แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวถึงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า อนุมัติให้ขยายปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2552 เพิ่มอีก 2 ล้านตัน จากเดิม 4 ล้านตัน รวมเป็น 6 ล้านตัน ในราคาเดิม 11,800 บาท เนื่องจากแรงกดดันจากการชุมนุมประท้วงของชาวนาในหลายพื้นที่ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลเพ่มปริมาณการรับจำนำเพิ่ม
ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณส่วนนี้เพิ่ม 2.36 หมื่นล้านบาท เพราะได้รับรายงานตัวเลขจากกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ว่า ผลผลิตข้าวนาปรังปีนี้เพิ่มจากเป้าหมายเดิม 7.6 ล้านตัน เป็น 8.2 ล้านตัน หรือตัวเลขของบางหน่วยงานที่แจ้งว่า อาจจะเพิ่มถึง 10 ล้านตัน
โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณข้าวนาปรังเพิ่มมากผิดปกติเกือบ 3 ล้านตัน จากก่อนหน้านี้ ผลสำรวจผลผลิตข้าวนาปรังของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เคยประเมินว่า ปริมาณผลผลิตลดลง 10-20% จากผลผลิตนาปรังที่ปกติจะเฉลี่ยอยู่ราว 6-7 ล้านตัน เนื่องจากภัยธรรมชาติและการขาดแรงจูงใจ เพราะราคาข้าวขณะนั้นลดลง และต้นทุนวัสดุทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น
แต่ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือน ซึ่งยังไม่เต็มระยะเวลาการเพาะปลูก ปริมาณผลผลิตกลับเพิ่มสูงขึ้นนับล้านตัน โดยคาดว่ามีสาเหตุมาจาก 3 ส่วน คือ ผลผลิตข้าวนาปีที่เหลือจากการรับจำนำปี 2551/2552 ที่สิ้นสุดไปก่อน การลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำ นำมาขายเพียง 6,000-7,500 บาทต่อตัน เข้าโครงการจำนำในไทยที่ 11,800 บาทต่อตัน แต่สาเหตุสำคัญ น่าจะมาจากการเวียนเทียนสวมสิทธิข้าวเก่าเข้าโครงการรับจำนำ
"การสวมสิทธิจะมากที่สุด เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ค้าส่วนหนึ่งที่ซื้อข้าวจากรัฐบาลที่เปิดขายข้าวไปก่อนสมัยนายไชยา 2 ลอตใหญ่ ราว 2.5 ล้านตันข้าวสาร มีต้นทุนต่ำราคาเฉลี่ยตันละ 14,000-15,000 บาท นำมาขายให้กับโรงสี เพื่อสวมสิทธิโครงการรับจำนำ ซึ่งมีราคาข้าวเปลือก 11,800 บาท คำนวณเป็นข้าวสารได้ 23,600 บาท ทำกำไรให้ผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสถึงตันละ 9,000-10,000 บาท การจดทะเบียนเกษตรกรคงควบคุมดูแลไม่ได้ เพราะมีการจองโควตาเปล่าก่อนแล้วซื้อข้าวพวกนี้เข้ามาสวม รัฐบาลต้องตรวจสอบ สต๊อกข้าวที่มีอยู่อย่างเข้มงวดเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบทุกๆ เดือน แต่อย่าเพิ่งปล่อยสินค้าในสต๊อกออกมาเพราะจะทำให้พวกนี้ต้องกว้านซื้อข้าวในตลาดใหม่ จะช่วยยกราคาตลาดให้สูงขึ้นได้" แหล่งข่าวกล่าว
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ระบายสินค้าเกษตรว่า ผลการประชุมครั้งแรกได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดเตรียมข้อมูลสำหรับจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 3 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด เพื่อจัดทำแผนระยะสั้นสำหรับบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่อยู่ในสต๊อก และระยะยาวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียของวิธีการระบายสินค้าทุกวิธี เพื่อให้รัฐบาลเสียหายจากการขาดทุนน้อยที่สุด
คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 2 สัปดาห์เสนอนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ในฐานะอนุกรรมการด้านการตลาดสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |