นายนาคม ธีรสุวรรณจักร รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยภายหลังการเปิดซองระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลที่อยู่ในโกดังกลางของ อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศจำนวน 2.6 ล้านตัน วานนี้ (6 พ.ค.) ว่า มีเอกชนสนใจยื่นซองประมูลข้าวในครั้งนี้จำนวน 32 ราย โดยหลังจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับภาคเอกชน โดยมีตนเป็นประธาน
"ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปผลได้ คณะทำงานคงต้องไปเจรจาต่อรองกับเอกชน ที่ยื่นซองเสนอราคาก่อน แต่คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาต่อรอง ทั้งปริมาณที่จะขาย และราคา ได้ภายในสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาว่าจะอนุมัติการระบายข้าวในครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าการเจรจาต่อรองจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากทุกขั้นตอนอยู่บนความเป็นธรรมและโปร่งใส" นายนาคมกล่าว
วงการข้าวมึน"วุฒิกวี"โผล่ซื้อยกล็อต
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า จากการติดตามผลการเปิดประมูลข้าวครั้งนี้ พบว่ามีผู้ส่งออกเสนอราคาซื้อข้าวยกล็อต 2.6 ล้านตันหลายราย อาทิเช่น บริษัท เอเชีย โกลเด้นไรซ์ บริษัท ไชยพรค้าข้าว โรงสีสิงโตทอง จาก จ.กำแพงเพชร และบริษัท วุฒิกวี ส่วนที่เสนอซื้อเกือบยกล็อต อาทิเช่น บริษัท นครหลวงค้าข้าว และบริษัท สยามอินดิก้า โดยราคาเสนอซื้อต่ำสุดประมาณตันละ 1.1 หมื่นบาท และสูงสุด 1.46 หมื่นบาท
ทั้งนี้ ในการเสนอซื้อข้าวดังกล่าว เดิมผู้ที่เข้าร่วมประมูลข้าวครั้งนี้ คาดหมายว่าจะมีการซื้อข้าวยกล็อตโดยบริษัท สยามอินดิก้า ที่เสนอราคาซื้อตันละ 1.1-1.3 หมื่นบาทเท่านั้น แต่จากผลการเปิดซองพบว่ามีบริษัทดังกล่าว ไม่เสนอซื้อยกล็อต แต่มีบริษัทรายใหม่ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในวงการค้าข้าว คือ บริษัท วุฒิกวี ที่เสนอซื้อยกล็อตและให้ราคาสูงสุดถึงตันละ 1.46 หมื่นบาท ขณะที่โรงสีสิงโตทอง ก็เสนอราคาใกล้เคียงกับบริษัทวุฒิกวี
"ทุกคนรู้สึกแปลกใจว่าวุฒิกวีเป็นใครมาจากไหน เพราะจากการตรวจสอบประวัติการส่งออก พบว่ามีการส่งออกข้าวในช่วงที่ผ่านมาเพียง 4-5 พันตันเท่านั้น และมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงกล้าประมูลข้าวยกล็อตแบบนี้" แหล่งข่าวกล่าว
คาดการณ์ภัยแล้งปริมาณข้าวหด-ราคาพุ่ง
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของบริษัท วุฒิกวี ที่ได้เดินทางเข้ามาร่วมสังเกตการณ์เปิดซองประมูลข้าวในครั้งนี้ ได้รับการชี้แจงว่า วุฒิกวีเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น โดยเป็นการรวมกลุ่มกันระหว่างโรงสี และผู้ส่งออกหลายๆ รายรวมกัน และเหตุผลที่กล้ายื่นเสนอซื้อข้าวยกล็อตในครั้งนี้ เนื่องจากประเมินแนวโน้มแล้วว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวน่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง มีโอกาสที่ราคาจะดีขึ้น และย้ำว่า ถึงแม้จะเป็นรายเล็ก แต่มีความสามารถรับซื้อข้าวจำนวนมากของรัฐได้ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าจะชนะการประมูลครั้งนี้
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัท วุฒิกวี ที่เข้าร่วมประมูลข้าวในครั้งนี้ พบว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และสามารถเข้าร่วมประมูลข้าวในครั้งนี้ได้ ส่วนจะได้รับการพิจารณาอนุมัติขายข้าวให้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง และต้องดูว่าผู้ส่งออกรายอื่นพร้อมที่จะปรับเพิ่มราคาอีกหรือไม่ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเปิดชี้แจงหลักเกณฑ์การประมูลข้าวจำนวน 2.6 ล้านตัน ในวันที่ 4 พ.ค. 2552 ที่องค์การคลังสินค้า มีผู้พบเห็นว่ามีอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้เดินทางมาร่วมฟังการชี้แจง และในวันเปิดซองประมูลข้าววานนี้ (6 พ.ค.) อดีตรัฐมนตรีคนดังกล่าว ก็เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การเปิดซอง โดยมีท่าทีใกล้ชิดกับผู้ส่งออกข้าวบางรายที่ยื่นซองเสนอราคาสูงสุด และยกล็อตในครั้งนี้ด้วย
พาณิชย์รายงาน ครม.ขอขายข้าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ครม.ยังได้รับทราบรายงานเรื่องการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลของกระทรวงพาณิชย์ โดยเป็นวาระทราบจรเพื่อเป็นข้อมูลเรื่องที่ 14 โดยที่ประชุมครม.ไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ ขึ้นพิจารณาหรือหารือกันแต่อย่างใด
กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า กระทรวงได้ตั้งคณะทำงานดำเนินการประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ประกอบด้วย ผอ.อคส. เป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานอื่นๆ ร่วมเป็นกรรมการ พิจารณากรอบและเกณฑ์ราคาพื้นฐาน ในการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล
ข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าว ได้เสนอแผนระบายข้าวสารในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2552 โดยราคาขั้นพื้นฐาน ณ หน้าโกดังที่จะใช้เป็นราคากลางนั้น ให้ใช้ราคาที่มีการซื้อขายภายในประเทศ ประกอบด้วย ราคาข้าวสารเฉลี่ย 30 วันย้อนหลัง ของกรมการค้าภายในและสมาคมโรงสี ซึ่งเป็นราคาที่แท้จริงที่มีการเสนอซื้อและเสนอขาย หรือราคาส่งออก (เอฟ.โอ.บี.) หักด้วยค่าขนส่งเฉลี่ยถึงโกดังกลาง และค่าเสื่อมสภาพข้าวสารตามอายุการเก็บรักษา เป็นต้น
ชาวนาจับตาทุจริตขายข้าวสต็อกรัฐ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ภายหลังกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวออกจากโกดังได้แล้ว ควรมีคำสั่งให้แปรรูปข้าวในโรงสีทันที เพื่อให้โรงสีเหล่านี้รับซื้อข้าวจากเกษตรกรต่อไปได้ หากไม่ดำเนินการ จะส่งผลให้ราคาข้าวผันผวนอีกครั้ง โดยตลาดส่งออกจะถูกเสนอขายตัดราคา โดยกลุ่มผู้ส่งออกที่ซื้อข้าวจากภาครัฐได้
ที่ผ่านมา การประกวดราคาขายข้าวในสต็อกโดยกระทรวงพาณิชย์ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวางในแง่ของการทุจริต ซึ่งในการเปิดประกวดราคาครั้งนี้ สื่อมวลชนหลายแขนงตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ส่งออกบางรายเสนอผลประโยชน์กับผู้บริหารโครงการบางราย เป็นวงเงินสูงถึง 6,000 ล้านบาท เพื่อให้พิจารณาขายข้าวในราคาต่ำ วิธีการนี้นอกจากจะส่งผลให้ภาครัฐเสียผลประโยชน์ที่พึงได้แล้ว ยังส่งผลราคาข้าวในตลาดต่างประเทศผันผวน และอาจส่งผลกระทบถึงข้าวไทยได้
"ขณะนี้ ทราบว่าผู้ส่งออกที่เข้าร่วมประมูลซื้อข้าว ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงขายข้าวแล้วในตลาดต่างประเทศ จึงเท่ากับว่าผู้ส่งออกเหล่านี้มั่นใจว่าจะได้ของแน่ๆ ซึ่งไม่ชอบมาพากลนัก หลายอย่างต้องจับตามองและเชื่อมั่นได้ว่าการประมูลครั้งนี้ไม่โปร่งใสแน่" นายประสิทธิ์กล่าว
ครม.เพิ่มรับจำนำนาปรังเป็น 4 ล้านตัน
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.วานนี้ (6 พ.ค.) มีมติอนุมัติการปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 อีก 1.5 ล้านตัน ส่งผลให้เป้าหมายรับจำนำเพิ่มเป็น 4 ล้านตัน จากเดิม 2.5 ล้านตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังมีข้าวเปลือกและกำลังจะออกสู่ตลาดช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2552 โดยจะต้องใช้วงเงินในการรับจำนำ 1.77 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ 872 ล้านบาท ซึ่งแหล่งที่มาของเงินนั้น ให้ใช้วงเงินกู้สำหรับรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร 1.1 แสนล้านบาท
ครม.ยังมีมติอนุมัติการขยายระยะเวลาการรับจำนำมันสำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2551/2552 ที่จะหมดระยะเวลาโครงการในวันที่ 30 เม.ย. 2552 ไปสิ้นสุดในวันที่ 16 พ.ค. 2552
จับตานอมินียกสต็อกข้าวเอื้อรายใหญ่
แหล่งข่าววงการค้าข้าว กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกต การยื่นซองเปิดประมูลข้าวครั้งนี้ อาจมีการฮั้วกันของผู้ส่งออกรายใหญ่ เสนอราคา 1.4 หมื่นบาทต่อตัน 4 กลุ่ม เท่ากับบริษัทที่เสนอราคาสูงสุดและเสนอซื้อยกล็อต ซึ่งมีความเป็นไปได้ ที่จะแบ่งบางโกดังให้กัน อาจประมูลไปก่อนแล้วส่งข้าวให้ภายหลัง หรือบางบริษัทที่เข้าร่วมประมูลและมีโอกาสได้ข้าว เป็นนอมินีของบางบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำอยู่
แหล่งข่าว กล่าวว่า หากพิจารณาราคาเสนอซื้อเทียบกับราคาตลาดขณะนี้ รัฐบาลไม่ควรขาย หากได้ราคา 1.4 หมื่นบาทต่อตัน เพราะราคาตลาด 1.65 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งเซอร์เวเยอร์ให้การรับรองคุณภาพข้าวว่าข้าวในล็อตที่จะขายเป็นข้าวคุณภาพดี
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |