www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

เดินหน้าโครงการประกันราคาข้าว กลุ่มผู้ส่งออกที่มีโรงสีกินรวบต้นทางยันปลายทาง


รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรมาแทนที่โครงการรับจำนำมาตลอด ล่าสุดประสบความสำเร็จหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค. เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2552/2553 โดยกำหนดราคาประกันข้าวเปลือกความชื้น 15% ดังนี้ ข้าวหอมมะลิตันละ 15,300 บาท, ข้าวหอมจังหวัดตันละ 14,300 บาท ข้าวเจ้าและข้าวปทุมธานีราคาเท่ากัน 10,000 บาท และข้าวเหนียวตันละ 9,500 บาท โดยสามารถใช้สิทธิประกันราคาตั้งแต่ ต.ค. 2552-ก.พ.2553

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการรับจำนำพืชผลการเกษตร เป็นภาระกับรัฐบาล และที่สำคัญเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำทั่วประเทศมีเพียงส่วนน้อย ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ และรัฐบาลต้องแบกรับภาระนำภาษีของประชาชนมาดำเนินการ จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการแทรกแซงราคา โดยหันมาใช้การประกันราคา

การประกันจะไม่เกิดการทุจริต รั่วไหล และต้องนำเงินงบประมาณที่เป็นภาษีอากรของประชาชนมาแบกรับภาระเหมือนโครงการรับจำนำ และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเก็บสต๊อกสินค้าเกษตร และยังเชื่อว่าแนวทางนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งรัฐบาลจะมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรสามารถนำมาบริหารจัดการและสร้างเสถียรภาพของสินค้าเกษตรไทย และที่สำคัญตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ตามกรอบความร่วมมืออาเซียนจะมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเหลือร้อยละ 0 หากเป็นโครงการรับจำนำจะเกิดปัญหาการสวมสิทธิ

แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกข้าว มองถึงข้อดีของโครงการประกันราคาว่า ทำให้เกิดการแข่งขันซื้อข้าวเสรีในตลาด ราคาข้าวในตลาดจะปรับสมดุลตามดีมานด์และซัพพลาย หากเป็นช่วงฤดูกาลที่สินค้าออกสู่ตลาดมาก ย่อมทำให้ราคาข้าวในตลาดลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ซื้อข้าวทั้งระบบนับตั้งแต่พ่อค้าข้าว (หยง) โรงสี และผู้ส่งออก ที่จะได้สินค้าราคาถูกลง นำไปสีแปรสภาพและส่งออก จากเดิมระบบจำนำมักจะกำหนดราคาสูงจนบิดเบือนกลไกตลาด

อย่างไรก็ตาม "ผู้ส่งออกที่มีโรงสีของตนเอง" จะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะจะได้วัตถุดิบข้าวเปลือกราคาถูกตั้งแต่ต้นทาง เมื่อสีแปร และส่งออกถึงปลายทางมีต้นทุนลดลงกว่าปกติ ซึ่งปัจจุบันผู้ส่งออกที่มีโรงสีเป็นของตัวเอง เช่น บริษัท เอเชีย โกลเด้นท์ไรซ์ มีโรงสีราว 10 โรง บริษัท เจียเม้ง 3-4 โรง, บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด มีโรงสี 2-3 โรง บริษัท ไรซ์ แลนด์ และบริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว ซึ่งเป็นผู้ส่งออกที่เกิดจากการรวมกลุ่มโรงสี ส่วนกลุ่มผู้ส่งออกที่ไม่มีโรงสีเป็นของตนเอง เช่น บริษัท พงษ์ลาภ, เครือนครหลวงค้าข้าว เป็นต้น กลุ่มนี้จะต้องเข้าไปแข่งขันซื้อข้าวในตลาด อาจจะมีต้นทุนสูงกว่ากลุ่มแรก อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์มากหรือน้อยก็ขึ้นกับราคาต่างประเทศด้วย หากราคาส่งออกลดลงก็ไม่ได้ประโยชน์

ส่วนกลุ่มโรงสีบางกลุ่มที่ยังคัดค้านการประกันราคา เนื่องจากโรงสีจะต้องเข้าไปแย่งซื้อข้าวในตลาดทำให้ต้องลงทุนมากขึ้น จากเดิมมีกลุ่มโรงสีที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลราว 500-600 โรง ไม่ต้องเสียเงินซื้อข้าวซึ่งเป็นต้นทุน 80% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดจึงมีผู้ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะโรงสีขนาดเล็กที่อาจจะมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ไม่สามารถแย่งซื้อข้าวได้ ถ้าหากพื้นที่ใดมี โรงสีแข่งขันซื้อน้อย ชาวนาย่อมจะไม่มีทางเลือกในการขายข้าวเปลือก

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงสี กล่าวว่า โรงสีไม่เห็นด้วยกับการใช้ระบบประกันราคา เพราะระบบนี้จะส่งผลทำให้ราคาข้าวในตลาดทั้งระบบลดลง เพราะถึงแม้ว่าระบบประกันจะทำให้รัฐบาลจ่ายเพียงค่าชดเชยราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิง สูญเสียงบประมาณน้อยกว่าการจำนำซึ่งต้องจ่ายค่าข้าว 100% แต่ประกันราคานี้รัฐบาลไม่เก็บสต๊อกข้าว จึงไม่มีการดึงข้าวออกจากระบบ ทำให้ปริมาณซัพพลายข้าวในตลาดเท่าเดิม ชาวนาที่ไม่มีสต๊อกยุ้งฉางจะยิ่งเร่งขายข้าวออกสู่ตลาดทำให้ราคาข้าวในตลาดตกต่ำลงทั้งระบบ ขณะที่ระบบการจำนำ รัฐบาลดึงข้าวออกจากตลาด 30% ของปริมาณผลผลิต หรือ 8-9 ล้านตันมาเก็บสต๊อกไว้ ราคาข้าวในตลาดทั้งหมดจะถูกยกระดับราคาสูงขึ้น ชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการจำนำก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน แต่ระบบนี้ราคาข้าวในตลาดต่ำลง ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือผู้ส่งออก และผู้ซื้อต่างประเทศที่จะได้สินค้าต้นทุนต่ำลง

ส่วนจุดอ่อนของโครงการในด้านขั้นตอนการดำเนินการก็ยังไม่พร้อม เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกรทำไม่ได้ครบถ้วน ส่วนเรื่องการที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องเก็บสินค้า อาจจะมีผลต่อการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งอาจไม่เห็นด้วย หากต้องจ่ายเงิน แต่ไม่มีสินค้า

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.