www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ประมูลข้าว 2.6 ล้านตัน หน้าใหม่มาแรง แซงหน้า 5 เสือเก่า


การเปิดประมูลขายข้าวสต๊อกของรัฐบาลจำนวน 2.6 ล้านตัน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการค้าข้าวไทย ประการหนึ่งคือเป็นการแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการของบริษัทค้าข้าวน้องใหม่ 2 รายนั่นคือบริษัท สิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท วุฒิกวี จำกัด อีกประการคือราคาข้าวที่รัฐบาลจะตัดสินใจขาย เพราะราคาที่เสนอมาหากกระทรวงพาณิชย์ตัดสินใจขายขาดทุนทันตาเห็นตันละ 7,500-8,500 บาท ซึ่งเหตุการณ์หลังต้องรอดูภายในสัปดาห์นี้ว่า "พรทิวา นาคาศัย" เจ้ากระทรวงพาณิชย์จะตัดสินใจอย่างไร?

จับตาหน้าใหม่มาแรง

บริษัท วุฒิกวี จำกัด กับบริษัท สิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด สองบริษัทนี้เป็นชื่อที่วงการค้าข้าวประมาทไม่ได้ เพราะการเสนอราคาซื้อข้าวจากการเปิดประมูลขายของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม บริษัท สิงห์โตทองไรซ์ฯ เสนอซื้อข้าวนาปรังปี 2551 และนาปี 2551/52 รวมกัน 2.4 ล้านตัน มูลค่า 34,144 ล้านบาท โดยเสนอราคาซื้อข้าวนาปรังสูงสุดที่ตันละ15,500 บาท ต่ำสุดที่ตันละ 13,000 บาท ข้าวนาปีสูงสุดตันละ 14,000 บาท ต่ำสุดที่ตันละ 12,000 บาท ขณะที่บริษัท วุฒิกวี จำกัด เสนอซื้อทั้งสองชนิดรวมกัน 2.4 ล้านตัน มูลค่า 35,497 ล้านบาท เสนอราคาข้าวนาปรังราคาเดียวที่ตันละ 14,600 บาท ข้าวนาปีราคาเดียวตันละ 14,600 บาท

ราคาที่น้องใหม่ทั้งสองเสนอดังกล่าวทำให้ 5 เสือค้าข้าวเจ้าเก่าที่ครองตลาดมานานนับทศวรรษ อาทิ บริษัท นครหลวงค้าข้าวฯ ของ "วรพงศ์ พิชญ์พงศ์ศา" บริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์ฯ ภายใต้การกุมบังเหียนของ "สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์" กลุ่มข้าวไชยพรของ "ไพบูลย์ ควรทรงธรรม" บริษัท ซีพีอินเตอร์เทรดฯ ที่บริหารโดย "สุเมธ เหล่าโมราพร" และ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ของ "สมพงษ์ กิตติเรียงลาภ" ที่เอ่ยมาทั้งหมดยังต้องเข้าคิวต่อท้ายชื่อของ "วุฒิกวี" และ "สิงห์โตทองไรซ์ฯ"

เป็นใครมาจากไหน

ทั้งนี้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าเสือค้าข้าวตัวใหม่ทั้งสองตัวนี้จะเป็นเสือที่ก้าวกระโดด เช่น 5 เสือดังกล่าวข้างต้น หรือเป็นเสือหมอบ เพราะมีตัวอย่างและบทเรียนให้เห็นแล้วในวงการค้าข้าว และการหมอบอย่างราบคาบของเสือค้าข้าวบางตัวก็มีเหตุจากการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาล รวมถึงการนำพาบริษัทเข้าไปผูกพันอย่างแนบแน่นกับนักการเมือง!!!

สำหรับบริษัท สิงห์โตทองไรซ์ฯ ชื่อนี้พอจะคุ้นชื่อกันอยู่บ้างในแวดวงการประมูลซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาก็ได้มีการเสนอราคาเกือบทุกครั้งแต่ปริมาณไม่มาก และคนในวงการค้าข้าวตั้งแต่พ่อค้าคนกลางค้าข้าวเปลือก โรงสี หยง ผู้ส่งออก ต่างรู้จักดี แต่บริษัทนี้มีความไม่ธรรมดาที่น่าติดตาม

เพราะบริษัท สิงห์โตทองไรซ์ฯ เป็นบริษัทส่งออกข้าว ที่เติบโตมาจากพ่อค้าคนกลางค้าข้าวเปลือก จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้น ภายใต้การบุกเบิกของ "มนต์ชัย รุ่งชาญชัย" ที่ปัจจุบันวัยเพียง 39 ปี หลังจากนั้นปี 2544 ก้าวขึ้นสู่ผู้ประกอบการโรงสีที่ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นโรงสีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะมีกำลังผลิตถึง 2,000 ตันข้าวเปลือกต่อปี ปี 2547 เริ่มส่งออกข้าวไปต่างประเทศ

การก้าวเติบโตของ "สิงโตทองไรซ์ฯ" คนในแวดวงโรงสีข้าวเห็นตรงกันว่าการบริหารกิจการของ "มนต์ชัย" เป็นการบริหารที่กล้าได้กล้าเสีย กล้าลงทุน ที่คนวัย 50 ปีขึ้นในธุรกิจนี้ไม่กล้าอย่างเขาแน่นอน

"มนต์ชัย รุ่งชาญชัย" หรือชื่อที่คนในวงการค้าข้าวเรียกเขาด้วยความคุ้นเคยว่า "หรั่ง" วัย 39 ปี บอกว่าเหตุที่เขากล้าประมูลซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้จำนวนมากถึง 2.4 ล้านตันเศษ เพราะส่วนหนึ่งมีออร์เดอร์อยู่ในมือบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่เขาต้องการขายโดยนำใบสำแดงส่งออกของบริษัทอื่นมาสำแดงต่อกระทรวงพาณิชย์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือการนำข้าวที่ประมูลได้ไปขายต่อให้กับผู้ส่งออกรายอื่นแล้วนำใบสำแดงของบริษัทส่งออกมาสำแดงต่อกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ไม่ผิดระเบียบ

อย่างไรก็ดีเงื่อนไขการใช้ใบสำแดงส่งออก กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้แจ้งให้กับผู้ประมูลทราบอย่างเป็นทางการ ไม่มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าให้ใช้ใบสำแดงของบริษัทส่งออกอื่นได้ 100% เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา ใช้ได้ 30% หรือห้ามใช้เลย เพราะข่าวที่ออกมาให้ใช้ได้แค่ 30% เป็นการพูดต่อๆ กันมาไม่ได้มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหากให้ใช้ได้แค่ 30% หรือไม่ให้ใช้เลยอาจกระทบต่อการรับมอบข้าวบ้าง

อีกเหตุผลของความกล้าประมูล 2.4 ล้านตันเพราะ "สิงห์โตทองไรซ์ฯ" ทำธุรกิจโรงสีที่ส่งข้าวให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ทุกราย เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ส่งออกทุกราย เป็นโรงสีที่ร่วมโครงการจำนำข้าวรัฐบาลปีละ 200,000 ตัน มีโกดังรับฝากเก็บข้าวรัฐบาล 200,000 ตัน ที่เชื่อว่าจะสามารถเจรจาขายให้กับผู้ส่งออกได้ กระนั้นก็ดีเขาปฏิเสธขณะนี้ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง

สำหรับบริษัท วุฒิกวี จำกัด ที่คนในวงการข้าวกังขากันไม่หาย เพราะไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย และผลการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าบริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ปี 2550 งบการเงินในส่วนของงบดุล มีสินทรัพย์เพียง 267,233.76 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีทรัพย์สิน 184,017.92 บาท มีรายได้ปี 2550 เพียง 72,000 บาทมีกำไร 6,011.27 บาท ขณะที่ปี 2549 มีรายได้ 1,710.38 บาท ขาดทุน 66,654.36 บาท

