกาศว่าอาจจะชะลอการส่งออก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะถ้าตลาดมีความต้องการและการบริโภคในประเทศไม่ถูกกระทบ รัฐบาลก็ควรสนับสนุนให้มีการส่งออกไม่ว่าปริมาณ 9 หรือ 10 ล้านตัน ก็ตาม เพราะผลดีจะตกแก่ชาวนาที่จะได้ราคาข้าวสูงขึ้น
หวั่นชะลอส่งออกสร้าง 3 ปัญหาราคาข้าว
"ผมไม่รู้เจตนาว่าทำไม จึงประกาศนโยบายกลับไปกลับมา โดยจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ก็ทำให้คิดได้ว่าน่าจะมีเจตนาบางอย่าง ทั้งๆ ที่นโยบายบางอย่างที่ประกาศออกมา ก็เป็นนโยบายที่ดี แต่ผมยืนยัน ข้าวของประเทศไทยไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะการผลิตทุก 120-130 วัน ก็จะให้ผลผลิตอยู่แล้ว ข้าวมีรอบของมัน ไม่ใช่ปลูกไม้สักที่ต้องใช้เวลา 20-30 ปี"
ทั้งนี้หากกระทรวงพาณิชย์ชะลอปริมาณการส่งออกข้าว จะทำให้เกิดปัญหา 2-3 อย่าง คือ 1. ปัญหาผลผลิตกับความต้องการ (ดีมานด์และซัพพลาย) 2. เกิดปัญหาด้านจิตวิทยาทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งที่ผ่านมา มีการให้ข่าวสร้างผลด้านจิตวิทยามาตลอด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ และจริงๆ แล้ว ราคาข้าวที่สูง คนที่ได้ประโยชน์คือชาวนา รัฐบาลก็ควรสนับสนุนการส่งออก เพราะเป็นโอกาสของประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดปริมาณการส่งออกที่เร็วเกินไป โดยเห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาด แต่รัฐบาลควรศึกษาทิศทางตลาดให้ถ่องแท้ หากตลาดต้องการสินค้าก็ควรสนับสนุน
คาดข้าวนาปรังออก 6 ล้านตันสิ้นเม.ย.นี้
ส่วนผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกมาปลายเดือนนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 6 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่ถือว่าน้อยผิดปกติ แต่เป็นตัวเลขผลผลิตปกติ สำหรับกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศนโยบายผลิตข้าวถุง และยกเลิกไปนั้น มีหลายฝ่ายสงสัยเหตุผลการยกเลิก ว่า อาจต้องการเก็บสต็อกไว้ให้ผู้ส่งออกบางรายจริงหรือไม่ ขณะนี้กำลังเป็นข้อครหาของกลุ่มผู้ค้าข้าว แต่หากเก็บไว้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ก็ไม่ควรจะยกเลิกหรือทบทวนนโยบายดังกล่าว
"การให้นโยบายออกมาแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการพร้อมปฏิบัติ แต่ปัญหาขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้าที่เริ่มมีปัญหาข้าวถุงลดลง ทำให้ประชาชนพากันซื้อครั้งละหลายๆ ถุงทั้งที่ไม่จำเป็น เช่นที่ จ.ชัยนาท ข้าวถุงในห้างใหญ่ก็หายไป"
ชี้นาปรังเป็นข้าวเพื่อส่งออก
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า รู้สึกสับสนกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ราคาข้าวที่สูงขึ้นทุกวันนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับชาวนา และจะเป็นผลประโยชน์ของนาปรังที่จะออกสู่ตลาดในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ ที่จะได้ราคาสูงตามราคาเอฟโอบี ( FOB) แต่การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมจะออกมาตรการชะลอการส่งออก หากผลผลิตลดลง โดยอ้างว่าเพื่อให้มีข้าวในประเทศพอบริโภค เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
"ผมไม่ราบว่า รัฐมนตรีพาณิชย์เข้าใจโครงสร้างข้าวหรือไม่ เพราะข้าวนาปรังที่ผลิตได้ โดยเฉพาะข้าวใหม่ 90% จะเป็นข้าวเพื่อส่งออก เพราะคนไทยไม่นิยมบริโภคข้าวใหม่ เนื่องจากส่วนใหญ่หุงแล้วแฉะ จึงเน้นส่งออกทั้งหมด ดังนั้น การที่รัฐบาลจะออกมาตรการชะลอการส่งออกได้อย่างไร เพราะนาปรังเป็นข้าวส่งออกมาตลอดอยู่แล้ว ส่วนข้าวที่คนไทยบริโภคส่วนใหญ่เป็นข้าวเก่า หากจะบริโภคข้าวนาปรังต้องเก็บไว้ 4-6 เดือนก่อน ฉะนั้นการจะออกมาตรการชะลอการส่งออก จึงไม่เข้าใจว่ารัฐมนตรีรู้เรื่องข้าวจริงหรือไม่ ผมเห็นว่าวันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องข้าว เพราะต้องการช่วยผู้ส่งออกหรือผู้บริโภคภายในประเทศกันแน่" นายปราโมทย์ย้ำ
สมาคมชาวนายันข้าวมีพอบริโภคในประเทศ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า การที่ไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากถึงเดือนละ 1 ล้านตัน ถือเป็นเรื่องดี และจะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น ซึ่งจากการประชุมร่วมกันของสมาคมชาวนาไทยและสมาคมโรงสีข้าวไทย เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า แม้ปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้มากถึง 10 ล้านตัน ก็ยังจะมีข้าวเหลือบริโภคในประเทศ เพราะข้าวไทยสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยข้าวนาปรังรอบ 2 ที่จะเริ่มเกี่ยวได้ปลายเดือนเม.ย.นี้ และจะมีผลผลิตมากถึง 6 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 3 ล้านตันข้าวสาร หลังจากนี้ก็จะมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดต่อเนื่องในเดือน ก.ค.และ พ.ย. ดังนั้นปัญหาข้าวในประเทศขาดแคลน เพราะการส่งออกจำนวนมากนั้น คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามการส่งออกข้าวขณะนี้ เป็นการส่งออกตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งช่วงที่ผู้ส่งออกทำสัญญาดังกล่าว เป็นช่วงที่ราคาข้าวยังถูกอยู่ที่ 400-500 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้เกิดปัญหาเมื่อถึงช่วงส่งมอบข้าว ผู้ส่งออกต้องซื้อข้าวราคาสูงถึง 700 ดอลลาร์ต่อตัน และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งหากผู้ส่งออกไม่สามารถส่งมอบได้ตามสัญญาก็จะถูกปรับ ทำให้มีผู้ส่งออกบางกลุ่มเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ออกระเบียบการส่งออกข้าวใหม่ กำหนดให้ผู้ส่งออกซื้อข้าวเพื่อการส่งออกต้องมีราคาไม่เกิน 800 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้ผู้ส่งออกสามารถนำไปอ้างต่อประเทศผู้นำเข้าได้ กรณีไม่มีข้าวหรือต้องซื้อข้าวราคาแพง โดยไม่ถูกปรับ แต่วิธีนี้จะทำให้ภาพพจน์ประเทศไทยเสียหายและทำให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำไปด้วย จึงถือว่าไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมต่อชาวนา
ซัดพาณิชย์อุ้มผู้ส่งออกอย่างเดียว
“ผมว่าราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้น ถ้าคิดต่อมื้อก็ประมาณ 20 บาท แต่กินทั้งครอบครัว ถือว่าไม่แพงเกินไป อีกอย่างคนไทยกินข้าวราคาถูกมานานขณะที่ต้นทุนผลิตข้าวสูงขึ้น ดังนั้นจะให้ราคาข้าวอยู่เท่าเดิมคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งผู้ส่งออกและผู้บริโภคควรยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และกระทรวงพาณิชย์ควรเห็นใจเกษตรกรด้วย ไม่ใช่คิดช่วยแต่ผู้ส่งออกฝ่ายเดียว“ นายประสิทธิ์กล่าว
นายประสิทธิ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไม่เฉพาะราคาข้าวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นด้วย โดยส่วนใหญ่มาจากราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้นถึง 4 เท่าตัว แต่จากราคาข้าวที่จูงใจ ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น และเป็นไปได้ที่ราคาข้าวจะลดต่ำในอนาคตได้ เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้สมาคมชาวนาไทยเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ วางแนวทางป้องกันและเตรียมพร้อมรองรับล่วงหน้าแล้ว ด้วยการให้รัฐประกันราคาข้าวเปลือกเจ้าทั่วไปไว้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ แม้เมื่อไปส่งให้โรงสีแล้ว จะถูกหักความชื้นทำให้ราคาลดลงเหลือตันละ 12,000-13,000 บาทก็ตาม
