แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทยเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ขณะนี้โรงสีข้าว ในพื้นที่ติดชายแดนกัมพูชารายงานเข้ามาว่า มีการเร่งซื้อปลายข้าวเจ้าและปลายข้าวหอมมะลิขายผ่านชายแดนเฉลี่ยวันละ 700-1,000 ตัน โดยปลายข้าวจำนวนนี้จะขนส่งไปขายให้กับเวียดนามเพื่อใช้ในการปรับปรุงเป็นข้าว 25% ตามที่ได้รับออร์เดอร์ล่วงหน้าไปแล้วถึง 5 เดือน จากชนะการประมูลข้าวขาว 25% ของฟิลิปปินส์และคาดว่าจะชนะการประมูลข้าวรอบต่อไปอีก 3 รอบ รวมแล้วเป็นปริมาณกว่า 2.45 ล้านตัน
ผลการเร่งซื้อปลายข้าวดังกล่าวทำให้ราคาปลายข้าวขาวภายในประเทศปรับสูงขึ้นจาก 8,500 บาท/ ตัน เป็น 11,000 บาท/ ตัน และปลายข้าวหอมมะลิจาก 11,000 บาท/ตัน เป็น 14,000 บาท/ตัน และมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดการขาดแคลนปลายข้าวสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้โรงสีในพื้นที่ได้สั่งซื้อข้าวจากโรงสีนอกพื้นที่เพื่อสต๊อกสำรองไว้ โดยบางโรงให้ราคาถึง 10,000 บาท
นอกจากราคาปลายข้าวที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาข้าวเปลือกยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนข้าวเปลือกหอมมะลิปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 13,000-15,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอม 14,000-14,200 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้าในบางจังหวัดราคาทะลุ 10,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียวราคาพุ่ง 12,000-13,000 บาท/ตัน เช่นเดียวกับราคาหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาปรับขึ้นเกินกว่า 7 บาท/ก.ก.
จนมีข้อน่าสังเกตว่า แม้ราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่รัฐบาลโดย ธ.ก.ส.กลับต้องจ่ายเงินให้เกษตรกรในโครงการประกันราคาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาสูงถึง 5,750.9 ล้านบาท สวนทางกับช่วงขาขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่ราคาในตลาดสูงกว่าราคาประกันที่รัฐบาลประกาศไปแล้ว
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินค่า "ชดเชย" ส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวเปลือกนาปี, มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรไปแล้ว 402,285 ราย วงเงินรวม 5,750.9 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปีมาผ่านการทำประชาคม 3,179,080 ราย ในจำนวนนี้เข้ามาทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. แล้ว 2,254,512 ราย ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวไปแล้ว 1,376.5 ล้านบาท
ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเกษตรกรที่ผ่านการทำประชาคม 398,218 ราย ทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส.แล้ว 375,199 ราย ในจำนวนนี้ ธ.ก.ส.ได้มีการโอนเงินค่าชดเชยส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว 274,397 ราย คิดเป็นวงเงิน 4,258.7 ล้านบาท ส่วนเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลังมีเกษตรกรผ่านการทำประชาคม 443,242 ราย ทำสัญญาประกันรายได้ไปแล้ว 372,509 ราย ธ.ก.ส.จ่ายเงินไปแล้ว 13,837 ราย คิดเป็นวงเงิน 115.7 ล้านบาท
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า มีพ่อค้าคนกลางที่มีเงินทุนหนาไปกว้านซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาถูก ๆ มากักตุนไว้ และให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรนั้น นายลักษณ์ชี้แจงว่า "ทาง ธ.ก.ส.ได้เตรียมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้สำหรับเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตนเองกู้ภายใต้วงเงิน 25,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปี ในระหว่างที่เก็บไว้ในยุ้งฉางนั้นสามารถนำข้าวที่เก็บมาขอกู้เงินกับ ธ.ก.ส. เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนใช้จ่ายภายในครอบครัว และยังได้รับเงินค่าฝากข้าวจากรัฐบาลอีกตันละ 1,000 บาท"
ทางด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยถึงผลการประชุมกรรมการกำหนดเกณฑ์ราคากลางอ้างอิง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนว่า ที่ประชุมกำหนดราคาอ้างอิง สำหรับวันที่ 1-16 ธันวาคม 2552 ซึ่งคำนวณจากราคาย้อนหลัง 15 วันของกรมการค้าภายในและสมาคมโรงสีข้าวไทย กำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิไว้ที่ 13,720 บาท/ตัน ข้าวหอมจังหวัด 13,388 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 9,242 บาท/ตัน ข้าวปทุมธานี 10,493 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 9,514 บาท/ตัน ขณะที่ราคาประกันข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 15,300 บาท ข้าวหอมจังหวัด ตันละ 14,300 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ข้าวปทุมธานีตันละ 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 9,500 บาท
ทั้งนี้ทางรัฐบาลจะใช้สูตรคำนวณว่า หากราคาประกันสูงกว่าราคาตลาดอ้างอิงจะชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกร หากราคาตลาดอ้างอิงสูงกว่า ไม่ต้องชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกร เท่ากับว่าเกษตรกรที่ตกลงกับ ธ.ก.ส.จะรับเงินชดเชยในช่วงวันที่ 1-16 ธันวาคม จะได้รับเงินค่าชดเชย กรณีข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 1,580 บาท ข้าวหอมจังหวัดจะได้รับเงินชดเชยตันละ 912 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 758 บาท ขณะที่รัฐบาลไม่ต้องชดเชยข้าวปทุมธานีและข้าวเปลือกเหนียว
"ตอนนี้คาดกันว่าในเดือนมกราคม 2553 รัฐบาลอาจจะไม่ต้องเสียงบประมาณในการชดเชยแล้ว เพราะราคาตลาดจะเพิ่มสูงกว่าราคาประกันทุกชนิด มีการคาดการณ์ว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิจะสูงถึง 17,000-18,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า สูงกว่า 11,000-12,000 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานี 13,000-14,000 บาท/ตัน และข้าวเหนียวอาจจะขึ้นไปถึงตันละ 13,000-14,000 บาท" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|