www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

สิทธิบัตรข้าวหอมมะลิ จุดเริ่ม "ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญา"


ในการสัมมนาวิชาการ "สิทธิบัตร พันธุกรรมข้าวหอมมะลิ : ยุทธศาสตร์การคุ้มครองพันธุ์ข้าวไทย" จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หยิบยกกรณีที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยื่นขอจดสิทธิบัตรเหนือยีนควบคุมความหอม เมล็ดพันธุ์ต้นข้าวดัดแปลงพันธุกรรม และกรรมวิธี หรือกระบวนการที่ทำให้ข้าวหอมมะลิมีความหอมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อต้นปี 2552

ก่อนหน้านี้ทาง สวทช.ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรดังกล่าวกับต่างประเทศแล้ว 10 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป ไทย และสหรัฐ โดยสำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐ รับจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2551 ยอมให้การคุ้มครองกระบวนการ (process) ตาม 4 ข้อถือสิทธิจากที่ยื่นขอไป 24 ข้อถือสิทธิ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ข้าวมีความหอม เช่น วิธีการเพิ่มสารหอม Os2AP วิธีการรักษาระดับ mRNA ของยีนควบคุมความหอมทำงานลดลง เป็นต้น

ประเด็นนี้กลับกลายเป็นที่สนใจขึ้นมาภายหลังจาก สวทช.ยื่นขอจดสิทธิบัตรในไทย เพื่อขอคุ้มครองทั้ง 24 ข้อถือสิทธิ ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงวัตถุประสงค์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากกรมทรัพย์สินทางปัญญารับจด โดยสิ่งแรก การยื่นจดทะเบียนคุ้มครองในต่างประเทศเพื่อปกป้องกระบวนการดังกล่าวไม่ให้ต่างชาตินำไปลอกเลียนแบบ หรือใช้ประโยชน์ถือว่าเป็นสิ่งยอมรับได้

แต่การขอจดคุ้มครองในไทย ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นการผูกขาดกระบวนการนี้ในไทย จะมีผลกระทบต่อนักวิจัยที่ต้องการวิจัยต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ และผลต่อเกษตรกรที่ต้องการใช้ข้าวหอมมะลิหรือไม่ และที่สำคัญคือการยื่นขอจดสิทธิบัตรดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมายไทย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งจะไม่จดสิทธิบัตรกับพันธุกรรม เนื่องจากถือว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ในที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างของปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาไทย ที่รัฐบาลควรวางท่าทีในเรื่องนี้ เพราะในอนาคตจะเป็นบรรทัดฐานร่วมกันในทรัพยากรธรรมชาติสิ่งอื่นในประเทศไทย ดังนั้น จึงควรวางยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่ควรกำหนดยุทธศาสตร์การคุ้มครองพันธุ์ข้าวไทย เพื่อป้องกันการฉกฉวยเอาประโยชน์จากพันธุ์ข้าวไทยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ไทยมีความพร้อมด้านกฎหมายภายในประเทศ อาทิ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และยังเป็นภาคีด้านทรัพย์สินทางปัญญาองค์การการค้าโลก (TRIPs) อยู่แล้ว

"ไทยจำเป็นต้องมีแผนต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญา และเพิ่มมาตรการด้านการตลาด เพื่อสร้างความรู้จักสินค้าข้าวหอมมะลิไทยกับลูกค้าทั่วโลก ป้องกันการแอบอ้างชื่อข้าวหอมมะลิไทยไปใช้ประโยชน์อย่างกรณีที่เคยมีการจดเครื่องหมายการค้าข้าวจัสมินในสหรัฐ

ซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการบริโภคข้าวหอมมะลิของไทยเกิดความเข้าใจผิดได้ และการที่ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 นี้ อาจจะมีการหมุนเวียนข้าวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาการปลอมปนชนิดข้าวด้อยคุณภาพ จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในอนาคต"

ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐ เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องตอบโจทย์ 4 ด้าน คือ การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และการคุ้มครองเพื่อนำมาใช้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและเกษตรกรรม โดยจะต้องกำหนดท่าทีด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ชัดเจน

ทางออกในรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน/สิทธิเกษตรกร ดังนั้นควรมีการออกกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนกับการคุ้มครองด้าน พันธุกรรมสิ่งมีชีวิต หรือออกเทศบัญญัติ ตามมาตรา 66 เพื่อให้ท้องถิ่นกำหนด รูปแบบการดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2542 คุ้มครองพันธุ์พืช และการใช้ระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ควบคู่กัน

ด้าน นายเจษฎ์ โทณวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ระบบสิทธิบัตรคุ้มครองสิ่งมีชีวิต เพราะต้องดูวัตถุแห่งสิทธิเป็นหลัก แม้จะอ้างว่ามีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น แต่ขั้นการประดิษฐ์ด้านนี้อิงธรรมชาติมากกว่า 50% แต่การจะให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรควรมีการแทรกแซงของมนุษย์ต้องสูงกว่า เพราะผลการพิจารณาให้ความคุ้มครองจะกลายเป็นการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ทรงสิทธินั้น และจะส่งผลกระทบต่อการใช้ การผลิต การจำหน่าย และการนำเข้าสิ่งนั้น เช่น กรณีการแก้กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (1) ต้องเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่องจุลชีพอย่างรัดกุมไม่ใช่แค่ยกออก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดถึงทางออกในการดูแลทรัพยากรสิ่งมีชีวิตของไทย แต่ที่ประชุมสะท้อนให้เห็นว่า ไทยควรปรับใช้ทุกทางเลือกเพื่อดูแลทรัพยากรในประเทศ เพราะทุกระบบยังมีจุดอ่อนในตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนวางแผนสำหรับยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาที่ยั่งยืนของไทย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.