นายศรัญญู เจียมสินกุล รองกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอเชีย โกลเดน ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทย คาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และผลผลิตข้าวทั่วโลกที่ลดลง จะผลักดันให้การส่งออกข้าวของไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และหนุนให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ความต้องการนำเข้าข้าวในปริมาณมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จากอินเดียและอินโดนีเซีย จะผลักดันให้การค้าข้าวในตลาดโลกคึกคักขึ้น นอกจากนั้นยังมีแรงผลักดันมาจากฟิลิปปินส์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องนำเข้าข้าวประมาณ 2.3-3 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับว่าพายุที่พัดเข้าฟิลิปปินส์สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูกข้าวมากน้อยเพียงใด
นายศรัญญู กล่าวว่า บริษัทคาดว่าปีหน้าอาจจะส่งออกข้าวได้มากถึง 1.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 23% จากปีนี้ที่การส่งออกอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน และปีหน้าจะถือเป็นปีทองของการส่งออกข้าวไทย โดยไทยอาจจะส่งออกข้าวไปขายในตลาดโลกได้ ในปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เขากล่าวว่า การส่งออกข้าวในปีหน้ามีหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น ผลผลิตข้าวทั่วโลกอาจลดลงหลังจากอินเดีย ผู้ปลูกข้าวรายใหญ่สุดอันดับสองของโลก ปรับลดผลผลิตข้าวเนื่องจากฤดูมรสุม ประกอบกับพายุหลายลูกที่พัดกระหน่ำฟิลิปปินส์ ผลผลิตลดลงอย่างน้อย 1 ล้านตัน
"มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดวิกฤติข้าวในปีหน้า ซึ่งอาจจะดันราคาข้าวในตลาดโลกทะยานขึ้นไปเหนือระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน แต่รัฐบาลไทยจำหน่ายข้าวภายใต้ข้อตกลงรัฐต่อรัฐในราคาค่อนข้างถูก ซึ่งก็อาจจะทำให้ราคาข้าวเคลื่อนไหวอยู่ที่ตันละ 600-700 ดอลลาร์สหรัฐ" นายศรัญญู กล่าวว่า
นายศรัญญู กล่าวด้วยว่า แอฟริกา ยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักสำหรับตลาดส่งออกข้าวไทยในปีหน้า และไทยก็ยังคงมีคู่แข่งที่น่ากลัวคือ บราซิล ปากีสถาน และ เวียดนาม ที่มีแผนเพิ่มการส่งออกข้าวไปจำหน่ายในแอฟริกาด้วยเช่นกัน
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ราคาข้าวขาว 100% ของไทยเคลื่อนไหวที่ตันละ 541 ดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ราคาข้าวทะยานขึ้นไปสูงสุดถึงตันละ 1,038 ดอลลาร์เมื่อเดือนพ.ค. ปี 2551
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวของไทยอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านตันในปีหน้า เพราะความต้องการจากตลาดแอฟริกาที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอินเดียไม่สามารถส่งออกข้าวได้ ส่วนปีนี้ส่งออกที่ 8.3 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมาย 9 ล้านตันที่คาดไว้ เนื่องจากราคาข้าวของไทยสูง เสียเปรียบด้านการแข่งขัน ประกอบกับผู้ซื้อพากันกักตุนข้าว หลังจากราคาข้าวทะยานสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม จนส่งผลให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก และวิกฤติราคาอาหารที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดจลาจล ในบางประเทศ เช่น เฮติ และ อียิปต์
ขณะเดียวกัน บูล็อก บริษัทอาหารของรัฐบาลอินโดนีเซีย เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจเป็นสาเหตุทำให้อินโดนีเซีย ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่สุดอันดับสามของโลก อาจจะยกเลิกแผนส่งออกข้าวจำนวน 2 ล้านตันในปีหน้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|