ส่วนผู้ถือหุ้นมี 7 คน ประกอบด้วย นายธีรวุฒิ กวีธนมณี 2,500 หุ้น นายกระชิต สิงขร 2,500 หุ้น นายทองอินทร์ โลหะการก 1,000 หุ้น นายสิทธิพงศ์ สีสนธิ์ 1,000 หุ้นนายสิริพงษ์ สิริสวย 1,000 หุ้น นายสุพจน์ เอี่ยมวิจารณ์ 1,000 หุ้น นายสุรเดช พานทอง 1,000 หุ้น ขณะที่นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มาสังเกตการณ์ประมูลข้าวครั้งนี้ตั้งแต่วันชี้แจงรายละเอียดและวันประมูลจริง ยอมรับกับสื่อมวลชนว่ารู้จักกับผู้บริหารบริษัท วุฒิกวีฯ เพราะเป็นพรรคพวกกัน

รัฐบาลขาดทุนพันเปอร์เซ็นต์:

สำหรับผลประมูลข้าวครั้งนี้ หลังจากที่การประมูลเสร็จสิ้น คณะกรรมการประมูลได้เจรจาต่อรองกับผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 32 ราย จากการสอบถามพบว่าผู้ประมูลแต่ละรายต่างอัพราคาเสนอสูงขึ้นทั้งสิ้น เพราะต่างมองว่าราคาที่เสนอซื้อกันครั้งนี้ไม่สูงเกินไปยังพอทำตลาดได้ทั้งในประเทศและส่งออก เพราะฉะนั้นผู้ที่จะคว้าข้าวล็อตนี้ไปมากที่สุดจึงมีความเป็นไปได้ทุกราย โดยเฉพาะรายที่เสนอซื้อเกือบยกล็อตได้แก่ บริษัทสิงห์โตทองไรซ์ฯ บริษัท วุฒิกวีฯ บริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ฯ บริษัท ไชยพรไรซ์แอนด์ฟู้ดโปรดักส์ฯ

แต่หากพลิกดูราคาต้นทุนรัฐบาลที่รับจำนำมากับราคาที่มีผู้เสนอซื้อหากรัฐบาลตัดสินใจขาย ถึงจะอัพราคาขึ้นแต่รัฐบาลขาดทุนรวมกันร่วม 20,000 ล้านบาท เช่นข้าวขาว 5% นาปรัง รัฐบาลจำนำข้าวเปลือกที่ตันละ 14,000 บาท คิดเป็นข้าวสารตันละ 24,000 บาท บริษัท สิงห์โตทองไรซ์ฯเสนอซื้อยกล็อต 1.3 ล้านตันที่ตันละ 15,500 บาท ขาดทุนตันละ 8,500 บาท หรือขั้นต่ำ 11,050 ล้านบาท

ข้าวนาปีปีการผลิต 2551/52 ต้นทุนจำนำรัฐบาลข้าวเปลือกตันละ 12,000 บาท คิดเป็นข้าวสารตันละ 22,000 บาท บริษัท วุฒิกวีฯ เสนอซื้อยกล็อต 1.1 ล้านตัน ตันละ 14,600 บาท ขาดทุนตันละ 7,400 บาท หรือขาดทุนรวมขั้นต่ำ 8,140 ล้านบาท และเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะไม่ขาดทุนเพราะราคาข้าวในท้องตลาดขณะนี้อยู่ที่ตันละ 16,000-17,000 บาทเท่านั้น

ประมูลข้าวรอบนี้จึงน่าติดตามว่าเสือตัวเก่าจะยังคำรามดังอยู่หรือไม่ และเสือตัวใหม่จะกระโดดโลดแล่นได้นานแค่ไหน "พรทิวา นาคาศัย"จะสร้างสถิติใหม่ขายข้าวขาดทุนเท่าใด ต้องติดตาม

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.