ส่วนผลผลิตข้าวในปีนี้ ยังคาดว่าจะมีปริมาณข้าวเปลือกอยู่ที่ 30-31 ล้านตัน หรือประมาณ 21-22 ล้านตันข้าวสาร ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งผลผลิตข้าวนาปรังคาดจะลดลง 20% โดยเป็นผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในรอบ 1 เดือน มีฝนตก หมอกลงจัด ร้อน ทำให้ข้าวได้ผลผลิตต่ำ
ผู้ส่งออกหวั่นไตรมาส 2 ข้าวร่วงเหตุส่งออกหด
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า เห็นด้วยที่ภาครัฐปล่อยให้สถานการณ์ข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด โดยไม่กำหนดมาตรการใดๆ มาดูแล เหลือเพียงจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด (มอนิเตอร์) ทำให้ผู้ส่งออกที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาภาวะการค้าตรึงตัวอย่างหนักจากราคาข้าวสูงและผันผวนต่อเนื่อง ต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนจากวิธีการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนที่จะหาข้าวไปส่งตามที่ตกลงไว้ แต่ปัจจุบันต้องให้แน่ใจว่ามีข้าวในมือก่อนที่จะรับคำสั่งซื้อ
ที่ผ่านมา วิธีรับคำสั่งซื้อแบบเดิมได้ทำให้ผู้ส่งออกหลายรายประสบปัญหาขาดทุน เพราะราคาในตลาดสูงมาก ถ้าจะส่งข้าวตามคำสั่งซื้อก็ต้องซื้อข้าวในราคาแพงกว่าที่ตกลงไว้ แต่ถ้าไม่ส่งข้าว ผู้ซื้อก็ไม่ยอมและทำให้เสียเครดิตการค้า หากราคาข้าวยังสูงต่อไปจะทำให้ช่วงไตรมาส 2 การส่งออกข้าวจะลดลงในที่สุด เพราะสาเหตุที่ข้าวราคาสูงขณะนี้ มาจากปัญหากักตุนข้าว โดยกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงการค้าข้าว โดยมีปริมาณข้าวที่ถูกกักเก็บไว้มาก 20-30% ของปริมาณข้าวในตลาดทั้งหมด โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่จะออกเดือนเม.ย.นี้ กว่า 70% ถูกเก็บไว้ ทำให้ถึงขณะนี้ผู้ส่งออกไม่มีข้าวพอที่จะส่งออก จึงไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ ซึ่งหากการส่งออกข้าวลดลงจะทำให้ราคาตลาดในประเทศลดลงในที่สุด จนผู้ที่ตุนข้าวไว้ต้องปล่อยข้าวออกสู่ตลาด
เตือนส่งออกมากฉุดข้าวในประเทศขาด
อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ เป็นวิธีที่ภาครัฐเลือกใช้ดูแลสถานการณ์ข้าวขณะนี้ นอกจากจะทำให้ราคาข้าวมีโอกาสลดลงแล้ว หากกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศยอมสู้ราคา ก็จะเป็นตัวเร่งให้การส่งออกข้าวเกิดขึ้นมากด้วยวิธีการต่างๆ จนทำให้ปริมาณข้าวในประเทศขาดแคลน
”ดูภาครัฐต้องการให้กลไกตลาดเป็นตัวดูแลสถานการณ์ เราก็ได้แต่เตือนว่าหากราคาดีมากๆ การส่งออกสูง อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลน แต่อีกด้าน ถ้าผู้ส่งออกสู้สถานการณ์ไม่ไหว ก็จะลดรับคำสั่งซื้อ และเมื่อถึงเวลานั้นราคาก็จะตกลงมาเอง รัฐต้องสร้างสมดุลในส่วนนี้ให้ดี” นายชูเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ แนวโน้มราคาข้าวน่าจะมีสูงต่อเนื่องต่อไปจากการเก็งกำไรกลุ่มต่างๆ และทิศทางจะชัดเจนขึ้นหลังการประมูลข้าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์ 17 เม.ย.นี้ ว่าจะมีการเสนอราคาเท่าใด
ชี้ร่วมมือตั้ง OREC เป็นไปได้ยาก
นายชูเกียรติยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐจะร่วมมือกับประเทศผู้ส่งออกกำหนดราคาข้าวหรือ OREC ในรูปแบบเดียวกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปค ว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะข้าวเป็นสินค้าคอมมูดิตี้ ที่ต่างจากยางและมันสำปะหลัง เพราะข้าวสามารถบริโภคธัญพืชอื่นทดแทนได้ และต่างกับสินค้าน้ำมันที่ขุดเจาะมาใช้เมื่อใดก็ได้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้ส่งออกช่วงที่ตลาดเป็นของผู้ขายขณะนี้ เป็นสิ่งที่ดี แต่ยอมรับว่าความร่วมมืออาจจำกัดเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านราคา ปริมาณสต็อกของแต่ละประเทศ แต่ท้ายที่สุดการกำหนดราคาร่วมกันคงทำได้ยาก เพราะข้าวมีหลายชนิด แต่ละประเทศมีข้าวแตกต่างกัน
”ตอนนี้ตลาดเป็นของผู้ขาย จะทำอะไรก็ได้ และต้องรีบทำ แต่ถ้าหมดช่วงนี้ไปแล้ว สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาจเป็นช่วงสิ้นฤดูผลิตนี้หรือสิ้นเดือน พ.ย. ทุกประเทศก็จะแข่งกันขายข้าวเหมือนเดิม ซึ่งความร่วมมือที่น่าจะทำได้และยั่งยืนคือแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าข้าวซึ่งกันและกัน“ นายชูเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ ขอให้รัฐหันมาจัดการเรื่องการสร้างสมดุลราคาข้าวให้เหมาะสม อย่าให้ราคาสูงจนเกินไป เพราะเมื่อราคากลับมาสู่ภาวะปกติ ด้านพ่อค้าก็จะทำการค้าลำบาก ด้านชาวนาที่ลงทุนทำนาไปแล้วก็จะได้รับผลกระทบ
ปชป.เตือนระวังส่งสัญญาณนโยบายข้าวผิด
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาข้าวว่า จากการที่รัฐบาลส่งสัญญาณที่ผิดว่าราคาข้าวจะขึ้นไปอยู่ที่ตันละ 30,000 บาท ทำให้มีการกักตุนข้าวจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ไม่ใช่ชาวนาแต่ตกอยู่ที่พ่อค้า ดังนั้นพรรคขอเรียกร้องให้รัฐบาลระมัดระวังการนำเสนอนโยบาย ที่อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาที่อาจยากที่จะแก้ไข
ดังนั้นปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลควรทำคือ 1. เร่งแก้ไขปัญหาการกักตุนข้าว 2. ควรเข้าบริหารจัดการสต็อกข้าวจำนวน 2.1 ล้านตัน ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด 3. ควรเข้าไปจัดการกับการตกเขียวในหลายพื้นที่ โดยมีพ่อค้าข้าวบางรายได้นำปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชาวนาไปก่อนแล้วให้ส่งข้าวมาใช้คืน ทำให้ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น แต่จะตกอยู่ที่คนกลุ่มอื่นมากกว่า 4. ควรเข้าไปดูแลราคาข้าวสารที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าสูงขึ้นเพียง 2-3 บาท แต่ที่จริงแล้วในต่างจังหวัดราคาสูงกว่าปกติมาก
โลตัสระบุผู้บริโภคเริ่มชะลอตุนข้าวถุง
นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ผู้บริหารห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า หลังกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าข้าวในประเทศจะไม่ขาดแคลน แม้ราคาจะสูงบ้าง ปรากฏว่าความต้องการข้าวถุงพบว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้บริโภคมีพฤติกรรมซื้อข้าวถุงเกินความจำเป็นจริง แต่หลังจากรัฐบาลยืนยันข้าวไม่ขาดแคลน ทำให้การซื้อข้าวถุงลดลง เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะกลับมาเป็นปกติได้เร็วๆ นี้
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการบรรจุข้าวถุง ระบุว่ามีปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน เพราะห้างเรียกเก็บค่าธรรมเนียมวางสินค้า หรือมีระยะเวลาชำระเงินนาน 30-90 วัน นายดามพ์กล่าวว่า ไม่น่าเป็นความจริง เพราะขณะนี้มีการเจรจาระหว่างผู้ประกอบการข้าวถุง 18 บริษัท กับห้าง เพื่อให้ห้างปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ทั้งค่าธรรมเนียมการส่งสินค้า หรือระยะเวลาชำระค่าสินค้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |