www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

เครือข่ายคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ ค้านจดสิทธิบัตรยีนความหอมข้าวไทย


หลังจากคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" พร้อมทั้งกราบบังคมทูลรายงานความสำเร็จของนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประสบความสำเร็จการค้นพบ "ยีนควบคุมความหอมในข้าวไทย" และได้รับการจดสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 และนำไปสู่การผลักดันการจดสิทธิบัตรในประเทศไทยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย พร้อมด้วยนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตัวแทนจากกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษศาสตร์ นายเจริญ คัมภีรภาพ นักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.สมชาย รัตนชื่อสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมแถลงการณ์ "คัดค้านการจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิ" ในนามของเครือข่ายวิชาการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพไทย

"ยีนความหอมในข้าวไทย" นายวิฑูรย์ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักวิจัยไทยมีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาจนนำไปสู่การจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ แต่การที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เร่งให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งรับจดสิทธิบัตรดังกล่าว จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต พันธุ์พืช ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย อีกทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต้องการผลักดันให้มีการจดสิทธิบัตรในไทย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการผูกขาดการใช้ประโยชน์จากข้าวหอมมะลิในคนไทยด้วยกันเอง

"จริงๆ แล้วสิทธิบัตรยีนควบคุมความหอมในข้าวไทยที่ได้รับในสหรัฐ ถือเป็นดาบสองคม อย่าลืมว่าเมื่ออายุสิทธิบัตรของสหรัฐหมดลงประมาณ 20 ปี ข้อมูลต่างๆ ก็จะสามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ นักวิจัยทั่วโลกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงไม่เข้าใจว่าการจดสิทธิบัตรดังกล่าวจะเกิดประโยชน์จริงๆ หรือไม่ และยิ่งมาผลักดันให้มีการจดสิทธิบัตรชนิดนี้ในไทย ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อพันธุ์พืชอื่นๆ เพราะหากมีการแก้กฎหมาย การอนุญาตให้จดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตหรือพันธุ์พืช ก็จะกลายเป็นช่องทางของบริษัทเอกชนต่างชาติเข้ามาหาผลประโยชน์ในไทย ดังนั้น หากรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายยอมรับให้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต เครือข่ายวิชาการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพไทยจะขอยืนตรงข้ามพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน" นายวิฑูรย์กล่าว

รศ.สุรวิชกล่าวว่า จริงๆ แล้วการวิจัยที่นำไปสู่การจดสิทธิบัตรในกรณีนี้ มีการใช้พันธุ์พืชซึ่งไม่ใช่พันธุ์พืชชนิดใหม่ หรือพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น จึงอาจเป็นการดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพราะผู้ใดก็ตามนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า ที่ไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่หรือพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นไปปรับปรุงพันธุ์ ศึกษาทดลอง หรือวิจัยเพื่อการค้า จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากกองคุ้มครองพันธุ์พืช หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษทั้งจำและปรับ ตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาขโมยพันธุ์พืชของไทยไปใช้ประโยชน์ ประเด็นอยู่ที่ว่าการวิจัยครั้งนี้ สวทช.ทำผิดหลักของกฎหมายหรือไม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย

"สิทธิบัตรที่ สวทช.ได้รับครั้งนี้ มีบางประเด็นที่น่าสังเกต คือ ที่ผ่านมา สวทช.ออกมาประกาศว่าสิทธิบัตรที่ได้รับคือยีนควบคุมความหอม แต่หลังจากได้เห็นในรายงานของสิทธิบัตรดังกล่าวกลับระบุว่า เป็นสิทธิบัตรกระบวนการค้นพบยีนความหอมที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมในข้าว ทำให้ยีนควบคุมความหอมลดลง และข้าวหอมขึ้น ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการทำจีเอ็มโอในข้าว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นักวิจัยไทยต่างออกมาพูดว่า ไม่มีการทำจีเอ็มโอในข้าวเลย ระวังทำให้สังคมสับสนและขาดความเชื่อถือนักวิจัย สวทช.ต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้" รศ.สุรวิชกล่าว

ด้านนายบัณฑูรกล่าวว่า ยอมรับว่าการจดสิทธิบัตรยีนควบคุมความหอมในข้าวหอมมะลิในสหรัฐของ สวทช. ต้องการป้องกันไม่ให้ต่างชาติแย่งชิงตลาดข้าวหอมมะลิ แต่ทำไมต้องมายื่นขอจดสิทธิบัตรในไทยเพราะกฎหมายไม่อนุญาต หากทำต้องแก้กฎหมายจะส่งผลกระทบต่อพันธุ์พืชอื่นๆ เรื่องนี้มีทางออกหลายวิธี อาจนำความสำเร็จดังกล่าวใส่ในกฎหมายข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งจะคุ้มครองชื่อข้าวหอมมะลิของไทยที่มีภูมิกำเนิดในไทย อยากให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯคิดสักนิดก่อนตัดสินใจเพราะจะผิดพลาดอย่างมหันต์

ที่มา มติชน

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.