นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการรับประกันราคาสินค้าเกษตรว่า เบื้องต้นจะเริ่มประกันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิก่อน จำนวนไม่เกิน 2 แสนตัน โดยนำร่องพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 8 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด อุดรธานี และนครราชสีมา
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการจะต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้ากับ ธ.ก.ส. ในเดือนก.ค.นี้ จากนั้นช่วงเดือนส.ค.ถึงก.ย. คณะทำงานซึ่งรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว จะลงพื้นที่ไปสำรวจและตรวจสอบพื้นที่ของเกษตรกรรายนั้นๆ ว่ามีการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิจริงหรือไม่ และเดือนพ.ย.จะลงพื้นที่เพื่อดูการเก็บเกี่ยว เพื่อให้รู้ว่าเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวได้จำนวนเท่าใด
ขณะที่ราคาการรับประกันข้าวเปลือกหอมมะลินั้น จะพิจารณาจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกร บวกกับค่าจ้างแรงงานของเกษตรกร และรายได้ที่เกษตรกรพึงจะได้รับอีก 20%
อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า ราคารับประกันจะต้องสูงกว่าราคารับจำนำ แต่ก็ไม่ควรสูงเกิน 2 พันบาทต่อตัน ตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลประกาศราคารับประกันที่ 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ราคารับจำนำจะต้องไม่เกิน 1.4 หมื่นบาทต่อตัน เพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรเข้าโครงการรับประกันมากกว่า
“เราจะเริ่มรับประกันที่ข้าวเปลือกหอมมะลิก่อน โดยจะประกาศราคารับประกันในสัปดาห์หน้า และคาดว่าภายในมิ.ย.นี้ จะรู้รายละเอียดที่ชัดเจนทั้งหมด เบื้องต้นจะนำร่อง 8 จังหวัดอีสานใต้ จำนวน 2 แสนตัน โดยเกษตรกรจะต้องมาขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส.ในเดือนก.ค.นี้” นายเอ็นนู กล่าว
ส่วนเบี้ยประกันนั้น เบื้องต้นในปีแรกของการรับประกันเกษตรกรไม่ต้องเสียเบี้ย แต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปจะต้องเสียบ้างในอัตราที่ต่ำ เช่น วงเงินประกัน 1.4 หมื่นบาท อาจจะเสียเบี้ยประกัน 100 บาท แต่เบื้องต้นของการรับประกันจะยังมีโครงการรับจำนำควบคู่ไปด้วย แต่เมื่อมีการทำยุ้งฉาง ทำโรงอบ โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจจะร่วมทุนกับรัฐเพื่อดำเนินการ ก็คาดว่าโครงการรับจำนำจะหมดไปภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้น กรณีที่กังวลว่าอาจจะมีการฮั้วราคาของเกษตรกรกับโรงสีนั้น ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว โดยได้หารือกับสมาคมโรงสีเพื่อคัดเลือกโรงสีที่ดีในแต่ละจังหวัด ที่ต้องการเข้าร่วมกับรัฐบาลมาขึ้นทะเบียน “โรงสีธงเขียว” และประกาศราคารับซื้อข้าวเปลือกในราคาตลาด
ซึ่งหากเกษตรกรรายใดมีพฤติกรรมไม่สุจริตไปขายข้าวให้โรงสีอื่นในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกันเพื่อหวังเงินชดเชยนั้น ธ.ก.ส.จะไม่รับผิดชอบส่วนนี้ เนื่องจากถือว่าในพื้นที่มีโรงสีที่ให้ราคาดีอยู่แล้วแต่เกษตรกรไม่ยอมไปขายให้เอง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |