นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2552 นี้สมาชิกสมาคมผู้นำเข้าข้าวแห่งฮ่องกงประมาณ 30 คน จะเดินทางมาประชุมร่วมกับสมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าวของไทย ที่กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องข้าวระหว่างกัน โดยฮ่องกงถือได้ว่าเป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่ของไทย และก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายมีการเซ็นสัญญาซื้อขายประจำปีกันทุกปี กระทั่งสมัยนายอดิศัย โพธารามิก ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ยกเลิกสัญญาซื้อขายประจำปี แต่ยังคงมีการซื้อขายกันปกต
"ผลจากการซื้อขายกันปกติไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายประจำปี ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการพบปะประจำปีไม่มีจึงทำให้เกิดการห่างเหินกันไป ประกอบกับปีที่ผ่านมาราคาข้าวไทยทุกชนิดรวมถึงข้าวหอมมะลิราคาสูงผิดปกติ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยผิดสัญญาการส่งมอบข้าวให้กับฮ่องกง คิดว่าทางฮ่องกงคงจะเป็นห่วงปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำอีก จึงต้องการเข้ามารับฟังสถานการณ์ผลผลิต ราคา คุณภาพข้าวรวมถึงการแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน" นายชูเกียรติ กล่าวและว่า
สำหรับฮ่องกงนับได้ว่าเป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่และเก่าแก่ของไทย โดยมีการนำเข้าปีละประมาณ 250,000 ตันแต่ระยะหลัง หลังจากที่ราคาข้าวหอมมะลิไทยแพงมาก ฮ่องกงเริ่มหันไปนำเข้าข้าวหอมมะลิจากจีนและเวียดนาม โดยข้าวหอมมะลิเวียดนามขายเพียงตันละประมาณ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยตันละ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางเยือนประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดเดินทางเยือนเวียดนามวันที่ 10 กรกฎาคม ศกนี้โดยจะออกเดินทางเช้าและเดินทางกลับเวลาประมาณ 23.00 น.วันเดียวกัน โดยจะพบปะหารือกับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ สานต่อนโยบายปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ทันสมัยขึ้น โดยประเด็นหารือหลักได้แก่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและคมนาคม
"จะเน้นความร่วมมือเรื่องข้าว เพราะไทยและเวียดนามเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ โดยจะขอความร่วมมือในเรื่องหุ้นส่วนจัดทำสต๊อกข้าวของภูมิภาค"
อย่างไรก็ดีการเดินทางเยือนประเทศเวียดนามของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ โดยมีประเด็นหารือเรื่องข้าวด้วยนั้น นายชูเกียรติ กล่าวว่าทางคณะของนายกรัฐมนตรีไม่ได้เชิญภาคเอกชนร่วมเดินทางไปด้วย และไม่ได้มีการหารือกับภาคเอกชนก่อนเดินทางแต่อย่างใด คิดว่าคงจะเป็นการหารือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ไม่ได้เกี่ยวกับภาคเอกชน
อย่างไรก็ดีในปีนี้เวียดนามได้เพิ่มเป้าหมายปริมาณการส่งออกข้าว จากเดิมที่ได้ตั้งเป้าไว้ 5-5.2 ล้านตัน เป็น 6 ล้านตัน ซึ่งชนิดข้าวของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นชนิดเดียวกับไทย การที่เวียดนามเพิ่มปริมาณการส่งออกเท่ากับทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดไปอีก 1 ล้านตัน และเวลานี้ชนิดข้าวขาว 5% เวียดนามถูกกว่าไทยตันละ 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเวียดนามขายตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ ของไทยตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ
นายชูเกียรติ เผยเพิ่มเติมว่านอกจากประเทศเวียดนามแล้วคู่แข่งที่สำคัญขณะนี้คือพม่า เพราะปีนี้พม่าตั้งเป้าส่งออกข้าวถึง 1 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมามียอดส่งออกเพียง 150,000 ตัน และปี 2553 ตั้งเป้าที่จะส่งออกถึง 1.5 ล้านตัน ซึ่งพื้นที่ของพม่ายังมีศักยภาพอีกมากจึงเป็นอีกประเทศที่น่าจับตามอง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |