รัฐบาลเตรียมเปิดทดลองรับประกันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ เพื่อทดแทนการจำนำ เริ่มรับสมัครเกษตรกรร่วมโครงการ มิ.ย.นี้ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการทดลองรับประกันข้าวขาวนาปีอีกด้วย
จากกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดจะปรับระบบการดูแลสินค้าเกษตรจากการรับจำนำมาเป็นการประกันราคา เพื่อลดภาระปัญหาด้านการเงินที่แต่ละปีมีวงเงินรับจำนำกว่า 1 แสนล้านบาท และยังมีปัญหาจากการทุจริตด้วยนั้นล่าสุด ได้ตั้งคณะทำงานซึ่งมี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เป็นประธานขึ้นมาศึกษารายละเอียด
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการและรักษาการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะเลขานุการคณะทำงานฯ กล่าวว่าเบื้องต้นที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มทดลองรับประกันกับข้าวเปลือกหอมมะลิจำนวน 200,000 ตัน ในพื้นที่ 8 จังหวัดเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าโครงการในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ซึ่งในปีทดลองเกษตรกรไม่ต้องเสียเบี้ยประกันแต่อย่างใด และเพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ทางภาครัฐจะกำหนดราคาประกันให้สูงกว่าราคารับจำนำประมาณ 1,000 บาท/ตัน ส่วนในปีต่อ ๆ ไปหากประสบผลสำเร็จ ทางภาครัฐกำลังคำนวณว่าจะให้เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันอย่างไร โดยอาจจะจ่ายร้อยละ 0.5-1 ของราคาขาย เป็นต้น หากโครงการทำสำเร็จทางภาครัฐก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการจัดหางบประมาณไปรับจำนำ แก้ปัญหาการขาดทุนจากการจำนำและการทุจริตในระบบจำนำที่เกิดขึ้น ลดค่าใช้จ่ายที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นการบริษัทสำรวจข้าว ค่าแปลงสภาพที่ต้องจ้าโรงสีดำเนินการ ค่าโกดัง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะทำงานฯ มีผู้เสนอให้ทดลองรับประกันราคา ข้าวขาวนาปีด้วย แต่ก็คงจะต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะข้าวขาวมีความเสี่ยงทางด้านราคาสูงกว่า และคงจะต้องดูว่าพื้นที่ใดที่เหมาะสำหรับการทดลองรับประกัน
“ภาครัฐยังไม่ยกเลิกการรับจำนำ แต่จะทดลองรับประกันราคาควบคู่กันไป หากสำเร็จรัฐก็จะลดรายจ่ายในการดูแลราคาสินค้าเกษตรได้มาก เช่น กรณีข้าวหอมมะลิ เมื่อทดลองรับประกันเดือน มิ.ย.ก็จะรู้ราคาได้ในประมาณ เดือน ธ.ค. ซึ่งเกษตรกรจะนำข้าวไปขายให้ใครก็ได้ หากราคาขายต่ำกว่าประกัน 2,000 บาท รัฐก็จะจ่ายเงินชดเชยเพียง 2,000 บาทเท่านั้น ไม่ต้องจ่ายเต็มวงเงินเท่ากับราคารับจำนำที่สูงถึง 14,000 บาท/ตัน แต่รูปแบบทั้งหมดนี้คงจะต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมชาวนา ผู้ส่งออก สมาคมโรงสีให้รอบคอบด้วย”นายเอ็นนูกล่าว
ที่มา สำนักข่าวไทย |