นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนส.ค. เป็นต้นไป มีแนวโน้มที่ไทยจะส่งออกข้าวได้ลดลง เนื่องจากประเทศอินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง หลังจากที่หยุดการส่งออกไปตั้งแต่เดือนเม.ย. ปีที่ผ่านมา เพราะตอนนี้อินเดียมีปริมาณสต็อกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 27 ล้านตัน และมีเหลือที่จะส่งออก ซึ่งจะทำให้ตลาดข้าวนึ่งของไทยได้รับผลกระทบจากการที่อินเดียเป็นคู่แข่งโดยตรง
“ปัจจุบันการค้าข้าวโลกอยู่ที่ประมาณ 29 ล้านตัน ซึ่งเป็นการค้าข้าวนึ่งประมาณ 5 ล้านตัน โดยไทยส่งออกประมาณ 2 ล้านตัน ถ้าอินเดียกลับมาส่งออก จะทำให้การส่งออกข้าวนึ่งของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด" นายชูเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ ข้าวไทยส่งออกยากขึ้น เนื่องจากราคาสูงกว่าอินเดีย โดยข้าวนึ่งของไทยอยู่ที่ตันละ 530 ดอลลาร์สหรัฐ มีต้นทุนแพง เนื่องจากรัฐบาลได้รับจำนำข้าวในราคาที่สูงมาก ส่วนข้าวนึ่งอินเดียอยู่ที่ตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐ และหากรัฐบาลยังรับจำนำราคาสูงต่อเนื่อง จะทำให้ต้นทุนผู้ส่งออกสูงขึ้นอีกและจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวนึ่งไปให้อินเดียในอนาคตแน่
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันข้าวนึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก เพราะประเทศในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลางนิยมบริโภคข้าวนึ่ง ประกอบกับประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจน้อย ทำให้มีกำลังซื้อข้าวนึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดข้าวนึ่งที่แต่ละปีมีการซื้อขายปีละ 5 ล้านตันทั่วโลก จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องพยายามทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยไม่ต่างจากอินเดีย เพื่อลดช่องว่างด้านราคาข้าวนึ่ง
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย ได้ออกประกาศผ่อนปรนให้มีการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ โดยกำหนดโควตาส่งออกข้าวให้กับ 21 ประเทศ ปริมาณ 1 ล้านตัน ประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทย
การส่งออกข้าวนึ่งของไทยช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 373.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.26% โดยตลาดสำคัญที่มีการส่งออกลดลง อาทิ แอฟริกาใต้ ลด 10.99% เบนิน 75% รัสเซีย 39% เบลเยียม 1.3% อังกฤษ 10% และแคเมอรูน 76% ส่วนตลาดที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ไนจีเรีย 466% ซาอุดีอาระเบีย 3,654% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 124% สเปน 36% เนเธอร์แลนด์ 146% และ จิบูตี 755%
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |