นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เร่งเตรียมความพร้อมในการขยายระยะเวลารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 โดยเร็ว เพื่อให้มีความพร้อมทันกาลเปิดรับจำนำวันแรกวันที่ 9 ก.ย. 2553
"หลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้ขยายระยะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ออกไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ตอนนี้ได้สั่งการให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และโรงสีมาประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว โดยวันที่ 8 ก.ย.จะต้องประกาศจุดจำนำให้เกษตรกรทราบได้แล้ว เพื่อให้ทันกับกำหนดวันที่จะเปิดรับจำนำวันที่ 9 เดือนนี้" นายอลงกรณ์กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่จะให้เกษตรกรสามารถนำข้าวมาเข้า โครงการจำนำนาปรังรอบ 2 กำหนดให้เป็นผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2552 ภายในวันที่ 31 ก.ค. โดยครอบคลุมพื้นที่ 40 จังหวัด ที่ยังมีโควตาข้าวเหลือ จากเป้าหมายรับจำนำข้าวนาปรัง 6 ล้านตัน ซึ่งรับจำนำข้าวเปลือกรอบแรกมาแล้ว 5.1 ล้านตัน ยังเหลือโควตาอีก 9 แสนตัน แต่ยังไม่รวมข้าวเปลือก ที่ได้จากโครงการรับจำนำในพื้นที่จังหวัดภาคใต้อีกประมาณ 1-2 แสนตัน
ส่วนราคาจำนำยังคงยึดเกณฑ์เดิมจากการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังรอบแรก คือ ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 1.18 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 1.2 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียว ความชื้น 10% (สั้น) ตันละ 9,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ความชื้น 10% (ยาว) ตันละ 1 หมื่นบาท
สำหรับ 40 จังหวัด ที่ยังมีโควตาข้าวเหลือ ในการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังรอบ 2 เช่น สุพรรณบุรี 1.21 แสนตัน ชัยนาท โควตา 2.96 หมื่นตัน อยุธยา 2.94 หมื่นตัน ลพบุรี 3.88 หมื่นตัน สิงห์บุรี 1.07 หมื่นตัน อ่างทอง 1.34 หมื่นตัน ปราจีนบุรี 2.2 หมื่นตัน ฉะเชิงเทรา 3.25 หมื่นตัน และเพชรบุรี 1.40 หมื่นตัน เป็นต้น
แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะจับตาจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นพิเศษในการรับจำนำรอบนี้ อาจมีการลักลอบนำเข้าข้าวมาจากกัมพูชาสวมสิทธิได้ โดยเข้ามาทาง จ.ปราจีนบุรี หรือ จ.สระแก้ว ที่มีเขตจังหวัดติดต่อกับกัมพูชา
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เขาได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน เข้าไปแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยแพง หลังจากได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรบางพื้นที่ว่า ได้รับความเดือดร้อนจากราคาปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช มีราคาสูงขึ้น จึงได้ให้ไปตรวจสอบสถานการณ์ขายสินค้าปุ๋ยในตลาดอย่างเร่งด่วน เพราะปุ๋ยเป็นสินค้าในบัญชีควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีการดูแลราคา ณ หน้าโรงงาน และมีการกำหนดราคาแนะนำขายปลีกปุ๋ยเคมี จึงไม่ควรให้เกิดการฉวยโอกาสโก่งราคาปุ๋ย ในช่วงที่ความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้น
"แนวโน้มราคาปุ๋ยหลังจากนี้ อาจมีการปรับราคาขึ้นมาบ้าง ตามภาวการณ์ใช้ปุ๋ยตลาดโลกมีเพิ่มขึ้น หลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้น แต่ในระหว่างนี้ที่ปุ๋ยยังไม่ขึ้นราคา และมีราคาถูกกว่าปีก่อนมาก เพราะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาปุ๋ยได้ลดลงมาก ดังนั้น เกษตรกรจึงควรได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่มาโก่งราคาแบบนี้" นายอลงกรณ์กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |