แหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 ที่ผ่านมาได้อนุมัติให้รับจำนำข้าวเปลือกนาปรังเพิ่มอีก 900,000 ตัน ถึงสิ้นเดือนกันยายนศกนี้ พร้อมกำหนดว่าหากเกษตรกรรายใดจำนำข้าวเต็มวงเงินที่ได้รับสิทธิคือ 350,000 บาท ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้อีก เชื่อว่าปริมาณข้าว 900,000 ตันจะจำนำเพิ่มได้ไม่กี่ราย เนื่องจากข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม-กันยายน เป็นรอบสองของชาวนา โดยรอบแรกเกี่ยวไปช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และได้ใช้วงเงินเต็มกันเกือบหมดแล้วจะเหลือเพียงไม่กี่รายที่ยังใช้ไม่เต็ม
"ถ้าถึงเวลาปฏิบัติคือเริ่มจำนำวันที่ 9 กันยายน ตามที่กรมการค้าภายในระบุ เชื่อว่าชาวนาจะมีปัญหาอีก หากนำข้าวไปจำนำแล้วไม่ได้รับราคาตามที่กำหนดคือข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 11,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 12,000 บาท เพราะสุดท้ายต้องขายให้โรงสีตามภาวะราคาตลาด การแก้ปัญหาดังกล่าวเท่ากับว่ารัฐบาลเพียงแค่ให้พ้นภาระว่าได้ให้ความช่วยเหลือแล้วโดยมีมาตรการให้รับจำนำเพิ่ม แต่ไม่ได้คำนึงถึงเงื่อนไขทางปฏิบัติว่าเป็นไปได้หรือไม่"
แหล่งข่าวกล่าวว่าอีกปัญหาที่รัฐต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือการสวมสิทธิ์เกษตรกร เพราะช่วงเดือนสิงหาคมไม่มีโครงการจำนำแต่เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวมาขายให้กับโรงสี ราคาตั้งแต่ตันละ 6,000-7,500 บาท ข้าวส่วนนี้โรงสีบางโรงอาจร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง นำมาสวมสิทธิ์เกษตรกรเข้าโครงการจำนำได้
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าหากมองยาวไปถึงโครงการประกันราคาที่รัฐบาลจะนำมาใช้ช่วยเหลือชาวนาแทนโครงการรับจำนำซึ่งจะเริ่มเดือนตุลาคม ศกนี้ ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือน ปัญหาจะยิ่งมีมากกว่าเพราะรัฐบาลยังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะด้านสินเชื่อที่จะปล่อยให้โรงสีรับซื้อข้าว เนื่องจากเวลานี้โรงสียังไม่ได้รับรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการรับสินเชื่อรับซื้อข้าวเปลือกฤดูใหม่ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกร หรือหากมีสินเชื่อให้โรงสีติดปัญหาหลักทรัพย์ติดจำนองกับสถาบันการเงินไปหมดแล้ว อีกทั้งสภาพคล่องเวลานี้การขายข้าวให้กับผู้ส่งออกได้รับชำระเงินจากผู้ส่งออกช้ามาก โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายใหญ่บางรายค้างชำระค่าข้าวให้กับโรงสีนานถึง 2 เดือน บางราย 45 วัน ถ้าโรงสีมีปัญหาสภาพคล่องจะมีผลต่อการรับซื้อข้าวฤดูใหม่ในราคาที่ลดลงรัฐบาลอาจต้องเสียงบประมาณชดเชยให้กับชาวนามากได้
นอกจากนี้ราคาข้าวที่เกษตรกรเคยได้รับสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จำนำสูงถึงตันละ 14,000 บาท หรือแม้แต่นาปรังปีนี้จำนำที่ตันละ 11,800 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้า 5% แต่โครงการนาปี 2552/53 กลับลดลงเหลือตันละ 10,000 บาท การเคลื่อนไหวของชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกร้องให้ประกันราคาเพิ่มเป็นตันละ 12,000 บาท เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลต้องปรับราคาประกันข้าวเปลือกเจ้าใหม่ มิฉะนั้นจะเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาอย่างแน่นอน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|