น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยในระหว่างเปิดโครงการจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นกรณีการเปิดตลาดข้าวภายใต้พันธกรณีเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 เป็นต้นไป ประเทศอาเซียนจะลดภาษีนำเข้าข้าวเป็น 0% ซึ่งอาจทำให้มีข้าวด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้าไทยจำนวนมาก จึงจำเป็นที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องหามาตรการดูแลการนำเข้า เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมข้าวของไทยได้รับผลกระทบและเสียภาพลักษณ์ได้
มาตรการที่จะใช้ดูแลการนำเข้านั้น เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เห็นพ้องที่จะให้กำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้าให้ชัดเจน และให้นำเข้าได้เฉพาะเพื่อเป็นวัตถุดิบใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น ทำแป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว แต่ไม่ให้นำเข้าเพื่อบริโภคโดยตรง
นอกจากนี้ จะต้องมีการตรวจสอบทั้งด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยด้านสุขอนามัย การปลอดศัตรูพืช และปลอดจากการตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) รวมถึงจะต้องกำหนดด่านนำเข้าให้ชัดเจน และติดตามการนำเข้าและการใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การนำเข้าด้วย
“แม้จะเปิดเสรีนำเข้าข้าวจากอาเซียนได้ แต่ไทยต้องกำหนดมาตรการดูแล เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย ป้องกันการนำเข้าข้าวมาสวมสิทธิ์เกษตรกรไทยเข้าโครงการรับจำนำ คุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคข้าวไทย ป้องกันการระบาดของโรคและศัตรูข้าว และป้องกันการนำเข้าข้าวจีเอ็มโอ หากเราไม่มีมาตรการดูแล และมีปัญหาเกิดขึ้นกับข้าวไทย จะแก้ปัญหาได้ยาก และตลาดข้าวไทยจะเสียหายได้ ยืนยันว่า มาตรการของเราไม่ใช่การกีดกันทางการค้า” น.ส.ชุติมากล่าว
ทั้งนี้ กรมจะนำมาตรการดูแลการนำเข้าเบื้องต้นทั้งหมดมานำเสนอในการจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น การเปิดตลาดข้าวภายใต้อาฟตา ทั้ง 6 ครั้งทั่วประเทศ คาดจะได้ข้อสรุปเดือน ส.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาอนุมัติ แล้วจึงจะแจ้งให้องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) รับทราบ ก่อนมีผลบังคับใช้
ส่วนการจัดเวทีสาธารณะทั้ง 6 ครั้งนั้น ครั้งแรกวันที่ 10 มิ.ย.นี้ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 วันที่ 12 มิ.ย. ที่วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท จ.ชัยนาท จากนั้นวันที่ 22 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา วันที่ 25 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จ.สุรินทร์ วันที่ 26 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดร จ.อุดรธานี และครั้งสุดท้ายวันที่ 1 ก.ค. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กรุงเทพฯ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |