นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะประกาศรับประกันราคาข้าวเปลือก โดยการประกาศราคารับประกันเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรตัวอื่น เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง เพราะข้าวเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรจำนวนมาก ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และตนยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่นำวิธีการประกันราคาสินค้าเกษตรมาใช้กับสินค้าข้าวเปลือกแน่นอน
“ผมรู้ว่าชาวนากลัวว่ารัฐบาลจะไม่มีโครงการรับจำนำข้าว แต่ยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้คุยเรื่องนี้เลย ส่วนการรับประกันราคานั้น เราจะเลือกทำเฉพาะสินค้าเกษตรบางตัว เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ส่วนเรื่องข้าวนั้น ชาวนาคุ้นเคยกับวิธีการรับจำนำมานานแล้ว และเราจะไม่เปลี่ยนไปใช้วิธีรับประกันราคา แต่จะปรับวิธีรับจำนำใหม่ เน้นการรับจำนำที่ยุ้งฉาง ดังนั้น ขอว่าอย่ากังวลเลย เพราะอย่างไรเสียรัฐบาลก็ต้องเอาใจชาวนาอยู่แล้ว” นายกอร์ปศักดิ์ระบุ
นายกอร์ปศักดิ์ ยอมรับว่า วิธีการรับประกันราคาพืชผลการเกษตรมีจุดอ่อนอยู่ เช่น กรณีการแจ้งผลผลิตของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้นฤดูกาล เพราะอาจมีการฮั้วกันระหว่างตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของธนาคารเพื่อการ
เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการแจ้งผลผลิตเกินความเป็นจริง แต่ในส่วนนี้รัฐบาลได้วางระบบตรวจสอบไว้ 2 ชั้น คือ การขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ ธ.ก.ส.และการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ทำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งหากข้อมูลไม่สอดคล้องกันก็ตั้งข้อสงสัยได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
โรงสี-ผู้ส่งออกหนุนระบบประกัน
นายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาข้าว ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลทำมาแล้วหลายรูปแบบ ก็มีเพียงการรับจำนำที่สามารถแก้วิกฤติได้ ดังนั้นต้องมาลองดูว่า วิธีการประกันราคาครั้งนี้จะได้ผลหรือไม่ แต่หากมีการประกันราคาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีการรับจำนำอีกต่อไป เพราะจะสร้างความสับสนให้กับเกษตรกร ส่วนโรงสี แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ก็สามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้ตามราคาตลาด ในกรณีที่ราคาข้าวต่ำกว่าราคาที่รัฐประกันไว้ก็ให้เกษตรกรไปขอชดเชยจากภาครัฐเอาเอง
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ทางสมาคมเห็นด้วยที่รัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับจำนำ ที่สร้างความเสียหายให้กับภาครัฐจำนวนมากทั้ง ในด้านงบประมาณที่ใช้รับซื้อข้าว ค่าการเก็บรักษาและค่าเสื่อมราคา ประกอบกับในปี 2553 ไทยต้องเปิดตลาดเสรี (เอฟทีเอ) ภาษีนำเข้า 0% ในส่วนของสินค้าเกษตรตามข้อตกลงในประเทศอาเซียน ดังนั้นหากยังมีการเปิดรับจำนำอยู่ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีข้าวของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ ดังนั้นการประกันราคาครั้งนี้จะเป็นเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประกันราคาเป็นเรื่องใหม่ มีเกษตรกรยังไม่คุ้นเคย ดังนั้นการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จึงเป็นเรื่องสำคัญและควรดำเนินการให้ชัดเจน รวมทั้งควรชี้แจงความเข้าใจให้เกษตรกรรับทราบขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด
ชาวนาจี้ช่วยกลุ่มเดือดร้อนก่อน
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมเห็นด้วยในหลักการของโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ควรจะนำร่องรับประกันราคาข้าวหอมมะลิก่อน เนื่องจากเป็นข้าวที่มีมูลค่าสูงสามารถขายได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ การแก้ไขปัญหาในขณะนี้ควรจะเป็นส่วนของราคาข้าวเจ้าทั่วไปที่ออกสู่ตลาดมากและราคาตกต่ำ นอกจากนี้การประกันราคาควรดำเนินการภายหลัง จากที่หมดระยะเวลารับจำนำไปแล้ว เพื่อป้องกันความสับสน
“โครงการอะไรก็ได้ขอเพียงรัฐบาลช่วยเหลือและให้ประโยชน์กับชาวนาอย่างแท้จริง แต่ทั้งนี้ควรจะช่วยเหลือในกลุ่มที่เดือดร้อนก่อน และให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการคิด พิจารณาแผนการดำเนินงาน” นายประสิทธิ์ กล่าว
ชาวนาบุกพาณิชย์จี้รับจำนำนาปรังต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วานนี้ (1 มิ.ย.) สมาคมชาวนาไทย พร้อมด้วยสมาชิกเกือบ 200 คน จาก จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางมากระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ เพื่อเข้าพบนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 ที่กำลังดำเนินโครงการขณะนี้อย่างต่อเนื่อง แต่นางพรทิวาติดภารกิจเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่เกาะเจจู สาธารณรัฐเกาหลี นายประพล มิลินทจินดา เลขานุการ รมว.พาณิชย์รับหนังสือร้องเรียนแทน
นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ชาวนา จ.อยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง ไม่สามารถนำข้าวเปลือกนาปรังเข้าโครงการรับจำนำได้ เพราะสำนักงานค้าภายในจังหวัดได้สั่งการให้โรงสี ที่เข้าร่วมโครงการหยุดการรับจำนำ โดยอ้างว่า โควตาของจังหวัดเต็มแล้ว จึงไม่สามารถรับจำนำได้อีก ทั้งๆ ที่ยังมีผลผลิตข้าวอีกประมาณ 350,000 ตันที่กำลังเก็บเกี่ยว และรอการเก็บเกี่ยว หากรัฐบาลไม่รับจำนำต่อ ชาวนาจะเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะจะถูกพ่อค้ากดราคารับซื้อ ปัจจุบันรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 30% เหลือตันละ 6,000-7,000 บาท จากราคาจำนำตันละ 10,800-12,000 บาท
“ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกโควตารับจำนำ เพราะปีก่อนๆ ไม่เคยมี เพิ่งมีปีนี้เป็นปีแรก โดยที่ชาวนาไม่เคยรู้ว่า ในจังหวัดตัวเองจะมีโควตาเท่าไร รัฐบาลควรดูจากผลผลิตแต่ละจังหวัดมากกว่า และอยากให้รัฐบาลรับจำนำข้าวของชาวนาต่อไป ไม่อย่างนั้นจะเดือดร้อนมาก พ่อค้าซื้อกดราคาอย่างหนัก” นายวิเชียรกล่าว
ขู่รวมพล 46 จังหวัดบุกกรุง
นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลเพิ่มปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปีนี้อีก จากก่อนหน้านี้ที่รับจำนำเป้าหมาย 2.5 ล้านตัน และเพิ่มอีก 1.5 ล้านตัน รวมเป็น 4 ล้านตันแล้ว ขณะที่ปีก่อนๆ รัฐบาลรับจำนำ 6-8 ล้านตัน ทั้งนี้ เพราะยังเหลือผลผลิตที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกจำนวนมาก หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่ชาวนาเรียกร้อง ชาวนาจาก 46 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีผลผลิตข้าวนาปรังจะเดินขบวนประท้วง โดยจะจัดเป็นกองคาราวาน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ กดดันรัฐบาลแน่นอน
พรทิวาสั่งชงข้อมูลเข้า ครม.ตัดสิน
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการร่วมประชุมกับตัวแทนสมาคมชาวนาไทยว่า ได้รายงานข้อเรียกร้อง และความเดือดร้อนของชาวนา ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนางพรทิวา รับทราบทางโทรศัพท์แล้ว เพราะทั้ง 2 คนอยู่ระหว่างการปฏิบัติราชการที่ประเทศเกาหลี โดยนางพรทิวา ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูล เพื่อรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามคำสั่ง รมว.พาณิชย์ หลังจากที่สมาคมชาวนาได้เรียกร้องรับจำนำข้าวนาปรังเพิ่ม โดยต้องนำข้อมูลผลผลิตมาเปรียบเทียบ โดยข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ปริมาณผลผลิตทั้งหมด 7.6 ล้านตัน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยระบุว่ายังมีปริมาณข้าวเหลือในระบบอีก 4-5 ล้านตัน และต้องตรวจสอบข้อมูลจากสมาคมโรงสี สมาคมชาวนา และสมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมอีก
“จะนำทั้งหมดให้ ครม.พิจารณาก่อนดำเนินการใดๆ ส่วนงบประมาณที่จะต้องใช้สามารถคำนวณได้จากราคาข้าวขาวเฉลี่ยตันละ 1.18 หมื่นบาท (ความชื้น 15%) นำไปคูณกับปริมาณข้าวที่ต้องการรับจำนำเพิ่ม ซึ่งขณะนี้รัฐได้ใช้เงินในการรับซื้อข้าวปริมาณ 3.6 ล้านตัน ตามโควตารับจำนำทั้งหมด 4 ล้านตัน จำนวน 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนที่รัฐจ่ายเงินไปแล้ว ได้ข้าวมาเป็นทรัพย์สินรอการระบายออก” นายยรรยง กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |