www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ตลาด"ข้าวไทย"ในอาเซียนวูบหนัก 7 เดือนยอดตก 60% หวัง AFTA ลดภาษีนำเข้าก็ไม่ได้


การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 41 ซึ่งได้มีการประชุมระดับคณะมนตรีเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) เพื่อเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงในการลดภาษี กลุ่มสินค้าอ่อนไหวสูงตามตารางที่ผูกพันไว้ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 แต่ปรากฏว่ายังมีประเทศสมาชิกหลายประเทศที่กำหนดรายการสินค้าไว้ในบัญชีอ่อนไหวสูง

โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ที่จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ปีหน้า แต่ยังมีสมาชิก 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ผูกพันที่จะลดภาษีข้าวเป็น 25% ในปี 2558 มาเลเซีย ผูกพันที่จะลดภาษีข้าวจาก 40% เป็น 20% ในปี 2553 และฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ผูกพันการลดภาษีข้าว แต่เรียกเก็บภาษีนำเข้าตามองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ 40% และกำหนดโควตา 3.5 แสนตัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 ปริมาณ 5.3 ล้านตัน ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มียอดส่งออกราว 7.1 ล้านตัน โดยตลาดอาเซียนน่าเป็นห่วงมาก เพราะปริมาณการส่งออกไปตลาดนี้มีสัดส่วนราว 28-29% ปรากฏว่าการส่งออกมีมูลค่าลดลงอย่างมากถึง 60% ในด้านปริมาณปรับลดลงมากเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดมาเลเซียในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกได้เพียง 7 หมื่นตันเท่านั้น ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยส่งออกได้ถึง 4.77 แสนตัน

ในอนาคตเกรงว่าไทยจะสูญเสียตลาดนี้ แม้ว่าจะมีการลดภาษีภายในอาเซียน ซึ่งจากการหารือกับ Dato MOHD Johari Baharum รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าขณะนี้รัฐบาลมาเลเซียเริ่มมีนโยบายสนับสนุนการปลูกข้าวภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ ภายหลังจากเกิดวิกฤตราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2551 โดยนโยบายนี้ได้เริ่มในพื้นที่ทางด้านตะวันออกของมาเลเซีย คาดว่าในระยะเวลา 3-5 ปี ผลผลิตจะมีปริมาณมากขึ้น

อย่างไรก็ตามยังคาดว่าในช่วง 5 เดือนที่เหลือ ไทยจะสามารถเร่งการส่งออกภาพรวมให้ถึงเป้า 8.5 ล้านตันได้ เพราะมีปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลอินเดียได้ประกาศว่าประสบภาวะภัยแล้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง 11-12 ล้านตัน ค่อนข้างแน่นอนที่จะไม่ส่งออกใน ปีนี้ ดังนั้นไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยแข่งขันกับอินเดีย คาดว่าน่าจะขยับสูงขึ้นในเดือนหน้าเพราะตลาดไนจีเรียจะมีการนำเข้าสูงในช่วงเดือน ก.ย.จนถึง ธ.ค.ของทุกปี ซึ่งหากสถานการณ์ภัยแล้งของอินเดียยืดเยื้อไปจนถึงกลางปี 2553 คาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในปีหน้าจะได้ถึง 10 ล้านตัน

สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวของเวียดนาม ยังมีการทยอยส่งออกข้าวในราคาต่ำกว่าไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ข้าวขาว 5% ราคาเอฟโอบีระหว่าง 380-390 ต่ำกว่าไทยที่ราคา 520-530 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยคาดว่าขณะนี้เวียดนามขายข้าวออกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4.5-5 ล้านตัน ซึ่งคงจะ สิ้นสุดในไม่ช้า

ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการศึกษาผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ต่อเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือน ก่อนที่กรอบ AEC จะลดภาษี 0% ตั้งแต่ปี 2553-2558 พบว่าประเด็นที่น่าสนใจจากการศึกษาสะท้อนว่าการที่ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมอีก 5 ประเทศจะต้องลดภาษีสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเป็น 0% ในปี 2553 เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ไทยยกเว้นสินค้าอ่อนไหวสูงจะคงอัตราภาษี 5% ไว้มี 4 รายการเท่านั้น คือ กาแฟ ไม้ตัดดอก มะพร้าวแห้ง และมันฝรั่ง

วัตถุประสงค์ในการเจรจาลดภาษีเพื่อเปิดตลาดสินค้าที่ไทยมีศักยภาพส่งออกให้สามารถขยายตลาดเข้าสู่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้มากขึ้นก็เป็นจริง เพราะผลการศึกษาคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) กลุ่มเกษตรเพิ่มขึ้น 3.8% มูลค่า 17,812 ล้านบาท และเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้น 7.7% มูลค่า 17,290 ล้านบาท

แต่กลับพบว่ารายได้ของครัวเรือนในภาคเกษตร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,428 บาทต่อปี คิดเป็น 29.7% โดยเป็นรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก AEC 274 บาทต่อปี จากรายได้กรณีที่ไม่มี AEC 1,154 บาทต่อปี น้อยกว่ารายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตร ซึ่งเพิ่มขึ้น 3,380 บาทต่อปี คิดเป็น 70.3% เพิ่มขึ้น จากกรณีที่มี AEC เพิ่ม 1,420 บาทต่อปี จากกรณีที่ไม่มี AEC 1,960 บาทต่อปี หรือหากคิดเฉลี่ยต่อเดือนพบว่า รายได้ภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นจากผล AEC เพียง 23 บาท ต่อเดือน ส่วนนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 118 บาทต่อเดือน สะท้อนให้เห็นว่าผลดีที่จะเกิดขึ้นจาก AEC ไม่ได้กระจายลงไปสู่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเกษตรกร เพียงแต่ให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการหรือ เอกชนบางกลุ่มที่เข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์ได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.