นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ว่า คณะอนุกรรมการได้พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาประกัน และปริมาณข้าวที่จะรับประกันราคาจากเกษตรกร ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
มติที่ประชุมกำหนดราคาประกันข้าวทั้ง 4 ชนิด 1. ข้าวหอมมะลิ ยังยืนที่ราคาประกันที่ได้เสนอ กขช.ไปก่อนหน้านี้ คือ 15,300 บาท/ตัน แต่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณประกันราคาได้ไม่เกิน 14 ตัน/ครัวเรือน จากเดิมที่กำหนดให้ประกันได้ไม่เกิน 16 ตัน/ครัวเรือน เนื่องจากผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ 344 กก./ไร่ เทียบกับอัตราครัวเรือนที่ปลูกข้าวหอมมะลิ หากกำหนดให้ประกันได้มากกว่า 16 ตัน จะทำให้เกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการหมดเกิดปัญหาตามมา
2. ข้าวหอมจังหวัด คิดราคาประกันที่ 13,300 บาท/ตัน ลดลงจากเดิม 2,000 บาท ปริมาณประกันราคาคงเดิม คือ ไม่เกิน 16 ตัน/ครัวเรือน ลดลงจากราคาเดิมที่เคยเสนอ กขช.ไป ตันละ 14,800 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากข้าวหอมจังหวัดมีคุณสมบัติเบื้องต้น คล้ายกับข้าวหอมมะลิมาก ต่างกันตรงที่ไม่ได้ปลูกในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ดังนั้น หากกำหนดราคาสูงหรือใกล้เคียงกับราคาข้าวหอมมะลิ จะส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวหอมจังหวัดมากขึ้น และให้ความสำคัญกับข้าวหอมมะลิน้อยลง
3. ข้าวเหนียว คิดราคาประกันที่ 9,500 บาท/ตัน ปริมาณคงเดิม คือ ไม่เกิน 16 ตัน/ครัวเรือน ลดลงจากราคาที่เคยเสนอ กขช.ไปที่ตันละ 13,400 บาท คณะกรรมการได้คำนวณต้นทุนการผลิตเฉพาะข้าวเหนียวที่ปลูกในภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวที่ขายกันในตลาด ส่วนข้าวเหนียวที่ปลูกในภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะปลูกเอาไว้บริโภคในครอบครัว
และ 4. ข้าวนาปรัง คิดราคาประกันที่ 10,000 บาท/ตัน ปริมาณประกัน 20 ตัน/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยเสนอ กขช.ราคาตันละ 9,200 บาท เนื่องจากมีการคิดราคากำไรใหม่ โดยบวกเพิ่มจากต้นทุนและค่าขนส่งเป็น 40% จากเดิมคิดที่กำไร 30% เนื่องจากที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันว่า แม้ว่าข้าวนาปรังจะสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง แต่เกษตรกรยังคงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ศัตรูพืช ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกร
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ราคาข้าวที่กระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบในเบื้องต้น ถือว่ามีความเหมาะสม แม้ว่าในส่วนของข้าวเหนียวและข้าวหอมจังหวัดจะปรับลดลง แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรรับได้ โดยในส่วนของราคาข้าวเหนียว ที่เดิมกำหนดราคาเอาไว้สูงมากเนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ คิดค่าเฉลี่ยต้นทุนการผลิต และผลผลิตต่อไร่ทั้งภาคเหนือและอีสานรวมกัน
นอกจากนี้ หากกำหนดราคาข้าวเหนียวไว้สูงเกินไป จะส่งผลให้เกษตรกรปลูกข้าวเหนียวมากขึ้น กระทบกับข้าวหอมมะลิ ที่มีพื้นที่ปลูกเดียวกันและเป็นผลให้ราคาข้าวหอมมะลิสูงขึ้น จะไม่เป็นที่ยอมรับในตลาด
ส่วนข้าวหอมจังหวัดแม้ราคาจะต่ำไปจากเดิมเล็กน้อย แต่ก็จะเป็นผลดีต่อราคาข้าวหอมมะลิ ที่ราคาจะไม่ผันผวนมากไป ทั้งนี้ เพราะข้าวหอมจังหวัดมีคุณสมบัติคล้ายกับหอมมะลิมาก หากเกษตรกรขายได้ราคาดี ก็จะหันมาปลูกมากขึ้น จนราคาหอมมะลิตกต่ำลง
ส่วนข้าวนาปรังที่กระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบให้เสนอเพิ่มกำไรจากเดิม 30% เป็น 40% จะทำให้ราคาอยู่ที่ตันละ 9,900 บาท แต่เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณจึงเพิ่มให้เป็น 10,000 บาท ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ราคาประกันที่พิจารณาใหม่ดังกล่าวจะเสนอให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 4 ส.ค.นี้ หลังจากนั้น จะเสนอให้ กขช.พิจารณาต่อไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|