รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า วงการค้าข้าวได้ตั้งข้อสังเกต การออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรับจำนำข้าวนาปรังเพิ่ม โดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 ที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายรับจำนำที่ 4 ล้านตันเต็มโควตาเร็ว ทั้งที่ยังไม่ครบกำหนดเวลาปิดโครงการ เนื่องจากผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการอาจไม่ใช่ผลผลิตข้าวนาปรังในมือเกษตรกรจริง แต่เป็นการนำข้าวเก่ามาเวียนเทียนเข้าโครงการรับจำนำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ระบายข้าวในสต็อกให้กับผู้ส่งออกถึง 2.5 ล้านตัน สมัยนายไชยา สะสมทรัพย์ เป็น รมว.พาณิชย์ และยังอาจมีการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน มาสวมสิทธิเข้าโครงการจำนำนาปรังอีกส่วนหนึ่ง แต่เป็นปริมาณไม่มากเท่ากับการเวียนเทียน
ทั้งนี้ หากปีนี้มีผลผลิตข้าวนาปรัง 6 ล้านตันจริง ข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำไปแล้ว 4 ล้านตัน จะต้องสามารถดูดซับปริมาณผลผลิตในตลาดได้มากกว่า 30% ตามเป้าหมายการรับจำนำที่ตั้งไว้ แต่ข้อมูลล่าสุดกลับพบว่ามีข้าวเหลือในตลาด 5-6 ล้านตัน จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบ หากจะเพิ่มปริมาณรับจำนำ
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมฯได้หารือกับสมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ถึงการเพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 ตามที่เกษตรกรร้องขอว่า ได้สอบถามถึงปริมาณข้าวที่ยังอยู่ในมือเกษตรกร ซึ่งมีผลผลิตต่างกันมาก โดยโรงสีอ้างว่ามี 4 ล้านตัน ผู้ส่งออกระบุน้อยกว่านั้น แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณการ 3.2 ล้านตัน ส่วนกระทรวงมหาดไทย 5.3 ล้านตัน ซึ่งกรมจะนำตัวเลขทั้งหมดมาวิเคราะห์ความจำเป็นที่จะเพิ่มปริมาณการรับจำนำ และจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 มิ.ย.นี้
“จะเพิ่มปริมาณรับจำนำได้หรือไม่ และจะเพิ่มเท่าไร ยังไม่รู้ ต้องรอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ตัดสิน แต่ผลผลิตที่ยังมีเหลืออยู่ในมือเกษตรกรน่าจะเป็นปริมาณที่แท้จริง เพราะราคารับจำนำสูง จูงใจให้เกษตรกรเร่งปลูกต่อเนื่อง จากเดิมที่คาดปีนี้ข้าวนาปรังจะมี 7.7 ล้านตัน ก็น่าจะมีเกือบ 10 ล้านตัน ไม่ได้มีการเอาข้าวจากโครงการรับจำนำมาเวียนเทียนเข้าโครงการซ้ำอีกอย่างที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน” นายยรรยง กล่าว
ส่วนการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ยอมรับว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก เพราะรัฐบาลกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก จึงเป็นแรงจูงใจให้ลักลอบนำเข้า เพื่อหวังส่วนต่างราคา โดยข้าว 5% ของไทยตันละประมาณ 10,000 บาท แต่เพื่อนบ้าน 6,000-7,500 บาท ซึ่งผลจากการลักลอบนำเข้าดังกล่าว ทำให้ตลาดข้าวไทยเสียหาย เพราะมีการนำข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวเมล็ดสั้น และอาจมีข้าวตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) มาผสมกับข้าวคุณภาพสูงของไทย จึงเป็นอันตรายสำหรับตลาดข้าวไทยมาก ซึ่งคณะกรรมการบูรณาการแก้ปัญหาลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร ที่มีตัวแทนจากกองทัพสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะช่วยแก้ปัญหาตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้น
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปริมาณข้าวในมือเกษตรกรไม่น่าจะเหลือมาก เพราะรัฐบาลก็รับจำนำไว้เกือบหมดแล้ว แต่หากจะรัฐบาลจะเพิ่มปริมาณรับจำนำอีก ผู้ส่งออกก็ไม่มีปัญหา แต่ราคารับจำนำถ้าลดลงได้ก็ดี เพราะทำตลาดยากจากต้นทุนสูง แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะลดราคารับจำนำลง
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตข้าวนาปรังเข้าสู่โครงการรับจำนำประมาณ 50% แล้ว จึงยังเหลือในมือเกษตรกรอีกประมาณ 50% หรือประมาณ 4 ล้านตัน หากรัฐบาลจะเพิ่มปริมาณรับจำนำจริงอีก 2 ล้านตันก็เพียงพอแล้ว
รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย แจ้งว่า อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ ประเทศซาอุดีอาระเบียมีหนังสือถึงสมาคมฯว่านักธุรกิจซาอุฯต้องการซื้อข้าวเมล็ดยาวจากไทยจำนวน 5 หมื่นตัน โดยให้ผู้ส่งออกที่สนใจสามารถติดต่อและเสนอราคาได้กับบริษัทผู้สนใจโดยตรง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมครม.วันนี้ (3 มิ.ย.) กระทรวงพาณิชย์จะเสนอประเด็นการระบายสต็อกข้าว ในสต็อกรัฐบาลจำนวนกว่า 2 ล้านตัน ให้กับผู้ส่งออก 17 ราย ที่ได้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วให้ครม.พิจารณา หากครม.ต้องการยกเลิกผลการประมูล จะเสนอให้ครม.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความสัญญาการซื้อขายข้าวที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ทำไว้กับผู้ชนะการประมูลว่าสามารถยกเลิกได้หรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับทางภาครัฐ
นอกจากนี้ จะเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดราคาระบายสต็อกสินค้าเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ครม.พิจารณาด้วย หากครม.อนุมัติ ทางกรมการค้าต่างประเทศจะดำเนินการเปิดระบายสินค้าเกษตรที่ยังเหลืออยู่ในสต็อกต่อไป
“ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำหลักเกณฑ์ราคาในการระบายสินค้าเกษตรแต่ละชนิดออกมาแล้ว ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจากราคาตลาดโลก ตลาดภายในประเทศ มาหารเฉลี่ยกัน หาก ครม.อนุมัติ ก็คงจะเริ่มระบายสินค้าเกษตรได้ทันที” แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |