แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กขช.ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์เสนอแนวทางการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลเพื่อส่งออก แต่ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ได้มีการหารือว่าการระบายข้าวสารออกต่างประเทศนั้น จะใช้วิธีการแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ได้หรือไม่ และต้องเสนอต่อสภาตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่
นายอภิสิทธิ์ แสดงความเห็นว่า การระบายข้าวดังกล่าวไม่เข้าข่าย ม.190 เพราะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง แต่นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า การระบายข้าวดังกล่าวเข้าข่าย ม.190 การโต้เถียงเรื่องนี้ใช้เวลานานไม่ได้ข้อสรุป ทำให้นายอภิสิทธิ์และนางพรทิวาต้องออกจากห้องประชุมมาหารือกันนอกรอบ 2-3 ครั้ง
ซึ่งในที่สุดนายอภิสิทธิ์ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และฝ่ายกฎหมายไปหาข้อมูลยืนยันว่า หากการระบายข้าวครั้งนี้จะเข้าข่าย ม.190 จริง ให้นำข้อมูลหลักฐานมายืนยันว่าเข้าข่าย ม.190 ตรงไหน เหตุใด และมีเหตุผลสนับสนุนอย่างไร และให้นำมาหารือกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 พ.ค.นี้
กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ณ วันที่ 23 เม.ย.ปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 4.851 ล้านตัน (คิดในเทอมข้าวสาร) แบ่งเป็นข้าวโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2548/2549 ถึงข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 จำนวน 1.581 ล้านตันข้าวสาร และข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 และข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 3.270 ล้านตันข้าวสาร
แหล่งข่าวจากที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่นางพรทิวาและกระทรวงพาณิชย์ พยายามยืนกรานว่า การระบายข้าวสารรัฐต่อรัฐ เข้าข่าย ม.190 เพื่อที่กระทรวงพาณิชย์จะได้ใช้เป็นข้ออ้าง ไม่ต้องระบายข้าวออกแบบจีทูจี ในขณะที่รัฐบาลต้องเร่งระบายข้าวออกโดยเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ต้องการระบายข้าว โดยใช้วิธีการเปิดประมูลให้กับเอกชน และให้เอกชนเป็นผู้ส่งข้าวออกไปต่างประเทศเอง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกระแสข่าวและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเรียกรับหัวคิวจากเอกชนที่ชนะการประมูลข้าวก็ตาม
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |