ในการเปิดประมูลข้าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์ มีบริษัท 7 ราย ซึ่งรวมถึงซัพพลายเออร์ของไทยและเวียดนาม ได้ยื่นประมูลเพื่อขายข้าวจำนวน 600,000 ตัน วานนี้ (1 ธ.ค.) บริษัทวินาฟูด 2 ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม อยู่ในกลุ่มบริษัทที่ยื่นประมูล และบริษัทวินาฟูด 2 อาจจะจัดหาข้าว 300,000 ตันให้ฟิลิปปินส์ หลังจากยื่นเสนอราคาประมูลต่ำสุด โดยเสนอขายข้าวให้เวียดนาม 300,000 ตัน ในราคา 598-648 ดอลลาร์/ตัน C&F สำหรับการส่งมอบระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค.
ขณะที่มีแนวโน้มว่า ผู้ส่งออกข้าวของไทย จะครองส่วนแบ่งใหญ่ในการส่งออกข้าวที่เหลืออีก 300,000 ตันให้แก่ฟิลิปปินส์ โดยวัดจากผลการประมูลที่ออกมาบางส่วน
การประมูลวานนี้ (1 ธ.ค.) ถือเป็นการประมูลรอบแรกจากทั้งหมด 3 รอบในเดือนนี้ สำหรับการซื้อข้าวในปริมาณเท่ากัน ในขณะที่ฟิลิปปินส์พยายามจัดหาข้าวไว้ใช้ในปี 2553 หลังจากพายุพัดทำลายพืชผลภายในประเทศ
ข้าวไชยพรคว้าประมูลแสนตัน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประมูลข้าวรัฐบาลฟิลิปปินส์ ปรากฏว่าเวียดนามเสนอขายปริมาณ 3 แสนตัน ราคา C&F (รวมค่าขนส่ง ค่าประกันภัยและดอกเบี้ย 270 วัน) เฉลี่ยตันละ 598-648 ดอลลาร์ ขณะที่ไทยมีบริษัท ข้าวไชยพร จำกัด เสนอขายปริมาณ 1 แสนตัน เฉลี่ยตันละ 648 ดอลลาร์ และมีโบรกเกอร์อื่นๆ อาทิเช่น จากปากีสถานตันละ 600 ดอลลาร์
เขาเชื่อว่า ผลการประมูลฟิลิปปินส์จะซื้อปริมาณ 5 แสนตันเท่านั้น แม้จะประกาศรับซื้อก่อนหน้านี้ที่ 6 แสนตัน เนื่องจากราคาข้าวที่มีการเสนอขายสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ ที่ตันละ 540 ดอลลาร์ โดยเวียดนามจะได้ชนะประมูล ตามจำนวนที่เสนอขาย ขณะที่ไทยจะได้ส่วนที่เหลือ 1 แสนตัน และที่เหลืออีก 1 แสนตัน เป็นของโบรกเกอร์รายอื่นๆ
"ราคาที่เสนอขายครั้งนี้ ค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ส่งออกไทยก็ไปร่วมประมูลเพียงรายเดียว คือ บริษัทข้าวไชยพร แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นการรวมกันของหลายบริษัทร่วมเสนอขาย เนื่องจากผู้ส่งออกกังวลว่า จะไม่มีข้าวส่งมอบหากรับคำสั่งซื้อไว้มากจนเกินไป" นายชูเกียรติกล่าว
การส่งออกข้าวในช่วง 20 วันแรกของเดือน พ.ย.ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50%นั้น เนื่องจากฐานการส่งออกช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ เชื่อว่าการส่งออกทั้งเดือน พ.ย.นี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสนตัน เมื่อรวมทั้งปีจะส่งออกได้ 8.7 ล้านตัน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8.5 ล้านตัน
ส่วนปีหน้าต้องจับตาอีกครั้งว่าทิศทางการส่งออกจะเป็นอย่างไร เพราะสถานการณ์ราคาที่สูงมากขณะนี้เสี่ยงต่อการที่ผู้ซื้อจะเปลี่ยนใจไม่สั่งซื้อและหันไปบริโภคธัญพืชอื่น อาทิเช่น ข้าวสาลีที่ราคาเฉลี่ยต่ำที่ตันละ 250 ดอลลาร์ จากช่วงก่อนหน้านี้ ที่สูงถึงตันละ 500 ดอลลาร์
ผู้ส่งออกขยาดรับออเดอร์ก่อนเก็บสต็อก
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด กล่าวว่า การประมูลข้าวฟิลิปปินส์ครั้งนี้เป็นการเสนอราคาที่สูงสุดในรอบปี แต่ภาพของผู้ส่งออกไทยขณะนี้ แม้จะเป็นช่วงขาขึ้นแต่ผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ หากไม่มีสต็อกอยู่ในมือ หากรัฐต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ควรระบายข้าวออกมา เพื่อให้ผู้ส่งออกมีข้าวไปขายแต่หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ เชื่อว่าการส่งออกจะลดลงในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ และในการประมูลข้าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์อีก 6 แสนตันในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ รวมถึงการประมูลอีกในปลายเดือน ธ.ค. อาจไม่มีผู้ส่งออกไทยร่วมประมูล
ราคาอ้างอิง 1-16 ธ.ค.ไม่ชดเชยข้าวปทุม
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการหารือคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์การอ้างอิงในการประกันรายได้เกษตรกร ที่ประชุมมีมติให้คงช่วงเวลาการประกาศราคาอ้างอิงไว้ตามเดิม คือ ทุก 15 วัน โดยที่ประชุมเห็นว่าหากปรับการประกาศราคาอ้างอิงให้เร็วขึ้นเป็นทุก 10 วัน อาจสร้างความสับสนให้เกษตรกรที่มีความเข้าใจแล้ว ว่า จะมีการประกาศราคาอ้างอิงทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงราคาระหว่างทุก 10 วันกับ 15 วัน ไม่มีความแตกต่างกันมาก และที่ประชุมเห็นว่าราคาที่ผันผวนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่น่าจะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต
เกณฑ์การอ้างอิงสำหรับข้าวเปลือกชนิดต่างๆ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างระหว่างเกณฑ์กลางอ้างอิงกับราคา ประกันรายได้ เพื่อใช้ในช่วงวันที่ 1-16 ธ.ค.นี้ โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 13,720 บาท อัตราชดเชยตันละ 1,580 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 13,388 บาท อัตราชดเชยตันละ 912 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,242 บาท อัตราชดเชย ตันละ 758 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,565 บาท ไม่ต้องชดเชย ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,591 บาท ไม่ต้องชดเชย
สำหรับภาวะการซื้อขายข้าว ณ วันที่ 27 พ.ย. ข้าวเปลือกตันละ 14,200-15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 8,800-10,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,000-11,500 บาท และข้าวเหนียวเมล็ดยาวตันละ 8,700-11,500 บาท
ผู้ส่งออกจี้รัฐคายสต็อกหลังตลาดนิ่ง
นายยรรยง กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมซึ่งมีผู้ส่งออกร่วมอยู่ด้วย ได้แสดงความเป็นห่วงถึงปริมาณข้าวในตลาดที่หาซื้อไม่ได้เลย เมื่อสอบถามโรงสีพบว่ามีข้าวในสต็อกน้อยมากเช่นกัน น่าจะเป็นเรื่องที่ชาวนาน่าจะเก็บข้าวไว้ เพื่อรอราคาที่สูงขึ้น โดยผู้ส่งออกอยากให้รัฐระบายข้าวในสต็อก จึงได้ชี้แจงตอบไปว่า เป็นหน้าที่อนุกรรมการด้านการตลาด ที่มีนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน จะพิจารณาช่วงเวลา วิธีการ และปริมาณระบายที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยขั้นตอนเมื่ออนุกรรมการมีมติเป็นอย่างใด ต้องเสนอให้คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาและนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง
รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าว แจ้งว่าการส่งออกข้าวเบื้องต้น ระหว่างวันที่ 1-20 พ.ย.นี้ ปริมาณ 490,137 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 325,288 ตัน เพิ่มขึ้น 50.68% ขณะที่การส่งออกช่วง 1 ม.ค.-20 พ.ย. ปริมาณ 7,695,349 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ส่งออกปริมาณ 9,305,692 ตัน ลดลง 17.30%
ครม.ผ่อนผันรถบรรทุกข้าวได้ 30 ตัน
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้กรมการขนส่งทางบก ผ่อนผันการบรรทุกข้าวสำหรับรถบรรทุก 10 ล้อ เพิ่มขึ้นเป็นบรรทุกได้ไม่เกิน 30 ตัน ในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากที่สุด จากเดิมไม่เกิน 25 ตัน พร้อมทั้งผ่อนผันการเคลื่อนย้ายรถเกี่ยวนวด โดยให้สามารถเคลื่อนย้ายโดยใช้รถบรรทุกขนาดเล็ก หรือ 6 ล้อ แทนรถบรรทุก 6 ล้อขนาดใหญ่ หรือรถบรรทุก 10 ล้อ เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้ทันตามกำหนด และจำหน่ายผลิตได้ในราคาดี โดยมีระยะเวลาผ่อนผันตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2552-28 ก.พ. 2553 นี้
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะคณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร รายงานความก้าวหน้า การดำเนินงานโครงการประกันรายได้ และมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ระหว่างวันที่ 23-27 พ.ย.ในพื้นที่ 30 จังหวัดทั่วประเทศให้ ครม.รับทราบ โดยพบว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 3.31 ล้านราย หรือ 89% ของเป้าหมาย 3.71 ล้านราย และ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการทำสัญญาประกันรายได้แล้ว 2.15 ล้านราย หรือ 65% ของทะเบียนผู้ปลูกข้าว โดยเพิ่มขึ้นจากวันที่ 19 พ.ย. จำนวน 801,781 ราย หรือเพิ่มขึ้น 24.2% ซึ่งคาดว่า ธ.ก.ส.จะทำสัญญาได้แล้วเสร็จตามกำหนดวันที่ 15 ธ.ค. 2552
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|