แหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่ได้เกิดเหตุการณ์ทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในหลายรูปแบบ และที่ทำกันอย่างโจ๋งครึ่มแต่หน่วยงานรับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ดำเนินการจัดการกับผู้ที่อยู่ในกระบวนการทุจริตแต่อย่างใดก็คือการนำข้าวคุณภาพต่ำมาส่งมอบเข้าโกดังกลาง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรับซื้อข้าวเก่าจากผู้ส่งออกที่ประมูลซื้อจากสต๊อกรัฐบาลมาส่งกลับเข้าโกดังกลางอีกครั้ง หรือการซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า กัมพูชา ซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าข้าวไทยส่งเข้าโกดังกลาง แล้วนำข้าวฤดูใหม่ที่ได้จากโครงการรับจำนำไปขายท้องตลาดหรือขายให้กับผู้ส่งออก ฟันกำไรส่วนต่างตันละหลายพันบาท รวมถึงการส่งข้าวไม่ตรงสเปก เช่นระบุให้ส่งข้าวขาว 5% แต่นำส่งข้าวขาว 25% เป็นต้น
โดยล่าสุดมีผู้ประสงค์ดีได้ร้องเรียนผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" และต้องการให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบกระบวนการทุจริตในจังหวัดชัยนาทโดยด่วน โดยผู้ร้องเรียนให้รายละเอียดว่าช่วงสัปดาห์นี้มีโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำต้องสีข้าวและส่งเข้าโกดังกลาง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือโรงสีพื้นที่จังหวัดชัยนาทและสิงห์บุรี บางโรงได้ซื้อข้าวเก่าที่รับซื้อจากผู้ส่งออกซึ่งประมูลซื้อจากสต๊อกรัฐบาลมาส่งมอบเข้าโกดังกลาง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบได้ที่คลังสินค้า "พรชัย พรคณาปราชญ์" จังหวัดชัยนาท จะพบทันทีข้าวในโกดังกลางแห่งนี้เป็นข้าวเก่าเป็นส่วนใหญ่ โดยคลัง "พรชัย พรคณาปราชญ์" แห่งนี้ มีบริษัท มีโอเทค จำกัด เป็นเซอร์เวย์ตรวจรับมอบข้าว
แหล่งข่าวให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าโรงสีจะรับซื้อข้าวเก่าจากผู้ส่งออกที่ประมูลจากสต๊อกรัฐบาลที่กก.ละ 13-15 บาท หรือตันละ 13,000-15,000 บาท แล้วนำมาขัดเป็นข้าวใหม่แต่สภาพข้าวยังเป็นข้าวเก่าอยู่ดี ส่งเข้าคลังกลางรัฐบาล ขณะเดียวกันโรงสีกลุ่มนี้ได้นำข้าวที่รับจำนำนาปี 2551/52 สีขายท้องตลาดหรือขายให้กับผู้ส่งออกที่กก.ละ 19 บาท หรือกระสอบละ 1,900 บาท (ขนาดบรรจุ 100 กก.) หรือตันละ 19,000 บาท เท่ากับโรงสีจะได้กำไรจากส่วนต่างมากถึงตันละ 4,000-6,000 บาท
ทั้งนี้กระบวนการนี้จะดำเนินการโดยลำพังโรงสีฝ่ายเดียวไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเซอร์เวย์ตรวจรับมอบข้าว เจ้าหน้าที่รัฐทั้งเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.)และเจ้าหน้าที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งปัญหานี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโดยด่วน เพราะหากยังไม่เกิน 90 วัน โรงสีที่ส่งข้าวเข้าโกดังกลางยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบข้าวที่นำมาส่งมอบ และที่สำคัญต้องดำเนินการกับกระบวนการทุจริต เพราะหากรัฐบาลเปิดประมูลขายข้าวในคลังที่มีการทุจริตด้วยรูปแบบต่างๆ ดังกล่าว ผู้ประมูลซื้อจะฉวยโอกาสกดราคาซื้อเพราะสภาพข้าวไม่ตรงสเปกหรือคุณภาพต่ำ ในที่สุดรัฐบาลเป็นผู้เสียหาย ขณะเดียวกันโครงการรับจำนำไม่ได้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรอย่างแท้จริงแต่กับมีกลุ่มได้ประโยชน์เพียงบางกลุ่มเท่านั้น
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2551/52 ซึ่งสิ้นสุดโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551-28 กุมภาพันธ์ 2552 ยกเว้นภาคใต้ที่จะสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการทั้งสิ้นประมาณ 5.2 ล้านตัน วงเงินรับจำนำ 62,822 ล้านบาท ส่วนข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 จะเริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2552 ปริมาณ 2.5 ล้านตัน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |