นายมนัส ห้วยหงษ์ทอง นายกสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวโน้มราคาข้าวว่าขณะนี้เริ่มอ่อนตัวลง เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังได้ปิดโครงการแล้วเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะที่เกษตรกรหลายพื้นที่อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้โรงสีต้องรับซื้อข้าวเปลือกตามราคาตลาด โดยข้าวเปลือกความชื้น 15% ซื้อที่ตันละ 9,500 บาท ความชื้นสูง ค25% ตันละ 8,000-8,100 บาท จากเดิมที่เกษตรกรนำข้าวจำนำกับโครงการจำนำของรัฐบาลข้าวเปลือกความชื้น 15% ตันละ 11,800 บาท ความชื้น 25% ตันละ 10,200-10,500 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงตันละ 2,300-2,500 บาท
โครงการรับจำนำข้าวที่ปิดไปแล้วนั้นนอกจากเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนแล้ว ผู้ประกอบการโรงสีได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะโรงสีที่สีข้าวขาวเนื่องจากตลาดรับซื้อน้อยเพราะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศไม่ค่อยมี ประกอบกับผู้ส่งออกรอประมูลซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาลจึงไม่ค่อยออกมารับซื้อ เวลานี้โรงสีข้าวขาวส่วนใหญ่หยุดกิจการชั่วคราว มีเพียงโรงสีข้าวนึ่งที่ดำเนินกิจการอยู่เพราะมีออร์เดอร์จากต่างประเทศเข้ามามาก
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังสิ้นสุดลงกว่าจะเริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีซึ่งเริ่มเดือนพฤศจิกายน คาดว่ารัฐบาลคงไม่ต่อเวลา แต่ช่วงเวลา 3 เดือนคือสิงหาคม กันยายนและตุลาคม รัฐบาลควรจะมีมาตรการออกมารองรับเพราะข้าวนาปรังเริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว และจะมีปริมาณมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งปีนี้คาดว่าข้าวนาปรังที่ออกช่วงนี้จะมีปริมาณโดยรวมถึง 2 ล้านตัน ถ้าหากราคาในท้องตลาดประมาณ 8,000-9,000 บาท ชาวนายอมรับได้ แต่คาดว่าจะตกลงไปถึง 6,000-7,000 บาท จะทำให้ชาวนาขาดทุนและอาจเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลได้
ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้หามาตรการมารองรับก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ควรจะเจรจากันนอกรอบ 3 ฝ่าย อาทิ ตัวแทนชาวนา รัฐบาล และพ่อค้าผู้ส่งออกข้าว ก่อนที่จะให้ชาวนาไปเรียกร้องเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ส่วนการประกันราคาที่จะใช้กับข้าวนาปีนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจน
ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ได้มีมติเมื่อ 29 กรกฎาคม 2552 อนุมัติราคาประกันข้าวเปลือกนาปี 2552/53 สำหรับข้าว 2 ประเภท คือ ข้าวขาวตันละ 10,000 บาท และข้าวหอมปทุมธานีตันละ 10,000 บาท เช่นกัน พร้อมทั้งเพิ่มโควตาการประกันราคาให้แก่เกษตรกรเป็นรายละ 20 ตัน จากเดิมรายละ 16 ตันส่วนการประกันราคาข้าวประเภทอื่นๆ นั้น ที่ประชุม กขช.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านการผลิตกลับไปพิจารณาและนำกลับมาเสนออีกครั้ง
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กขช.ยังเห็นชอบในหลักการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก 6 ข้อ ประกอบด้วย การเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ, การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกแต่ละจังหวัด, ผลักดันการส่งออกช่วงต้นฤดูการผลิต, การจำนำยุ้งฉางเกษตรกร, การแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก และการเพิ่มปริมาณการสต๊อกข้าวของผู้ส่งออก แต่อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งก่อนนำกลับมาเสนอที่ประชุม กขช.ในครั้งหน้า
ในวันเดียวกันที่ประชุม กขช.มีวาระจะต้องพิจารณางบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายในการรับประกันราคาข้าวดังกล่าวตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมา 4,050 ล้านบาท แต่เนื่องจากคณะกรรมการหลายคนยังเห็นว่างบประมาณดังกล่าวค่อนข้างสูงเกินไป จึงขอให้กลับไปทำตัวเลขมาใหม่และกลับมาเสนอในการประชุมครั้งหน้า
สำหรับการประมูลผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้นและแป้งมัน)ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2551/52 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม แบ่งเป็นมันเส้น 1 ล้านตัน แป้งมันสำปะหลัง 800,000 ตัน มีผู้เสนอราคาประมูลมันเส้น 29 ราย ราคาสูงสุดอยู่ที่ตันละ 4,310 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ตันละ 2,250 บาทมูลค่ารวมประมาณ 7,617 ล้านบาท ส่วนแป้งมันสำปะหลัง มีผู้ประมูลซื้อ 15 ราย ราคาสูงสุดอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน และต่ำสุดอยู่ที่ตันละ 6,300 บาท มูลค่าประมูลรวมอยู่ที่ 4,076 ล้านบาท
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|