แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 3 มิ.ย.นี้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการประกันราคาและประกันภัยข้าวเปลือก จะเสนอที่ประชุมพิจารณารายละเอียด แนวทางการประกันราคาข้าวเปลือก เพื่อให้เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้น ใช้กลไกตลาดสร้างเสถียรภาพราคาในระยะยาวและมีความยั่งยืน และเพื่อลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้เบื้องต้นจะประกันราคาเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ จำนวนไม่เกิน 2 แสนตัน หรือไม่เกินรายละ 5 แสนบาท ในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 8 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด อุดรธานี และนครราชสีมา โดยเกษตรกรต้องเป็นผู้ปลูกเฉพาะข้าวหอมมะลิเท่านั้น มีใบรับรองเกษตรกรจากกระทรวงเกษตรฯ และต้องขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มียุ้งฉางของตนเอง โดย ธ.ก.ส.จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
สำหรับราคาประกันนั้น กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้กำหนดและเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) อนุมัติ โดยจะต้องสอดคล้องกับราคารับจำนำด้วย ซึ่งราคารับประกันจะคำนวณจากต้นทุนผลิตของเกษตรกรบวกกำไรที่เกษตรกรจะได้รับ หรือในกรณีที่ยังมีโครงการรับจำนำอยู่ ราคารับจำนำต้องต่ำกว่าราคาประกันไม่เกิน 1,000 บาทต่อตัน และเกษตรกรจะได้รับเงินสดทั้งจำนวนทันที ส่วนเบี้ยประกันในระยะแรก อาจกำหนดไว้ที่อัตรา 0.01% ของวงเงินเอาประกัน แต่สำหรับโครงการนี้ อาจยกเว้นค่าเบี้ยประกันในปีแรก
แหล่งข่าวกล่าว เกษตรกรจะเริ่มมาขึ้นทะเบียนประกันราคากับ ธ.ก.ส.ได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ และใช้สิทธิได้เดือนธ.ค.2552 ส่วนการชดเชยส่วนต่าง หากราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกัน โดยคำนวณจากส่วนต่างราคาในแต่ละพื้นที่ ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศรายวัน เพื่อป้องกันการนับซ้ำข้าวเปลือกระหว่างโครงการรับประกันและรับจำนำ ให้ ธ.ก.ส.วางระบบการตรวจสอบความมีอยู่จริงของข้าวที่รับประกันและรับจำนำ
จ่ายค่าบริหารโครงการ ธ.ก.ส.195 ล้าน
ในส่วนของการบริหารความเสี่ยง โดยใช้เครื่องมือทางการเงินนั้น คณะอนุกรรมการเห็นว่า ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับ ธ.ก.ส. จึงเห็นควรให้ดำเนินโครงการประกันราคาไปก่อน และได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดของการประกันความเสี่ยงเป็นกรณีเฉพาะ โดยมีนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะทำงาน สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการของ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 195.56 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าบริหารโครงการ 4% ของมูลค่าโครงการ ค่าประชาสัมพันธ์ไม่เกิน 9.56 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายระบายข้าว รวมถึงค่าขนส่งข้าวเปลือกจากยุ้งของเกษตรกรไปโรงสี ตันละ 250 บาท วงเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะไม่เกิดขึ้น หากเกษตรกรเป็นผู้รับภาระในการขาย
คณะอนุกรรมการยังประมาณการชดเชยส่วนต่างกรณีราคาตลาดต่ำกว่าราคารับประกัน ภายใต้สมมติฐานให้ราคาประกันเท่ากับ 14,450 บาทต่อตัน (ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกหอมมะลิจังหวัดสุรินทร์ ณ วันที่ 23 เม.ย.ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์) และคาดว่าราคาตลาด ณ วันใช้สิทธิจะลดลง 1,000 บาทต่อตัน ทำให้ราคาตลาดอยู่ที่ 13,450 บาทต่อตัน รัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่าง 1,000 บาทต่อตัน วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งจำนวนส่วนต่างที่ต้องชดเชยจะแปรตามราคารับประกันและราคาตลาดในวันใช้สิทธิ
