รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมทำหนังสือถึงนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ขอให้เลื่อนการจัดประชุม กนศ.ให้เร็วขึ้น หลังจากที่ได้สั่งเลื่อนจากวันที่ 6 พ.ย. เป็นวันที่ 19 พ.ย. เนื่องจากการเลื่อนประชุมนานเกินไป ส่งผลกระทบต่อวาระเร่งด่วน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ กนศ.
ทั้งนี้ วาระสำคัญที่จะเสนอให้ กนศ. พิจารณา ได้แก่ การพิจารณากำหนดท่าทีของไทย กรณีที่ฟิลิปปินส์ชะลอการลดภาษีข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) โดยจะคงภาษีข้าวที่ 40% ไปจนถึงปี 2557 และลดภาษีเหลือ 35% ในปี 2558 ซึ่งไทยต้องเจรจาให้ชดเชย โดยนางพรทิวาได้หารือในเบื้องต้นกับรัฐมนตรีการค้าของฟิลิปปินส์ไปแล้ว ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค.ที่ผ่านมา
"ฟิลิปปินส์ได้เสนอชดเชยให้ไทย โดยให้โควตานำเข้าข้าวเพียง 5 หมื่นตัน แต่ไทยขอไป 3.6 แสนตัน ซึ่งไทยยืนยันว่าจะต้องได้และได้มีหนังสือยืนยันไปทางฟิลิปปินส์แล้ว ซึ่งปริมาณดังกล่าวคำนวณยอดส่งออกย้อนหลังไปฟิลิปปินส์เฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปริมาณที่เหมาะสม หากไม่ได้ตามนี้ ก็ต้องขอเป็นมติ กนศ. ออกมาว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป ต่อไปจะเป็นเรื่องของการตอบโต้ทางการค้าแล้ว" รายงานข่าวระบุ
นอกจากนี้ ยังจะมีการเสนอให้ กนศ. พิจารณาความตกลงว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ (เอ็มโอเอ) จำนวน 1 ล้านตัน เพื่อให้ฟิลิปปินส์ผูกพันที่จะซื้อขายข้าวกับไทยในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ด้วย โดยฟิลิปปินส์ได้เสนอให้ไทยเพียงแค่ 2 แสนตัน ซึ่งไทยยังยอมรับไม่ได้
การสั่งเลื่อนประชุมในครั้งนี้ ยังได้ส่งผลต่อกำหนดการเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ โดยนางพรทิวาที่มีกำหนดการจะเดินทางไปเจรจากับฟิลิปปินส์ตามที่นัดหมายกันไว้ในช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ เพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงต่างๆ ที่ได้เจรจากันไว้ในเบื้องต้น รวมทั้งยังส่งผลต่อการเจรจาขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ เพราะจะนำคณะภาคเอกชนเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 อาเซียนจะมีการเปิดเสรีการค้าสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) จะลดภาษีสินค้าทั้งหมดเหลือ 0% มีรายการสินค้าอ่อนไหว และสินค้าอ่อนไหวสูง ที่จะไม่ลดภาษีเหลือ 0% เพียง 93 รายการ จากรายการสินค้าทั้งหมด 8,300 รายการ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ข้าวไทยจะได้ลดภาษี จากอินโดนีเซียที่ผูกพันภาษีในดับเบิลยูทีโอสูงถึง 160% แต่ในอาเซียน 25% น้ำตาลอินโดนีเซีย จะลดภาษีเหลือ 5-10% ในปี 2558
"ผู้ประกอบการไทยควรจะวางแผนการบุกเจาะตลาดอาเซียน เพราะปีหน้าสินค้าทั้งหมดภาษีจะเหลือ 0% ทำให้การค้าขายระหว่างกันไม่มีกำแพงภาษีอีกต่อไป ทำให้อาเซียนจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญของไทย" นางนันทวัลย์กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|