นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาข้าวหอมมะลิได้ปรับสูงกว่า 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากปริมาณข้าวหอมมะลิในตลาดลดลงจากกระบวน การสีข้าวที่ทำให้ได้ข้าวต้นลดลงจาก 35-36% เหลือเพียง 30% แต่มีปริมาณปลายข้าวเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาข้าวหอมปทุมธานีปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับเกษตรกรหันไปจำนำข้าวแบบยุ้งฉาง ซึ่งจะได้ราคาสูงกว่าปกติตันละ 1,000 บาท ทำให้ข้าวในตลาดหาซื้อยากขึ้น
สำหรับปริมาณการส่งออกข้าวส่วนใหญ่ในขณะนี้เป็นการส่งออกข้าวนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูอินเดีย คู่แข่งในการส่งออกข้าวนึ่งของไทย หากยังไม่มีนโยบายการ ส่งออกที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีการลดภาษี ส่งออกข้าวบาสมาติลงแล้ว แต่ในส่วนของการส่งออกข้าวนึ่งยังต้องรอนโยบายหลังจากช่วงการเลือกตั้งอินเดียในเดือนเมษายนนี้ แต่ทราบเบื้องต้นว่าปีนี้อินเดียมีสต๊อกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านตันข้าวสารจากปีก่อน 11 ล้านตันข้าวสาร อีกทั้งขณะนี้ราคา ข้าวนึ่งของไทยปรับสูงขึ้นถึง 620 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งอาจจะมีผลให้ผู้บริโภคชะลอซื้อไปก่อนได้
ส่วนเวียดนามผู้ส่งออกอีกรายหนึ่ง คาดว่าจะมีสต๊อกข้าวเหลือส่งออกอีก 700,000-800,000 ตันจนถึงช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ จึงทำให้ราคาข้าวเวียดนามถูกกว่าไทยมากขึ้น เช่น ข้าวขาว 5% จากเดิมถูกกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มเป็น 180 เหรียญสหรัฐ/ตัน
"แนวโน้มราคาข้าวคงจะปรับขึ้นไปกว่านี้ได้ยาก เพราะเวียดนาม-อินเดียมีสต๊อกมาก ประเทศผู้นำเข้าก็มีการผลิตเอง แต่สมาคมจะร่วมคณะนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช. พาณิชย์ เพื่อไปพบกับเอกชนผู้ส่งออกเวียดนามในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ อาจจะหารือถึงความร่วมมือด้านการค้าข้าว สำหรับการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งเดือนแรก (1-16 ) มกราคม 2552 ลดลง 40% จาก ปี 2551 หรือคิดเป็นปริมาณเพียง 273,000 ตันจากปีก่อนที่ส่งออก 461,000 ตัน เนื่องจากปริมาณความต้องการข้าวในตลาดต่างประเทศทรงตัว เพราะปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีการผลิต ข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น" นายชูเกียรติกล่าว
ด้านนายวิชัย ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงสีข้าวเจริญผล จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มโรงสีผู้ผลิตข้าวหอมมะลิภาคอีสาน สมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิหน้าโรงสีได้ปรับตัวสูงขึ้น 2,000-3,000 บาท/ตัน ทำให้ราคาซื้ออยู่ที่ 15,000 บาท/ตันเท่ากับราคารับจำนำแล้ว ทำให้ราคาส่งออก FOB อยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน คาดว่าทิศทางราคาน่าจะปรับสูงขึ้นอีกถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ/ตันได้ไม่ยากนัก
สาเหตุที่ราคาข้าวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณข้าวหอมมะลิปีนี้หายไปจากท้องตลาดประมาณ 15% จากปริมาณผลผลิต 6 ล้านตันข้าวเปลือกหรือคิดเป็นปริมาณข้าวสารที่หายไป 700,000 ตัน แม้ว่าเกษตรกรจะลดพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวเดิมหันมาปลูกข้าวหอมมะลิมากขึ้นอีก 20% แต่ปริมาณข้าวก็ลดลงจาก 3 สาเหตุคือ 1) ในช่วงต้นฤดูกาลผลิตเดือนกรกฎาคม 2551 เกิดภาวะภัยแล้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกใหญ่ในเขตทุ่งกุลาร้องให้ ทำให้ปริมาณข้าวเปลือกที่ได้หายไป 800,000-900,000 ตัน หรือคิดเป็น 380,000 ตันแล้ว 2) ในช่วงการเก็บเกี่ยวมีฝนตกชุกทำให้เกี่ยวข้าวช้า จนผลผลิตข้าวเสียหาย เมื่อนำมาสีเป็นต้นข้าว (ข้าวสาร) ลดลงจาก 48% เหลือเพียง 42% เท่านั้น ทำให้ข้าวหายไป 6% หรือคิดเป็นข้าวสารก็ 360,000 ตันแล้ว
นอกจากนี้ การที่ราคาตลาดปรับสูงขึ้นเท่าราคาจำนำ ยังทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งนำข้าวเปลือกหอมมะลิเข้าสู่โครงการรับจำนำโดยเกษตรกรแบบยุ้งฉางแทนการนำมาจำนำในระบบปกติ เพราะจะได้ราคาสูงขึ้นอีกตันละ 1,000 บาท เป็น 16,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีข้าวหายไปจากสาเหตุนี้อีก 1-1.5 ล้านตันข้าวเปลือก อย่างไรก็ตาม ข้าวส่วนนี้จะสิ้นสุดระยะเวลาไถ่ถอนตามโครงการรับจำนำประมาณเดือนพฤษภาคม หากราคาข้าวในตลาดสูง เกษตรกรก็น่าจะนำข้าวออกมาขายแทนการไถ่ถอน
"ราคาข้าวหอมมะลิคงไม่ถึง 1,200 เหรียญเหมือนปีก่อน ยกเว้นเกิดปัญหาข้าวขาดตลาด หรือมีปัญหาจากอากาศที่มีผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าว และมี แนวโน้มที่ราคาข้าวในประเทศจะสูงขึ้นตาม แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อผู้บริโภค"
ปัจจัยจากภาวะอากาศที่หนาวเย็นลงได้ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวหอมจังหวัดลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวหอมจังหวัดปรับตัวสูงขึ้นเท่ากับราคาจำนำด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ทางสมาคมโรงสีจะมีการประชุมสมาชิก ซึ่งอาจจะมีการหารือกันถึงประเด็นนี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|