www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

อานิสงส์พายุป้าหม่า ดึงราคาข้าวไทยสูง ดันส่งออกฟิลิปปินส์


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในวันที่ 7 ต.ค.นี้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะประชุมร่วมกับตัวแทนโรงสีนำโดยนายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และตัวแทนจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรวมประมาณ 300 คน เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2552/53 จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาทั้งหมด 6 มาตรการ เป็นมาตรการเสริมจากโครงการประกันราคาข้าวเปลือกนาปีซึ่งได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ในกรณีที่เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำในประเทศ

สาเหตุที่รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว เพราะเกรงว่าระบบประกันราคาที่จะใช้ปีนี้เป็น ปีแรกยังไม่มีความพร้อม 100% ในเรื่องทะเบียนเกษตรกร การประกาศราคาตลาดอ้างอิงยังมีความล่าช้า จนอาจทำให้เกษตรกรเร่งขายข้าวออกสู่ตลาด จากเดิมที่ระบบจำนำจะช่วยดึงข้าวออกจากตลาด 30% ของปริมาณผลผลิตข้าวทั้งหมด แต่ระบบนี้จะทำให้ปริมาณซัพพลายข้าวในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมากจนทำให้ราคาตกต่ำ รัฐบาลจะไม่สามารถดูแลราคาในตลาดได้ ทำให้ต้องเสียงบประมาณในการชดเชย รายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก แต่ยังได้อานิสงส์จากสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกมีโอกาสที่ราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากประเทศคู่ค้าอย่างฟิลิปปินส์ได้รับความเสียหายจากพายุป้าหม่า และคู่แข่งในการส่งออกข้าวอย่างอินเดียที่ประสบภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงจนต้องชะลอการส่งออกข้าว รวมถึงเวียดนามที่ได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นกิสนา อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ช่วยดึงราคาข้าวในตลาดโลกปรับ สูงขึ้นได้ และส่งผลดีต่อราคาข้าวไทยในปีนี้ปรับสูงขึ้นตาม

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การเข้าร่วมประชุม Rice Convention ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียในปลายสัปดาห์นี้จะมีการประเมินสถานการณ์การค้าข้าวโลกซึ่งมีโอกาสที่ปริมาณความต้องการข้าวทั่วโลกจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2553 จากเหตุการณ์ที่อินเดียประสบภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงจนชะลอการส่งออกข้าว อาจจะทำให้ประเทศที่เคยนำเข้าข้าวจากอินเดียหันกลับมาสั่งซื้อข้าวไทยและฟิลิปปินส์ที่ประสบภาวะภัยธรรมชาติอาจจะต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มสำรองอย่างเร่งด่วน จะส่งผลให้ราคาข้าวอาจจะปรับตัวดีขึ้นทั่วโลก รวมถึงข้าวไทยด้วย

"หากรัฐบาลอ้างว่า ผู้ส่งออกข้าวที่ได้รับอานิสงส์จากการประกันราคาควรไปช่วยซื้อข้าวต่อจากโรงสีในราคาตลาดนั้น หรือถ้าต้องการให้เกิดเสถียรภาพราคารัฐบาลควรมีมาตรการจูงใจช่วยเหลือผู้ส่งออกด้วยเช่นกัน อาทิ เงินทุนหมุนเวียน การหาตลาดจีทูจี หรือการระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาลที่มีอยู่ 5-6 ล้านตัน ในขณะนี้ออกมาเป็นวัตถุดิบให้ผู้ส่งออก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวของไทยมีเสถียรภาพใกล้เคียงตลาดโลก เพราะการใช้ระบบประกันราคาก็ช่วยให้ผู้ส่งออกทั้งรายใหญ่-รายเล็กมีต้นทุนเท่ากัน แข่งขันกันได้อยู่แล้ว"

นายชูเกียรติกล่าวถึงกรณีที่กรมการค้าต่างประเทศเตรียมจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อขายข้าวให้กับหน่วยงานจัดซื้อข้าวจากฟิลิปปินส์ (NFA) ปริมาณ 5 แสนตัน ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้เอกชนขายให้กับฟิลิปปินส์แทนการทำจีทูจีระหว่างรัฐบาลไทยและฟิลิปปินส์ เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้ทำจีทูจีกับฟิลิปปินส์มา 5 ปีแล้ว ทำให้ไม่มีการบันทึกการส่งออกย้อนหลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ฟิลิปปินส์กำหนด อาจจะทำให้สามารถขายข้าวได้เพียง 1-2 แสนตันเท่านั้น ควรให้เอกชนเข้าประมูลขายกับ NFA โดยตรง เพราะทำการค้ากันโดยปกติอยู่แล้ว หลังจากนั้นรัฐบาลก็ระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลให้กับผู้ส่งออก เพื่อให้ผู้ส่งออกส่งออกดังกล่าวแทน และโดยปกติรัฐบาลฟิลิปปินส์อาจจะแบ่งไปเป็นออร์เดอร์จากเวียดนามด้วย เพราะมีราคาต่ำกว่าไทยราวตันละ 50-100 เหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ในระดับการเมืองอย่างใกล้ชิดกับฟิลิปปินส์ในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ 6 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาประกอบด้วย 1.รัฐเข้าไปอุดหนุนดอกเบี้ยให้โรงสี 3% เพื่อให้โรงสีเข้ารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาปริมาณ 2 ล้านตัน ในราคานำตลาดตันละ 100-200 บาท เพื่อเป็นการช่วยดึงราคาไม่ตกต่ำ 2.รัฐบาลเข้าไปสนับสนุนเพิ่มสภาพคล่องแก่องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เข้าไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกร กำหนดให้ซื้อข้าวขาว 5% ตันละ 9,000 บาท จากราคาประกัน 10,000 บาท 3.ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปแทรกแซงซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ ในกรณีที่ราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกันถึงตันละ 1,000 บาท โดยกำหนดปริมาณ 1.5 ล้านตัน เพื่อเก็บไว้ในยุ้งฉางเกษตรกร โดยใช้เงินจากคณะกรรมการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

4.ส่งเสริมจัดตลาดนัดข้าวเปลือกตามพื้นที่ที่มีปริมาณข้าวมาก เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายและป้องกันการถูกกดราคารับซื้อ และ 5.ให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งหาตลาดขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพื่อระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลออกนอกประเทศให้เร็วที่สุด ทันช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังเริ่มขึ้น และ 6.ให้ อคส. พิจารณาออกมาตรการชะลอการขายข้าวของชาวนา โดยให้นำข้าวเปลือกที่ปลูกได้มาฝากเก็บไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกร โดยเน้นเป้าหมายข้าวเหนียว ข้าวเจ้าในภาคอีสานและภาคเหนือ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.