นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดสัมมนา “เวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น การเปิดตลาดข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนและอาฟต้า” ที่จะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในกลุ่มสินค้าภาคการเกษตรต้นปีหน้า ว่า ตามกรอบอาฟต้าที่จะมีผล 1 มกราคม 2553 จะมีการลดภาษีพืชผลการเกษตรเหลือร้อยละ 0 จึงต้องระดมความเห็นจากผู้ประกอบการพืชผล เกษตรกรและประชาชน โดยขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศก็ได้เตรียมมาตรการรองรับการลดภาษีดังกล่าวไว้บ้างแล้ว คาดว่า ไม่เกินเดือนกรกฎาคมจะเสนอแนวทางการป้องกันและการช่วยเหลือทั้งหมดไปยังประเทศที่อยู่ในกรอบอาฟต้า รวมทั้งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ต่อไป
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เย็นวันนี้ จะหารือกันเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง เพราะวันนี้ข้าวอยู่ในมือเกษตรกรจำนวนมาก แต่ราคารับจำนำจะเท่าเดิมหรือไม่ขึ้นกับการพิจารณาของ กขช. แต่กระทรวงพาณิชย์มีความกังวลใจ เพราะหากดูปริมาณข้าวในสตอกรัฐบาลมีมากกว่า 4 ล้านตัน ยังไม่รวมข้าวเปลือกนาปรังฤดูกาลใหม่ และข้าวนาปีในปลายปีนี้ จะทำให้สตอกข้าวรัฐบาลมีจำนวนมากขึ้น จึงต้องเร่งหาทางระบาย ประกอบกับในขณะนี้อินเดียก็มีสัญญาณส่งออกข้าว ซึ่งจะยิ่งทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับลดลง รัฐบาลจึงต้องเร่งพิจารณาในเรื่องนี้อย่างรอบคอบและเหมาะสม
“นายกรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาตัวเลขในเรื่องค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องดูแลสินค้าเกษตรกว่า 290 ล้านบาทต่อเดือน จึงยิ่งต้องเร่งแก้ปัญหานี้ โดยกระทรวงพาณิชย์ไม่ขัดข้องกรณีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ใช้เงินงบประมาณว่าจ้างบริษัทผู้ตรวจสอบสินค้าเกษตร (เซอร์เวย์เยอร์) เนื่องจากเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ทราบว่า มีจำนวนพืชผลมากน้อยเพียงใดและเสียหายเพียงใด” นางพรทิวา กล่าว
นางชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการกำหนดยุทธศาตร์พืชผลการเกษตร ในวันพรุ่งนี้จะเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ให้เสร็จภายใน 15 วัน ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยจะพยายามทำอย่างเต็มที่เพราะเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองมาก และยอมรับว่า ทุกเรื่องที่ได้รับมอบหมาย มีความหนักใจและเป็นเรื่องที่ต้องหาทางทำให้สังคมเข้าใจ
ส่วนเรื่องแนวทางหลังจากเปิดตลาดการค้าตามกรอบอาฟต้า ได้กำหนดแนวทางป้องกันไม่ให้พืชผลจากประเทศเพื่อนบ้านไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทย เช่น ข้าว เพราะประเทศไทยเป็นผู้ปลูกข้าวรายใหญ่ คุณภาพสูง จึงเกรงว่า หากข้าวต่างประเทศเข้ามาปลอมปน จะทำให้ข้าวไปเสียภาพลักษณ์ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า มีมาตรการป้องกันและไม่ถือเป็นการกีดกันทางการค้า โดยจะเน้นดูแลข้าวจีเอ็มโอที่มีการปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากทั่วโลกยังไม่ยอมรับ
ที่มา สำนักข่าวไทย |