เผยรัฐขาดทุนรับจำนำหมื่นล้าน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ“เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” วานนี้ (31 พ.ค.) ถึงปัญหาสินค้าเกษตรว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ามาสานต่อโครงการการรับจำนำพืชผลการเกษตรที่ตั้งราคาไว้ค่อนข้างสูงเกินจริง ทำให้มีการจำนำสินค้าต่างๆ จำนวนมาก ส่งผลให้สต็อกสินค้าเกษตรของรัฐสูงมาก จึงจำเป็นต้องระบายออก แต่การระบายต้องไม่ให้กระทบตลาด
ที่ผ่านมาต้องยอมรับ โดยเฉพาะปีก่อน ที่มีการรับจำนำสินค้าเกษตรจำนวนมาก ทำให้เกิด ปัญหาระบายสินค้า เพราะรัฐบาลขาดทุนมากถึงหมื่นล้านบาท แต่จำนวนคนที่เข้าโครงการรับจำนำและได้ประโยชน์มีไม่มาก ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการขณะนี้คือในแง่การระบายสินค้าต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้เรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้จะมีการเสนอหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ ครม.พิจารณาวันพุธที่ 3 มิ.ย.นี้
“ผมมั่นใจว่าจะทำให้แนวทางระบายสินค้านั้น สามารถรักษาประโยชน์ของประเทศได้มากขึ้น ทั้งการขาดทุนน้อยลง หรือถ้าไม่ขาดทุนก็ยิ่งดี รวมทั้งไม่กระทบราคาในตลาด ขณะที่ในระยะยาวก็ต้องปรับแนวทางการแทรกแซงพืชผลการเกษตร สิ่งที่ ครม.อนุมัติไปแล้วคือ มันสำปะหลัง ที่จะเริ่มต้นวิธีใหม่ โดยขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกมันตั้งแต่ต้นฤดูกาล และกำหนดราคาประกันไว้ 1.70 บาทต่อกก. หากเกษตรกรขายผลผลิตแล้วได้ราคาต่ำกว่าราคาประกัน รัฐบาลจะชดเชยให้ ฉะนั้น โครงการนี้จะเป็นโครงการที่เกษตรกรได้ประโยชน์ จะต่างจากกรณีจำนำ”นายกฯ กล่าว
ธกส.เล็งสกัดเกษตรกรฮั้วโรงสี
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดราคาประกันเบื้องต้นจะคำนวณจากต้นทุนการผลิตต่อไร่ของเกษตรกรมาคิดเป็นต้นทุนต่อตัน บวกรายได้ที่เกษตรกรควรจะได้ (ค่าแรง) และบวกส่วนกำไรอีกประมาณ 10-25% จะออกมาเป็นราคาประกัน โดยเริ่มคิดราคาประกันตั้งแต่เกษตรกรเริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งกรณีที่เป็นข้าวหอมมะลิจะประมาณเดือน พ.ย.-ธ.ค.ผลผลิตจะออกมามาก ราคาจะเริ่มตกก็จะประกันราคา
อย่างไรก็ตามการประกันราคาดังกล่าวเกษตรกรต้องจ่ายเบี้ยประกันด้วย ซึ่งปีแรกจะยกเว้นให้ก่อนแต่ปีถัดไปหากโครงการมีคุณภาพก็จะเริ่มเก็บในอัตราที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นภาระเกษตรกรมากเกินไป แต่ต้องการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมดูแลผลผลิต
“ส่วนที่มีการกังวลว่าอาจจะมีการฮั้วราคาของเกษตรกรกับโรงสีนั้นเรื่องนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว โดยได้หารือกับสมาคมโรงสีเพื่อคัดเลือกโรงสีที่ดีในแต่ละจังหวัดและอยากเข้าร่วมกับรัฐมาขึ้นทะเบียน และประกาศราคารับซื้อข้าวเปลือกในราคาตลาด ซึ่งหากเกษตรกรรายใดมีพฤติกรรมไม่สุจริตไปขายข้าวให้โรงสีอื่นในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกันเพื่อหวังเงินชดเชยนั้น ธ.ก.ส. จะไม่รับผิดชอบส่วนนี้เพราะถือว่าในพื้นที่มีโรงสีที่ให้ราคาดีอยู่แล้วแต่เกษตรกรไม่ยอมไปขายให้เอง”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |